การขี่รถออกทริปในช่วงอากาศเย็น-หนาวเป็นช่วงที่หลายคนรอคอย สัญญานลมหนาวที่พัดมาให้รู้สึก กระตุ้นให้เหล่าไบค์เกอร์สายท่องเที่ยวเตรียมขยับวางแผนการเดินทางกันอีกครั้ง ยิ่งเป็นช่วงที่หลายพื้นที่คลายล็อคผ่อนปรนให้เดินทางและท่องเที่ยวกันได้มากขึ้นแบบนี้ การขี่รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจเดินทางท่องเที่ยวนอกจากวางแผนเส้นทาง ที่พัก และเตรียมรถและคนให้พร้อมแล้ว สภาพแวดล้อมที่เย็นในหลายพื้นที่มีผลอย่างมากกับคนขี่ หลายคนมักหยิบแจ็คเก็ตตัวเดิมที่ใส่ออกทริปมาตลอดหน้าร้อนและฝนติดตัวไป แต่นั่นอาจทำให้ความสนุกของการขี่รับลมเย็นกลายเป็นความทรมานได้โดยไม่คาดคิด โดยเฉพาะเวลาขึ้นดอยหรือเขาสูงชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและลงมาในช่วงเย็น-ค่ำ
อุณหภูมิที่เปลี่ยนกับการปะทะสายลมด้วยความเร็วส่งผลต่อมือและร่างกาย รวมไปถึงประสาทสัมผัสโดยไม่รู้ตัว ดั้งที่ผู้เขียนเคยเผชิญมาแล้วกับการใส่แจ็คเกตแอร์โฟลที่เน้นให้ลมไหลผ่านสะดวก ซึ่งดีกับช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเมืองไทย แต่ไม่เหมาะสำหรับการขี่ลงดอยยาวๆ ในช่วงเย็นค่ำ เพราะฉะนั้นเริ่มที่แจ๊คเกตหาให้เหมาะกับหน้าหนาว ง่ายสุดก็ต้องเพิ่มเสื้อข้างใน และนี่คือ 3 ไอเท็มจำเป็นควรมีออกทริปช่วงหนาวนี้
1. ถุงมือ ถุงเท้า ถุงคอ
ไม่ใช่รถทุกคันจะมีชิลด์ปรับสูง ฮีทกริ๊ปและตัวอุ่นเบาะให้เหมือนอย่างยามาฮ่า Tmax การไปหาทำติดเพิ่มดูเป็นเรื่องเกินเลยและเสียค่าใช้จ่ายมากไป การลงทุนที่ไม่มากและได้ผลที่สุดคือ ถุงมือ เข้าใจว่าถุงมือที่ใช้กันทั่วไปมักเหมาะกับหน้าร้อนและไม่หนามากเพื่อความคล่องตัว ขนาดถุงมือทัวร์ริ่งยังหาน้อยคนที่จะใช้ใส่ออกทริป ถุงมือสำหรับหน้าหนาวมักมีเทคโนโลยีเฉพาะที่ให้ความอุ่นกับมือได้มากกว่า ที่อยากจะบอกคือ การออกทริปไม่ควรมีถุงมือคู่เดียวอยู่แล้ว สำรองสำหรับอากาศ 2 แบบทั่วไป และเย็น การใช้ถุงมือที่ออกแบบรับมือกับอากาศหนาวมีความสำคัญมากต่อการขี่โดยเฉพาะความปลอดภัย บ้านเราคงไม่มีถุงอุ่นครอบแฮนด์แบบทางยุโรป ต้องอาศัยถุงมือกับฮีทกริ๊ปเอา ผู้เขียนเคยถึงขนาดเอามือไปอังกับตัวเครื่องยนต์ เมื่อเราเจอจังหวะที่ต้องใช้ก็ควรเปลี่ยนเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัย นอกจากถุงมือก็ควรมีถุงเทาที่หนาและยาวพอให้รับกับบูธ และที่หลายคนมองข้ามคือ การให้ความอบอุ่นที่คอเรา เพราะหมวกกับแจ็คเก็ตมักไม่ครอบคลุม อาศัยผ้าพันคอขณะขี่ก็อาจไม่ปลอดภัยพอ ทางที่ดีคือผ้าบัฟสวมลำคออาจเตรียมไว้เยอะเพิ่มเอา
2. ขนมขบเคี้ยว เจลให้พลังงานและน้ำ
การขี่ในช่วงอากาศเย็นและแห้ง มักทำให้เราเสียพลังงานและน้ำออกจากตัวมากกว่าที่คิด และการขี่ออกทริปไม่ได้รับประกันว่าคุณต้องอยู่บนถนนสายหลักที่มีร้านสะดวกซื้อเสมอ เมื่อต้องอยู่บนถนนสายรองการมีขนมคบเคี้ยว อาหารให้พลังงานไม่ว่าบาร์หรือเจลที่สะดวกพกรวมไปถึงน้ำเปล่า(ไม่ควรใช้น้ำขวดแบบทิ้ง) หรือเป้น้ำย่อมเป็นการสำรองที่ดีเสมอกับการออกทริปช่วงหนาวนี้ ลองนึกสภาพว่าคุณอาจติดอยู่ในเส้นทางออฟโร้ดแล้วเจออุปสรรค (ที่ไม่คาดคิด) ทำให้ต้องใช้แรงมากขึ้น และน้ำไม่พอ อาหารที่โหลดมาเริ่มย่อยหมดแล้ว ...
3.อุปกรณ์สื่อสาร สมาร์ทโฟน บลูทูธติดหมวก และกล้อง
อุปกรณ์สื่อสารสำคัญกับการออกทริปเสมอ อย่างแรกคือ สมาร์ทโฟน และพาวเวอร์แบงค์ที่มีแอปพลิเคชั่นกูเกิ้ลแมพไว้รองรับการนำทาง รวมถึงอุปกรณ์บลูทูธติดหมวก จะช่วยให้เราไม่ต้องละหรือเสียสมาธิกับการใช้โทรศัพท์ระหว่างขี่ ที่สำคัญก็เอาไว้สื่อสารกับสมาชิกในกลุ่มที่ขี่ไปด้วยกัน บลูทูธติดหมวกนับเป็นไอเท็มจำเป็นสำหรับสายออกทริปอย่างยิ่ง ส่วนราคามีให้เลือกตั้งแต่พันกว่าบาท - หมื่นกว่า การออกทริปแบบเน้นออนโร้ดอาจหารุ่นที่ให้เสียงดีรองรับการฟังเพลงแก้ง่วง นอกจากนี้ยังมีกล้องติดหมวกซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน แม้สมาร์ทโฟนมีกล้อง แต่การบันทึกคลิประหว่างขี่เก็บไว้จากกล้องแอตชั่นติดหมวกมีประโยชน์มากในกรณีเกิดอุบัติเหตุ