ตามล่าหนุ่มทวงหนี้รุนแรง จิก-ตบ-กระชาก
รวบยกแก๊ง! ทวงหนี้โหด ทำลายข้าวของร้านขายแกงถุง
แก๊งทวงหนี้โหดพาพวกรุมตื้บลูกหนี้ อุ้มซ้อมขู่บังคับ หนี้ 3 หมื่น สั่งจ่าย 6 แสน
นักกฎหมายชี้ ขึ้นป้ายประจานทวงหนี้ มีความผิดปรับ ถูกฟ้องกลับได้
ขอบคุณข้อมูล : Khaosod
เรื่อง “ทวงหนี้” ก็คู่กับการ “สร้างหนี้” เมื่อไปยืมเงินเค้ามาแล้วไม่สามารถจะจ่ายคืนตามจำนวนที่ตกลงหรือครบตามกำหนดเวลาได้ ปัญหาเรื่องการทวงหนี้หรือทวงถามหนี้ ก็จะตามมานั่นเอง แต่การทวงหนี้ก็มีขอบเขตของกฎหมาย ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้แล้วจะทวงหนี้ด้วยวิธีตามใจชอบได้นะ ระวังจะโดนกฎหมายเล่นงานซะเองนะ
การทวงหนี้เป็น “เรื่องปกติ” ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ตามกำหนด อันนี้พูดในมุมของทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบนะคะ และต้องบอกว่ามีข่าวให้เห็นกันบ่อยมากๆ เลยกับเรื่องทวงหนี้แบบโหดๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบที่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน เพราะหลายคนไม่มีเครดิตมากพอที่จะไปกู้ยืมเงินในระบบได้… แต่แม้จะเป็นการกู้ยืมนอกระบบก็มี "พรบ.ทวงถามหนี้" คุ้มครองสิทธิของลูกหนี้อยู่นะคะ คนเป็นเจ้าหนี้จะไปทวงหนี้มั่วๆ สุ่มสี่สุ่มห้า หรือข่มขู่ประจานไม่ได้ (ส่วนใหญ่จะเป็นเคสเงินกู้นอกระบบเสียมากกว่า) วันนี้ลองไปทำความรู้จัก พรบ.ทวงถามหนี้กันดีกว่าค่ะ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องท่องให้ขึ้นใจ
📌ใครมีสิทธิทวงหนี้?
ผู้มีสิทธิทวงหนี้คือ “เจ้าหนี้” อาจเป็นสถาบันการเงิน รวมถึงเจ้าหนี้นอกระบบด้วย หากมี “ผู้รับมอบอำนาจ” มาทวงถามหนี้แทน ต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจมาแสดงแก่ลูกหนี้ด้วยนะคะ
ตัวอย่างหนังสือทวงถามหนี้
ขอบคุณข้อมูล : เพจ ทนายพี พัชรพล
📌ขอบเขตวิธีทวงถามหนี้?
1. ทวงหนี้ได้ ไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน
2. ทวงหนี้ได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 08.00 -18.00 น.
3. กรณีทวงหนี้ผ่านแอปฯ Line, Whatsapp, Messenger ฯลฯ หากส่งข้อความไป และลูกหนี้เปิดอ่าน แม้ไม่ตอบรับก็ถือว่าลูกหนี้ได้รับทราบการทวงถามหนี้แล้ว
4. กรณีทวงหนี้ผ่านโทรศัพท์ หากลูกหนี้รับสาย มีการพูดคุยแสดงเจตนาทวงถามหนี้ก็ถือว่าเป็นการทวงถามหนี้
📌ห้ามทวงหนี้แบบไหน?
กฎหมายกำหนดข้อห้ามต่างๆ ในเรื่องการทวงหนี้ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังนี้
1. ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้
2. ห้ามบอกความเป็นหนี้หรือประจานหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นทราบ ยกเว้นเป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน เป็นต้น
3. ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ บนซองจดหมายหรือสื่อใดๆ ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่านี่คือการติดต่อเพื่อทวงหนี้
4. ห้ามติดต่อ แสดงตนทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้
5. ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
6. ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
7. ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ
📌เจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามจะมีโทษอย่างไร?
คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับตาม พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ และตาม พ.ร.บ. นี้ ถ้าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ที่เป็นเท็จ (มาตรา 12) หรือผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 13) ซึ่งลูกหนี้หรือประชาชนที่ได้รับความเดิอดร้อนสามารถร้องเรียนได้ที่
- ที่ทำการปกครองจังหวัด
- ที่ว่าการอำเภอ
- สถานีตำรวจ
- สำนักการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง โทร. 02-356-9548
- กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร. 02-280-3194
- สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02-169-7127 ถึง 36 หรือโทร. 1359
ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่หากเป็นหนี้แล้วก็ต้องชำระคืนให้ครบและตรงกำหนด ในมุมของเจ้าหนี้ อย่าลืมว่าต้องไม่ทวงหนี้จนเกินกว่าเหตุ ไม่ข่มขู่ประจานลูกหนี้หรือบุคคลอื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย ลูกหนี้สามารถแจ้งความกลับได้นะ หากมีปัญหาเรื่องยืมไม่คืน ไม่มีไม่มีหนี้ไม่จ่าย ก่อนให้ใครยืมเงินก็อย่าลืม "ทำสัญญากู้ยืมเงิน" โดยเจ้าหนี้สามารถนำสัญญากู้ยืมนั้นฟ้องร้องคดีกับลูกหนี้ได้เช่นกัน...
ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย, Sanook.com, PPTV, Khaosod, เพจ ทนายพี พัชรพล