ฮั่นแน่! รีวิว ฮอนด้า CBR250RR สปอร์ตเมดอินเจแปน ฟิลเซอร์กิตราคาสตรีท (Test Ride Review)
หลังจาก
เอ.พี.ฮอนด้า เปิดตัว
CBR250RR มอเตอร์ไซค์สายพันธ์สปอร์ตรุ่นล่าสุด ที่ผลิตและนำเข้าจากญี่ปุ่น ด้วยพิกัดคลาส 250 ซีซี พร้อมสร้างความฮือฮาในกลุ่มไบค์เกอร์ที่เฝ้ารอการนำเข้ารุ่น RR เรซซิ่ง รีพลีก้า รหัสร้อนน้องเล็ก หลังจากมีกระแสในโลกออนไลน์มาตลอด ก็ได้เวลาลองของ CBR250RR
"made in japan" ว่าจะดุเด็ดเผ็ดร้อน สมราคาแค่ไหน
ทีมงาน MotorBike Guru Thailand เช็คราคา.คอม ได้รับเชิญให้เข้าร่วมทดสอบพร้อมกับเพื่อนสื่อมวลชนชั้นนำกว่า 40 คน โดยงานนี้จัดการทดสอบแบบเต็มรอบเต็มแรงกัน ณ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา
รูปแบบการทดสอบแบ่งผู้ทดสอบออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน ตามจำนวนรถที่เตรียมไว้ทั้งหมด ช่วงเช้าทีมงานได้มีการอธิบายรายละเอียดข้อมูลตัวรถเพื่อทราบถึงจุดเด่นต่างๆ เช่น เทคโนโลยีคันเร่งไฟฟ้า, โหมดการขี่ 3 ระดับ, สวิงอาร์มอะลูมิเนียม ที่หล่อขึ้นรูปแบบ GDC (Gravity Die Casting) ให้ความแข็งแรง น้ำหนักเบา, โครงสร้างเฟรมถัก Truss Frame ให้สมดุลย์น้ำหนักบาลานซ์ดี แข็งแรง เบา, Lap Timer โหมดจับเวลารอบแข่งขัน ฯลฯ พร้อมกับแนะนำการขี่รถรุ่นนี้ในสนามว่าโค้งไหนควรใช้เกียร์ใด และรอบที่เหมาะสมในการเปลี่ยนเกียร์ (ราว 12,500 รอบต่อนาที)
ผู้เขียนได้อยู่ในกลุ่มที่ 2 โดยจะได้ขี่ทดสอบทั้งหมด 3 ช่วง มีเวลาช่วงละ 15-20 นาที มีช่วงพัก 10 นาทีระหว่างกลุ่ม และฟรีรันในช่วงท้ายถ้าใครยังต้องการขี่อีก ในวันทดสอบอากาศบริเวณสนามจัดว่าดีกว่าที่คาดไว้ มีแดดน้อยและไม่มีฝน จริงๆ อุณหภูมิก่อนหน้านี้ร้อนมาหลายวัน และวันเดินทางมาก็มีฝนตกช่วงสระบุรี - โคราช ทำให้การทดสอบวันนี้ไม่ต้องสู้กับความร้อนมากนัก
เริ่มทดสอบได้ขี่คันสีแดง (Grand Prix Red) ก่อน เมื่อลองนั่งคร่อมด้วยชุดเรซซิ่งสูท เบาะนั่งที่สูง 790 มม. ให้ความสบายในการขึ้น-ลง ท่านั่ง ตำแหน่งแฮนด์ องศาการวางเท้า ให้ความรู้สึกแตกต่างจากรุ่นพี่ในตระกูล CBR 500&650 ซีรี่ส์ ที่เพิ่งทดสอบในสนามแห่งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เมื่อได้สัญญานกลุ่มรถทดสอบทยอยออกตัวจากพิทสู่สนาม โดยมีผู้ฝึกสอนนักแข่งทีมฮอนด้าขี่นำสู่สนามและปิดท้าย สำหรับผู้เขียนได้ปรับโหมดการขี่ไว้ที่ Sport ช่วงรอบแรกยังเป็นการบล็อคความเร็วตามกัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับตัวรถ ทั้งการจัดท่าทาง การใช้เกียร์ ในแต่ละโค้ง หลังจากผ่านไปรอบก็เข้าสู่การทดสอบแบบอิสระ ลองกันได้เต็มที่รอบสนาม หลังจากขี่ผ่านไป 2-3 รอบ พบว่า ความรู้สึกที่ได้จากตัวรถแตกต่างจาก CBR รุ่นพี่ 500&650 ที่เน้นเป็นรถสตรีทมากกว่า ให้ความรู้สึกเป็นสปอร์ตเซอร์กิตจริงๆ และตัวรถที่มีน้ำหนัก 168 กก. และเฟรมที่ออกแบบมาดี ช่วยทำให้การควบคุมตัวรถง่าย การเปลี่ยนเกียร์ทำได้ดีมาก กระชับไหลลื่นต่อเนื่อง คันเร่งไฟฟ้าตอบสนองคม ฉับไว ช่วงล่างและเบรกในช่วงแรกที่ยังขี่แบบสบายๆ ก็ตอบสนองได้อย่างน่าประทับใจ ฟิลลิ่งเบรกตอบกลับให้การชะลอหยุดที่ยอดเยี่ยม ช่วยให้การลงน้ำหนักเบรกได้ละเอียดขึ้น ผ่านไปในช่วงรอบแรกเหมือนได้พูดคุยทำความรู้จักกันพอสมควร
ช่วงทดสอบสองและสามผู้เขียนเริ่มต้นขี่ด้วยโหมด Sport ไปสักพักก็หันไปปรับเป็น Sport+ รอบที่แช่คลานออกจากพิทมาด้วยเกียร์สองไหลพรวดตวัดขึ้นไปจนรู้สึกได้ การขี่ในช่วงนี้เน้นการเปลี่ยนเกียร์ที่ 12,500 รอบต่อนาทีตลอด และมีโอกาสใช้เกียร์ 6 จากโค้ง 1-3 หลายรอบจนเริ่มขยับจุดเบรกให้ลึกขึ้น เพราะมั่นใจระบบเบรกของตัวรถที่รับมือได้ดีทุกย่านความเร็ว จังหวะพลิกเข้าโค้ง ตัวรถตอบสนองเป็นหนึ่งเดียว ให้สมดุลที่ดี ทำให้ง่ายและสนุกไปกับการขี่ในสนาม จากโค้ง 4 ไป โค้ง 5 ช่วงก่อนถึงโค้งเป็นจังหวะที่น่าอึดอัดสำหรับการขึ้นหรือลงเกียร์ ผู้เขียนใช้แบนด์วิธเกียร์ 5 ลากยาวเข้าโค้ง ก่อนไปยก เบรกและลงเกียร์ 4 เข้าโค้ง 6 ลากยาวเข้า 7 ดันขึ้นเป็น 5 แล้วลงมาที่ 4 โยนเข้าโค้ง 8 ผ่านโค้ง 9 ต่อ โค้ง 10 ที่เป็นเอส พบว่าการถ่ายน้ำหนักทำได้อย่างคล่องตัว ตัวรถตอบสนองไปในทิศทางอย่างใจต้องการ การเบรกจากความเร็วสูง แล้วลดเกียร์ลงก่อนเข้าโค้ง 12
CBR250RR ที่แม้ไม่มีสลิปเปอร์คลัตช์แต่ตัวรถก็รักษาอาการได้อย่างเสถียรไม่มีแกว่ง การเร่งออกจากโค้งด้วยเกียร์ 2 พร้อมไล่ความเร็วอย่างต่อเนื่องพบว่า พลังจากเครื่องยนต์ 249 ซีซี DOHC 4 วาล์ว 2 สูบเรียง ระบายความร้อนด้วยน้ำ ถ่ายทอดพลังออกมาได้อย่างไหลลื่นจังหวะเปลี่ยนเกียร์ที่รอบสูงตัวรถรักษาสมดุลได้ดี จนถึงจุดเบรก ลดเกียร์มาเป็น 4 แล้วโยนเข้าโค้งแรก สนุกกับ
CBR250RR ต่อไปจนจบ
สรุป การทดสอบในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจาก CBR series รุ่นพี่ชัดเจน
CBR250RR ดูเหมาะกับกลุ่มผู้ขี่ที่ชัดเจนด้านมอเตอร์สปอร์ต ต้องการรถสปอร์ตสเปคใกล้เคียงรถสนาม เอาไว้ฝึกปรือฝีมือ แข่งแบบคลับเรซ จริงๆ มีโหมด Comfort ที่ยังไม่ได้ลอง อาจเหมาะกับการขี่บนถนนหรือใช้งานในชีวิตประจำวัน คงต้องนำมาทดสอบแบบใช้งานจริงอีกครั้งถ้ามีโอกาส
CBR250RR ดูเหมาะกับกลุ่มนักขี่รุ่นเยาว์ที่ขยับมาใช้รถสปอร์ตจริงจังเพื่อฝึกพัฒนาตน พร้อมปูทางสู่การขยับสู่คลาสที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต การได้ใช้รถที่ดีและเหมาะสมย่อมช่วยให้ผู้ขี่พัฒนาได้เร็ว ส่วนผู้ที่ชื่นชอบสปอร์ตไลท์เวท คลาสเล็ก
CBR250RR ก็ยังเป็นรุ่นที่ใช่เช่นกัน ยิ่งเป็นงาน
made in japan ด้วยแล้ว อาจทำให้ใครหลายคนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ไปดูแล้วสัมผัสด้วยตัวเองก็จะได้คำตอบ