Pan America™ 1250 ได้รับการออกแบบให้เป็นแอดเวนเจอร์ไบค์ สร้างความแปลกใจให้กับเหล่าสายนักเดินทางรวมไปถึงเอฟซี ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน นับเป็นการเปิดตลาดบิ๊กไบค์แอดเวนเจอร์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกของแบรนด์ที่เน้นผลิตรถแบบครูยเซอร์มาโดยตลอด ทำให้
Pan America™ 1250 กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ของสโมสรเก่าแก่ที่น่าติดตาม ขุมพลังใหม่เป็นเครื่องยนต์ Revolution® Max 1250 แบบ V-Twin ใหม่ ความจุกระบอกสูบ 1,250 ซีซี เต็มประสิทธิภาพในทุกช่วงความเร็ว แม้ที่รอบเครื่อง (RPM) สูง และล่าสุดทีมงาน
MotorBikeGuru /Checkraka.com ได้ไปร่วมกิจกรรมขับขี่ Adventure Camp ได้สัมผัสการขี่ครั้งแรกแบบเอนดูโร่เล็กๆ ในสนาม
รึคแคร์ ปาร์ค มีนบุรี
การขี่ทดสอบ
Pan America™ 1250 ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการขี่บุกทุกภูมิประเทศ ไม่ว่าจะข้ามแม่น้ำ ทางเขา ทะเลทราย โดยตัวรถยังคงอยู่บนพื้นฐานของความเป็นฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ด้วยการออกแบบให้เป็นมอเตอร์ไซค์แอดเวนเจอร์-ทัวร์ริง นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ให้กับเอฟซีเอช-ดีทั่วโลกไม่น้อย แม้ในประวัติศาสตร์จะเคยมีประสบการณ์ผลิตรถแนวนี้มาก่อนก็ตาม ขึ้นชื่อแบรนด์ผู้ผลิตระดับโลก แพน-อเมริกา ย่อมผลิตรถที่ยอดเยี่ยมและไว้วางใจได้แน่นอน และโอกาสนี้ผู้เขียนทีมงานมอเตอร์ไบค์กูรู ที่ได้โอกาสร่วมกิจกรรม Pan-America Adventure Camp จึงได้ลองขี่บนถนนจริงช่วงสั้นๆ และในสนามออฟโร้ดจำลองของ รึคแคร์ ปาร์ค ที่ทางผู้จัดแบ่งเป็นสถานีทดสอบไว้ 3 จุด 
สำหรับช่วงแรกที่เป็นออนโร้ดผู้เขียนได้ขี่รุ่น
Pan America 1250 standard สตาร์ทจากจุดเริ่มต้นที่ 747 คาเฟ่ ลาดกระบัง ปรับการขี่ไว้ในโหมด Road ออกตัวไปก็ฝ่าการจราจรที่หนาแน่นในช่วงบ่ายทันที เจอสัญญานไฟค่อนข้างนานหลายครั้งทำให้ขี่แบบออกตัว ชะลอ เบาเบรกตลอด รู้สึกได้ถึงไอความร้อนที่ผ่านหม้อน้ำด้านหน้าเข้ามาปะทะอยู่บ้าง ช่วงจอดรถสัญญานไฟผู้เขียนที่สูง 171 ซม. บวกกับรองเท้าบูธยาวแบบแอดเวนเจอร์ยังแตะได้แค่ปลายเท้า ต้องอาศัยการโยกมายืนข้าง จนได้เลี้ยวเข้าถนนสุวินทวงศ์จึงได้ทำความเร็วไปเกียร์สูง ซึ่งให้ความประทับใจมาก ด้วยแรงบิดที่หนักและมาเร็วตั้งแต่รอบต้นๆ ทำให้การเร่งออกตัวสนุก และเติมได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแรงบิดที่กว้างพอให้เล่นรอบได้ ฟิลลิ่งการชะลอเบรกจากความเร็วระดับ 120 กม./ชม.ลงมาให้ความรู้สึกหน่วงที่ทรงพลังแต่นุ่มนวล ตัวรถเวลาโยกเปลี่ยนเลนให้ความรู้สึกว่าพร้อมไปด้วยกันทุกจังหวะที่เปิดคันเร่ง ช่วงล่างด้านหน้ารองรับน้ำหนักโหลดเวลาเบรกได้อย่างมีสมดุล น่าเสียดายที่ได้ขี่แค่ช่วงสั้นๆ



จากออนโร้ดบนถนนสู่การเข้าเดิร์ตแทร็คของสนามรึคแคร์ ทีมงานผู้จัดได้บริฟผู้ขี่ทุกคนเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันก่อนปล่อยเข้าสถานีทดสอบ โดยเปลี่ยนปรับใช้โหมด Off Road สถานีแรกเป็นการเร่งและเบรกแบบฟูลล็อคเบรกหลัง-หน้าบนพื้นดินแห้ง ผู้เขียนได้ลองไปกลับ 2 รอบ ระยะทางประมาณ 70 เมตร ยังไม่ถึงกับสุดเกียร์สองดี การเร่งออกตัวบนทางฝุ่นก็ให้ฟิลลิ่งไม่ต่างกับบนถนนมากนัก ด้วยคาแรคเตอร์ของขุมพลังใหม่ออกตัวได้ฉับไว ทะยานไปด้วยแรงบิดที่อยากให้ไปต่อ เมื่อต้องเบรกเต็มแรงก็หยุดและทรงตัวได้อย่างมั่นคง และพร้อมไปต่อโดยไม่ต้องหย่อนเท้าลง สถานีที่ 2 เป็นการไต่เนินแล้วหยุด แต่เนื่องจากมีฝนตกหนักมาก่อนหน้าหลายวันทำให้เนินจริงไม่เหมาะกับการขี่ทดสอบในวันนี้ จริงๆก็น่าจะได้อยู่แต่เพื่อความปลอดภัยโดยรวม จึงเปลี่ยนไปไต่แลมป์เหล็กแทน โดยให้ขี่ขึ้นจนล้อหน้าขึ้นไปอยู่บนทางเรียบด้านบนแล้วเบรกค้างไว้จนระบบช่วยเหลือของรถจับมุมเอียงกับการล็อคที่นานพอ จึงช่วยให้เบรกค้างโดยไม่ต้องกดก้านเบรก เพื่อให้ผู้ขี่ได้ออกตัวขึ้นไปบนพิ้นเรียบด้านบนต่อได้ง่าย เช่นเดียวกันกับการขี่ลง เมื่อล้อหน้าลงสู่ทางลาดชันขณะที่ล้อหลังยังอยู่บนพื้นเรียบเมื่อกดก้านเบรกค้างราว 3 วินาที ระบบฯ ก็จะช่วยหน่วงรถเอาไว้ให้ จากนั้นก็เข้าสู่สถานีที่ 3 การขี่ผ่านอุปสรรคบ่อน้ำที่สูงราวครึ่งล้อ แต่ทีมงานได้วางแผ่นปูนเรียบไว้ด้านล่างเพื่อความง่ายสำหรับทุกคน มีแค่การหามุมลงและทรงตัวระหว่างขี่อยู่ในน้ำให้ผ่านจนไต่ขึ้นทางดินลื่นให้พ้น ผู้เขียนขี่ผ่านด้วยความเร็วระดับหนึ่งตัวรถให้การควบคุมและทรงตัวที่ดีไม่น้อย แม้เป็นรถที่ดูใหญ่ทั้งขนาดและความจุ การทดสอบเป็นไปแบบกระชับตามเวลาที่จำกัด แต่ก็พอสัมผัสได้ถึงความโดดเด่นของแพน-อเมริกาในการเป็นบิ๊กไบค์แอดเวนเจอร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยสมรรถนะ ความทันสมัย สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์แบบเอช-ดี และแน่นอนคือ ความคุ้มค่าสำหรับค่าตัวต่ำล้านทั้ง 2 รุ่น สแตนดาร์ด และสเปเชี่ยล







บทสรุปและความคุ้มค่า
Pan America™ 1250 จากที่ได้สัมผัสการขี่ช่วงสั้นๆ ไม่นับที่เบาะสูงไปหน่อย ก็ประทับใจทั้งการขี่แบบออน-ออฟ ด้วยราคาค่าตัวเพียง 899,000 บาท นับว่าถูกกว่ารถยูโรปรุ่นอื่นในตลาดบิ๊กไบค์แอดเวนเจอร์คลาสมากกว่า 1,000 ซีซี ด้วยขุมพลังและเทคโนโลยีอันทันสมัย และความเชื่อมั่นในแบรนด์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน
Pan America™ 1250 คือ ตัวเลือกที่คุณควรไปลองสัมผัสด้วยตนองสักครั้งก่อนตัดสินใจหาบิ๊กไบค์แอดเวนเจอร์คู่ใจคันใหม่