รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield Himalayan เพรียวบางคล่องตัว เบากว่าที่คิด เครื่องนิ่งขี่สบาย
Royal Enfield Himalayan รถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทุกสภาพถนน แม้ว่ารูปทรงจะเน้นไปทางการขี่ลุย ผจญภัย ทางฝุ่น ปีนโขดหินหรือลุยโคลน แต่เมื่อได้ลองสัมผัสแล้วกลับรู้สึกว่า มันก็ขี่ในเมืองหรือใช้งานทั่วไปได้ดีมากไม่แพ้รถรุ่นอื่น และนอกจากนี้ก็ยังไม่มีคู่แข่งตรงตัวอีกด้วย
จุดเด่น Royal Enfield Himalayan
หลายคนอาจคิดว่าเจ้ามอเตอร์ไซค์วิบากหรือแอดแวนเจอร์ "หิมาลายัน" ต้องขี่แต่ทางโหดๆ บทความนี้นำเสนอในอีกแง่มุมนึง เพราะเจ้าหิมาลายันถูกเน้นไปทางด้านการ "ลุย" อยู่แล้วด้วยพื้นฐานของโครงสร้างตัวถังเป็น "เหล็ก" แต่น้ำหนักเบาไม่หนักอย่างที่เห็น ความกว้างของตัวรถ 840 มม. ก็ไม่เกะกะเลย มีความผอมเพรียวกว่าที่คิดเอาไว้มาก
ความสูงเบาะ 800 มม. กำลังดี เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดดีในรอบต่ำๆ แม้รอบเครื่องยนต์อยู่ที่หนึ่งพันกว่าๆ ก็สามารถเปิดหรือกลอคันเร่งในจังหวะขับขี่ความเร็วต่ำๆ ในเมืองการจราจรติดขัดได้อย่างสบาย
ช่วงล่างของ
Himalayan ก็นับว่าออกแบบมาให้มีระยะยืดหดของโช๊คมาก โดยโช๊คหน้าขนาด 41 มม. ระยะชัก 200 มม. พร้อมกับบังโคลน 2 ชั้น ด้านหลังระยะชักขนาด 180 มม. ซึ่งในรถแนวนี้ระยะโช๊คหน้าประมาณ 200 - 240 มม. และหลังราว ๆ 200 มม. กับราคาประมาณนี้นับว่าไม่ขี้เหร่เลย พร้อมรองรับการลุยทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้เองเจ้า Himalayan จึงเหมาะกับการขับขี่ทั้งใช้งานในชีวิตประจำโดยเฉพาะสภาพถนนของเมืองไทยหรือออกทริปกางเต็นท์หรือเข้าป่าก็ไปได้ชิวๆ
Royal Enfield Himalayan มาพร้อมรูปทรงดิบๆ ดุๆ ไม่สวยหวือหวานักออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษาและใช้งานโดยที่ไม่ต้องกังวล เมื่อต้องลุยทาง Off-Road หรือเกิดการ
"ล้มแปะ" เพราะโครงสร้างเหล็กแบบ
Half-duplex split cradle frame แทบทั้งคัน มีชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกหรืออื่นๆ น้อยชิ้นมาก เหมือนเกิดมาเพื่อลุยจริงๆ ไฟหน้าฮาโลเจน แม้จะดูไม่ทันสมัยนักแต่มองชัดเจนแม้ฝนตกหรือมี "หิมะ" บางพื้นที่ของถิ่นกำเนิดในอินเดีย!
มิติตัวรถยาว 2,190 มม. กว้าง 840 มม. สูง 1,360 มม. และหนัก 191 กก. ความสูงใต้ท้อง 220 มม. เครื่องยนต์ปรับปรุงใหม่ LS410 แบบ 1 สูบ 4 จังหวะ SOHC จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด ระบบายความร้อนด้วยอากาศพร้อม Oli-cooler ความจุ 411 ซีซี. 24.5 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที ช่วงชักยาวให้แรงบิดที่สูง 32 นิวตันเมตร ที่ 4,250 รอบต่อนาที เกียร์ 5 จังหวะ มีการปรับปรุงชิ้นส่วนภายในเครื่องให้ลดการสั่นสะเทือนได้มากขึ้น
ระบบเบรกหน้าดิกส์ขนาด 300 มม. เดี่ยว คาร์ลิเปอร์ 2 ลูกสูบ ด้านหลังดิกส์ขนาด 240 มม. เดี่ยว คาร์ลิเปอร์ 1 ลูบสูบ พร้อมกับมี ABS ทั้งหน้าและหลัง ระบบกันสะเทือนหน้า เทเลสโคปิก (Telescopic) ขนาดตะเกียบหน้า 41 มม. ระยะยุบตัว 200 มม. ระบบกันสะเทือนหลัง โมโนช็อคแบบมีแขน (Monoshock with Linkage) ระยะยุบตัว 180 มม. ส่วนยางหน้าขนาด 90/90-21 และหลัง 120/90-17 จากค่าย Pirelli MT60
การได้ลองขับขี่ถึงได้รู้ว่ารถเบากว่าที่คิดเอาไว้มาก จากรูปทรงและโครงเหล็กเต็มคัน แต่กลับเบาและแคบ การนั่งไม่ต้องกางขากว้างนัก ความสูงของเบาะ 800 มม. สำหรับผู้ทดสอบสูง 176 ซม. กำลังดีวางเท้าได้เต็มๆ ส่วนถ้าคนที่ส่วนสูง 160 - 170 ซม. ก็น่าจะขี่ได้ไม่ยาก อาจใช้การเขย่งปลายเท้า แต่ด้วยตัวรถที่เบาทำให้ไม่ต้องเกร็งมากและไม่เมื่อยอย่างแน่นอนครับ
มาดูที่หน้าปัดมี 3 ช่องหลักได้แก่วัดความเร็ว วัดรอบเครื่องยนต์ และช่องล่างทางขวาบอกระดับน้ำมันและเข็มทิศทางมาให้ด้วย แอนด์บาร์ขนาดกว้างพอสมควร กระจกมองข้างยกสูงขึ้น แต่ก็ยังยื่นออกเล็กน้อยต้องคอยระวังกระจกมองข้างเวลามุดตอนรถติดๆ โดยเฉพาะความสูงที่ใกล้เคียงกับกระจกมองข้างรถปิคอัพเลยทีเดียวครับ
การออกตัวบอกได้เลยว่า ไม่แรงแบบกระชาก แต่มาเรื่อยๆ แบบรถที่มี "ทอร์ค" เยอะคือ "ไม่เน้นเร็วแต่เน้นกำลัง" ซึ่งข้อดีของเครื่องแรงบิดรอบต่ำก็คือ ในรอบต่ำสามารถขับไปได้โดยยังมีเรี่ยวแรงเหลือให้เปิดคันเร่งได้ทันที โดยการขับขี่ในความต่ำเมื่อเจอจราจรติดขัดสามารถแช่เกียร์ 2 ได้ยาวๆ และยังลากรอบสูงๆ ได้จนถึง 5,000 กว่ารอบต่อนาทีได้สบาย นอกจากนี้เครื่องยนต์ตัวนี้ถูกจับแก้อาการ "สั่นสะท้านโลกันต์" แล้ว ยิ่งทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างนุ่มนวลราบรื่นและไม่เหนื่อยอีกด้วยครับ
จุดเด่นอีกอย่างของสามารถเครื่องยนต์ 1 สูบ 411 ซีซี ทอร์คหนักคันนี้คือ ในเกียร์ 1 ขับในรอบต่ำที่ 1,100 รอบต่อนาทีและไหลไปได้เรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเหมาะกับการขับขี่ลุยทางโคลน กรวดหิน ได้เป็นอย่างดี และด้วยความที่เป็นเครื่องรอบไม่จัดมากนัก ทำให้ควบคุมคันเร่งได้ง่าย รถไม่เสียอาการ หากต้องลุยน้ำหรือบ่อโคลนต่างๆ และในการขับขี่ความเร็วสูงนั้นก็ทำได้ระดับกลางๆ ด้วยความเร็วเดินทางราวๆ 100 - 110 กม./ชม. แบบสบายๆ และในท่ายืนขี่สามารถควบคุมรถได้ง่าย
ส่วนของแฮนด์ไม่ต่ำเกินไป พักเท้าก็อยู่ในมุมที่ไม่เมื่อยนัก ซึ่งตรงกับที่เน้นขี่ทางฝุ่นมากกว่า นอกจากนี้ในการขับขี่ทดสอบระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร กลับให้ความประหยัดเกินคาด น้ำมันจากเต็มถังในวันรับรถทดสอบลดลงมาไม่เกินครึ่งขีด ประหยัดไม่น้อยหน้ารถระดับ 300 ซีซีเลยทีเดียวครับ
จุดที่ควรปรับปรุงก็มีในเรื่องของชิ้นส่วนงานประกอบโดยเฉพาะสวิตช์สั่งงานต่างๆ บริเวณแฮนด์ยังดูไม่ค่อยแข็งแรงผิดคอนเซ็ปต์ไปสักนิด กำลังเครื่องยนต์ที่มี 24.5 แรงม้านับว่าไม่น้อย แต่กลับยังทำอัตราเร่งช่วงออกตัวไม่ค่อยจัดจ้านเท่าไหร่ ช่วงล่างอาจเหมาะสมกับการใช้งานในทางฝุ่นมากเกินไป เมื่อขับขี่ทางเรียบจะรู้สึกกระด้างและมีอาการ "จุก" เมื่อขับผ่านหลุมหรือคอสะพานแรงๆ แต่ถ้าจำเป็นต้อง "รูด" ผ่านเร็วๆ ก็พอแก้ด้วยการยืนครับ
และในบางจังหวะเข้าเกียร์ยากต้องขยับรถหรือปล่อยคลัทช์เบาๆ ให้เฟืองเกียร์ลงล็อค จึงจะเข้าได้ และไฟโชว์บอกตำแหน่งเกียร์ค่อยข้างดีเลย์ จึงทำให้ "หลงเกียร์" ในบางครั้งครับ
สรุปความคุ้มค่าและราคา Royal Enfield Himalayan 169,800 บาท ดีไหม?
สำหรับ
Royal Enfield Himalayan รถมอเตอร์ไซค์ที่มีช่วงล่างยกสูง ตอบสนองการใช้งานได้ดีทั้งในเมืองที่ผิวถนน "น่ากลัว" อย่างในเมืองหลวง สามารถขับขี่ผ่านสภาพถนนที่ "พัง" ได้อย่างสบาย ลุยน้ำท่วมขังได้สบายหายห่วง กำลังเครื่องยนต์ที่ไม่แรงมากเกินไปจึงทำให้ควบคุมคันเร่งได้ง่าย ไม่พุ่งพรวดพราดเกินไป ให้ความปลอดภัยในระดับหนึ่งบวกกับระบบเบรกที่ให้ ABS มาด้วย ในขณะที่จะขี่ทางฝุ่นก็สบาย กำลังเครื่องยนต์ดีในรอบต่ำรถน้ำหนักเบาไม่เหนื่อยเลี้ยวง่ายอีกด้วย
ราคา 169,800 บาท เมื่อเทียบรุ่นใกล้เคียงกันในราคานี้แล้วส่วนมากจะได้ขนาดเครื่องยนต์ 250 - 300 ซีซี และด้วยรูปทรงดิบๆ เถื่อนๆ แนวลุย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครค่าตัวนี้นับว่าไม่ถูกแต่ก็ไม่แพงเกินไป โชว์รูมและฝ่ายบริการก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นกับว่า "คุณกล้าที่จะแตกต่างออกจากกรอบเดิมๆ หรือไม่"
สนใจทดลองขับขี่เจ้า Himalayan ได้ที่โชว์รูม Royal Enfield ทั่วประเทศ