หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)
แนวคิด "การลงทุนแบบเน้นคุณค่า" หรือที่เรียกว่า "การลงทุนแบบ VI (Value Investing)" ถือว่าเป็นการลงทุนในหุ้นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยแนวคิดการลงทุนรูปแบบนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากเซียนหุ้นระดับโลกทั้ง Benjamin Graham และ Philip A. Fisher
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ แนวทางการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ "คุณค่า" หรือ มูลค่าที่แท้จริงของกิจการมากกว่าการให้ความสำคัญกับ "ราคาหุ้น" ซึ่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้จะเน้นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรหรือหวังผลกำไรในการเล่นหุ้นระยะสั้น
1. การซื้อหุ้นก็เหมือนการเป็นเจ้าของกิจการ
เวลาเราจะเริ่มเป็นเจ้าของกิจการอะไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องรู้รูปแบบการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ ก่อน เช่น ผลิตสินค้าอะไร ขายสินค้าอะไร ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร เป็นต้น เมื่อเราจะซื้อหุ้น ก็จำเป็นจะต้องรู้เช่นกันว่า หุ้นตัวนั้นประกอบกิจการแบบไหน ใครเป็นผู้บริหาร ธุรกิจมีการเจริญเติบโตในรูปแบบใด ซึ่งก็คือการคำนึงถึงตัวธุรกิจเป็นสำคัญ
2. การวิเคราะห์หุ้น
การจะทราบถึงคุณภาพของธุรกิจนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นอกจากการดูงบการเงินของบริษัทแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือ ภาพลักษณ์ของบริษัทที่คนทั่วไปในสังคมมอง เพราะถ้าบริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดี ย่อมส่งผลให้การดำเนินกิจการของบริษัทเป็นไปด้วยดีในระยะยาว
3. มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท (Intrinsic Value)
เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นั่นคือการคิดคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น แล้วมาดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดมีราคาเท่าไร เช่น ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เราควรซื้อเก็บไว้ เพราะเราเชื่อว่า ที่สุดแล้วราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาที่ราคาที่แท้จริง ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาหุ้นตัวนั้นสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เราก็ไม่ควรซื้อหรือถ้ามีตัวนั้นอยู่ก็ควรขายทิ้ง เพราะในที่สุดราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาหามูลค่าที่แท้จริง
สูตรการคำนวณหาค่า Intrinsic Value
มูลค่าที่แท้จริง = เงินปันผลปีหน้า / (ผลตอบแทนที่พอใจ - อัตราการเติบโตของปันผลต่อปี)
4. ควรลงทุนในระยะยาว
ถึงแม้ว่าเราจะวิเคราะห์มาแล้วว่า หุ้นของบริษัทนั้นๆ มีราคาที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาด แต่เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ขยับเข้าไปใกล้ราคาตลาดตามที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นการถือหุ้นไว้ในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยเหล่านั้นลงได้ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจด้วยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ในอดีตได้ลงทุนในบริษัทผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่มีคุณภาพดีมาก ยังไงๆ ในอนาคตบริษัทนี้ต้องเจริญเติบโตอย่างแน่นอน แต่ในปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้คนนิยมใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าพิมพ์ดีดมาก ซึ่งก็อาจทำให้บริษัทผลิตพิมพ์ดีดต้องปิดตัวลง
จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นคือ การลงทุนโดยมองคุณค่าของบริษัทมากกว่าการมองที่ราคาของหุ้น เพราะถ้ากิจการมีคุณภาพ เมื่อเวลาผ่านไป ยังไงราคาหุ้นของบริษัทก็ย่อมขยับสูงขึ้น แต่ถ้าหากบริษัทไม่มีคุณภาพ แม้ว่าราคาหุ้นจะมีมูลค่าสูงเพียงใด แต่ต่อไปในอนาคตก็ต้องตกลงมาตามคุณภาพที่แท้จริงของบริษัท