เอ.พี. ฮอนด้า กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว PCX Electric Smart Station
เอ.พี. ฮอนด้า ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว PCX Electric Smart Station แห่งแรกในไทย เพื่อศึกษาการแบ่งปันใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Sharing ในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ โดยมีฮ้อป (HAUP) ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้เข้าถึงและใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
มร.ชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า "นับตั้งแต่ที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนยานพาหนะไฟฟ้าหรือ EV ในปี 2015 เอ.พี. ฮอนด้าได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาทั้งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และระบบที่สามารถรองรับการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อไม่นานมานี้ เราได้ประกาศถึงความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ EV เพื่อพัฒนาระบบรองรับที่เหมาะสมกับการใช้งานจริง"
"ล่าสุด ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายได้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น กับการเปิดตัวสถานี PCX Electric Smart Station แห่งแรกของไทย เพื่อทดลองศึกษารูปแบบของ EV Sharing หรือการแบ่งปันการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย PCX Electric Smart Station ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีมากมายรวมถึงหลังคา Solar Roof ที่สามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับตัวสถานี และรองรับการเก็บพลังงานสำรองสำหรับฟังก์ชันสลับแบตเตอรี่ (Battery Swapping) ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้อีกด้วย"
"นอกจากความล้ำสมัยของตัวสถานีแล้ว รูปแบบการใช้งานยังได้รับการพัฒนาให้เข้าถึงง่าย แบ่งปันกันได้ตลอดเวลาด้วยแอปพลิเคชันจากฮ้อป (HAUP) ทำให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ ทุกคนมีโอกาสได้ใช้ PCX Electric อย่างสะดวกสบายและทั่วถึงโดยใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนเป็นตัวเชื่อมต่อ"
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการเปิดตัวครั้งนี้ว่า "การพัฒนาในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมอีกขั้นหนึ่ง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ KMUTT: Sustainable University for Sustainable Development Goals (SDGs) 2030 ของ มจธ. เพื่อยกระดับการพัฒนาการเดินทางที่ปลอดมลพิษ และจะเป็นต้นแบบที่ดีสู่การพัฒนาต่อไปเพื่อชุมชน และประเทศไทย"
รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า "สำหรับ PCX Electric Smart Station ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อศึกษาการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า PCX Electric ในรูปแบบของการบริการแบบแบ่งปัน (Sharing Service) ตัวสถานีถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย มีความทนทานต่อสภาวะอากาศกลางแจ้ง ตัวหลังคาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชาร์จตัวแบตเตอรี่ในระบบสลับแบตเตอรี่ (Swapping Charger System) โดยพลังงานไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานในสถานีจะส่งกลับไปยังระบบไฟฟ้าของภายในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ระบบสลับแบตเตอรี่จะมีการติดตั้งในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบการแสดงผลและการเก็บข้อมูลแบบทันที (Real Time Data) ในสามด้าน ได้แก่ การใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การใช้และการผลิตพลังงาน และระบบรักษาความปลอดภัยภายในสถานี ถือว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการเดินทางอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility)"
ต่อไป เอ.พี. ฮอนด้า และ มจธ. มีแผนติดตั้ง PCX Electric Smart Station อย่างน้อยสามแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ภายในวิทยาเขตหลักของ มจธ. จำนวนสองแห่ง และที่อาคาร KX หรือ KMUTT Knowledge Exchange for Innovation Center ถนนกรุงธนบุรีอีกหนึ่งแห่ง
ติดตามความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ที่เว็บไซต์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า www.aphonda.co.th