ต่ออายุใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ มีขั้นตอนอย่างไร? ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงานเช็คราคา.คอม เพิ่งจะไปต่ออายุใบขับขี่มอเตอร์ไซค์มา เชื่อว่านักบิดมอเตอร์ไซค์หลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องต่ออายุใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์น่าจะมีงงๆ กันบ้าง เพราะใบอนุญาตขับขี่นั้นมีทั้งแบบ 1 ปี เป็น 5 ปี หรือจาก 5 ต่ออายุครั้งใหม่ไปอีก 5 ปี การต่อใบอายุขับขี่จะมีขั้นตอนอย่างไร และต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังครับ
เอกสารต่ออายุใบขับขี่
สำหรับการต่ออายุใบขับขี่จากแบบ 1 ปี เป็น 5 ปี สิ่งแรกที่ต้องเตรียมคือ เอกสารทางราชการ หรือภาษาชาวบ้านก็คือ ใบอนุญาตขับขี่เดิม บัตรประชาชนตัวจริง ใบรับรองแพทย์ หากในกรณีที่ต่ออายุจาก 5 ปี เป็น 5 ปี นั้น ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เว้นแต่ว่าใบอนุญาตขับขี่หมดอายุเกินกว่า 3 ปี แบบนี้ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ครับ
หมายเหตุ
- กรณีใบอนุญาตหมดอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี เพิ่มขั้นตอนการสอบข้อเขียน
- กรณีใบอนุญาตหมดอายุเกิน 3 ปี เพิ่มขั้นตอนการสอบข้อเขียน และการสอบขับรถ และใบรับรองแพทย์
- นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือที่อยู่ แนบหลักฐานเพิ่มเติมมาประกอบด้วยด้วย
- กรณีต่ออายุใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลแบบ 5 ปี เป็น แบบ 5 ปี ต่อก่อนล่วงหน้าหรือขาดอายุไม่เกิน 1 ปี ทดสอบปฏิกิริยาการใช้เบรกเท้า การทดสอบสายตาบอดสี สายตาทางกว้าง และสายตาทางลึก ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ พร้อมเข้ารับการอบรม 2 ชั่วโมง
- สามารถต่ออายุล่วงหน้าได้ 90 วัน
ไปกรมการขนส่งใกล้บ้าน
การต่อใบขับขี่ต้องไปที่กรมการขนส่งทางบกเท่านั้น โดยสามารถไปสาขาไหนหรือจังหวัดใดก็ได้ที่สะดวกและใกล้บ้าน แนะนำว่าควรไปแต่เช้า หรือหากไม่รีบร้อนก็สามารถไปได้ตลอดวัน โดยรวมใช้เวลาในการต่อใบขับขี่ประมาณ 2 ชม. แต่สำหรับวันที่คนพีคๆ นั้น ก็อาจจะเผื่อเวลาเพิ่มไปอีก 1 - 2 ชม.
สำหรับคนที่ไปที่กรมขนส่งฯ จตุจักร ให้ติดต่อที่อาคาร 4 ชั้น 2 ห้องประชาสัมพันธ์เพื่อตรวจสอบหลักฐานที่เตรียมมาว่าครบถ้วนหรือต้องแนบสิ่งใดเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ไปตามจุดต่างๆ ในขั้นตอนต่อไป
เมื่อเดินออกจากห้องประชาสัมพันธ์แล้วให้เลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าไปนั่งรอเรียกตามคิวที่แนบมา ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก ต้องบอกว่าเจ้าหน้าที่แข็งขันและเคลียร์คิวได้รวดเร็วจริงๆ แม้จะมีคนเยอะมากก็ตาม
สามารถติดต่อกรมขนส่งฯ สาขาต่างๆ ได้ตามนี้
- กรมการขนส่งทางบก (อาคาร 4 ชั้น 2) หรือ BTS หมอชิต เดินย้อนไปทางสะพานควาย
- สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 1 - 4
- ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานขนส่งส่วนภูมิภาคของแต่ละจังหวัด
ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
แม้จะเคยทดสอบมาแล้วในตอนที่ทำใบขับขี่ครั้งแรก แต่ในการต่ออายุทุกครั้งก็ยังคงต้องมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายด้วย ซึ่งจะต้องเดินขึ้นมาชั้นที่ 3 และเดินไปรับบัตรคิวที่ประชาสัมพันธ์ การทดสอบเป็นรูปแบบเดิมนั่นคือ
- ทดสอบการมองเห็นสี ที่จำเป็นในการขับรถ - ให้ดูสัญญาณไฟสี แดง, เหลือง, เขียว สลับตำแหน่งไป-มา
- ทดสอบสายตาทางลึก - ให้กะระยะการปรับแท่งยาวแนวตั้ง 2 แท่ง ในทางลึกให้เลื่อนเข้ามาอยู่ในระดับเดียวกัน
- ทดสอบสายตาทางกว้าง - ให้วางหน้าชิดกับเครื่องมือทดสอบและตอบสีของไฟ 3 สี แดง,เหลือง,เขียว ที่อยู่ริมด้านข้างของสายตา
- ทดสอบปฎิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรกเท้า) ใช้เท้าเหยียบตันเร่งที่แท่นจำลองให้ไฟสีเขียวสว่างขึ้น และเมื่อไฟสีแดงสว่างขึ้น ให้สลับเท้ามาที่แป้นเบรกทันที โดยจะไฟวัดระดับความไวจะต้องไม่เกิน 0.75 จึงผ่าน
การทดสอบนั้นไม่ยาก เมื่อรับบัตรคิวแล้ว ก็นั่งรอเรียกคิว โดยในระหว่างนั้นจะมีวิดีโอบอกวิธีการสอบในแต่ละแบบให้ดูกัน เน้นว่าควรดู! เพราะหากทดสอบไม่ผ่านฐานใดฐานหนึ่งอาจต้องมาสอบใหม่ในวันถัดไป เมื่อทดสอบในแต่ละฐานเสร็จแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแนะนำต่อว่าให้ไปติดต่อที่ชั้น 2 ต่อไปเพื่อชำระค่าธรรมเนียมทำบัตรและถ่ายรูปเพียง 250 บาทและค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็น 255 บาท เป็นอันเสร็จได้บัตรใหม่มาครอบครองเรียบร้อยครับ
การต่ออายุใบขับขี่รถจักรยานยนต์ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก หากยิ่งเตรียมเอกสารมาให้พร้อมจะใช้เวลาไม่นานนัก และเจ้าหน้าที่ระบายคิวได้อย่างรวดเร็วจริงๆ ดังนั้นใครรู้ตัวว่าใบขับขี่ใกล้หมดอายุแล้วควรรีบไปต่อเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อความสะดวกและถูกต้องตามกฎหมายครับ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
หากลืมหรือไม่มีใบรับรองแพทย์มา สำหรับคนที่มากรมขนส่งฯ จตุจักร สามารถใช้บริการ "พี่วิน" นั่งไปคลินิกใกล้ๆ ค่ารถมอเตอร์ไซค์วินไป-กลับ รอรับเรากลับมาส่งที่เดิมอีกต่างหากประมาณ 60 บาท และค่าใบรับรองแพทย์อีก 100 บาท และหากต้องการถ่ายเอกสารก็สามารถใช้บริการบริเวณชั้น 1 ของอาคาร 4 ได้เลยครับ
หมายเหตุ : ไม่สามารถบันทึกภาพในบริเวณทดสอบสมรรถภาพร่างกายและในบางจุดได้เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ