เลือกหมวกกันน็อคแบบไหนดี?
เลือกหมวกกันน็อคแบบไหนดี? นับเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย วันนี้เรามีหลักการง่ายๆ มาฝากเพื่อให้ทุกคนสามารถเลือกหมวกกันน็อคที่เหมาะสมกับตัวเองได้กันครับ
ภาพจาก store.indianmotorcycle.com เริ่มจากรูปแบบของหมวกกันน็อคที่มีทั้งแบบครึ่งใบที่สายฮาเลย์มักใส่กัน ด้วยความที่รูปแบบดูเท่ ครอบแค่ด้านบนของศีรษะ แต่ที่น่ากังวลคือ ความปลอดภัยที่มีไม่มากนัก เมื่อประสบอุบัติเหตุสามารถหลุดออกจากศีรษะได้ง่าย เนื่องจากยึดกับศีรษะด้วยสายรัดคางเพียงอย่างเดียว และยังอาจส่งผลให้เกิดการกระแทกรอบๆ ศีรษะได้เมื่อประสบอุบัติเหตุศีรษะกระแทกพื้น
ภาพจาก www.customburner.com
ต่อไปเป็นหมวกกันน็อคแบบเปิดหน้าที่ใส่ง่าย สะดวก เพราะแค่สวมแล้วใส่รัดคางก็ออกไปโลดแล่นบนท้องถนนได้เลย หมวกแบบนี้เหมาะกับการเดินทางใกล้ๆ ในเมือง ใช้ความเร็วไม่มาก เนื่องจากไม่สามารถป้องกันใบหน้าได้ เมื่อมีอุบัติเหตุแล้วใบหน้าอาจได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกได้
ส่วนหมวกกันน็อคแบบเต็มใบจะปกป้องส่วนหน้าของศีรษะได้เต็มที่จากการที่มีส่วนยื่นมาปกปิดคางและมีบังลมหรือชิล ช่วยกันลมหรือแม้กระทั่งกรวด หิน ขนาดเล็ก ที่อาจปลิวมาปะทะ หมวกเต็มใบมีหลากหลายดีไซน์ที่เหมาะกับการขับขี่มอเตอร์ไซค์หลากหลายประเภท ทั้งแบบคลาสสิก สปอร์ต ทัวริ่ง หรือวิบาก แม้กระทั่งโมตาร์ตที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในบ้านเรา
ภาพจาก www.cyclegear.com
หมวกแบบโมดูลาร์หรือแบบที่ยกส่วนปกปิดใบหน้าได้ หมวกแบบนี้เหมาะกับคนขี้ร้อนที่อยากจะเปิดรับลมเวลารถติดๆ หรือเพื่อการพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยไม่ต้องถอดหมวกออกจากศีรษะ หมวกแบบนี้มักมีน้ำหนักค่อนข้างมากเนื่องจากมีชิ้นส่วนที่แข็งแรงจากการที่ต้องเคลื่อนที่เมื่อผู้ใช้ต้องการยกขึ้นลง มักผลิตจำหน่ายโดยผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญ และราคาค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ยังมีหมวกที่มีลูกเล่นต่างๆ ในรายละเอียดของการออกแบบและการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละบุคคล เช่น การมีแว่นตากรองแสงอยู่ภายในที่สามารถยกขึ้นเก็บภายในตัวหมวกและดึงลงมาใช้เมื่อมีแสงแดด การมีช่องระบายอากาศทั้งที่ตรงจมูก ส่วนหน้าผาก แก้ม และหลังศรีษะเพื่อให้ลมสามารถผ่านเข้าออกเพื่อลดความร้อนขณะขับขี่ได้
ภาพจาก www.saferacer.com
สำหรับวัสดุที่ใช้ผลิตมีหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งเป็นพลาสติกธรรมดาๆ ที่แตกหักง่าย พลาสติก ABS ที่มีความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา ไฟเปอร์กลาสล้วนๆ และที่มีส่วนผสมอื่นที่ให้น้ำหนักเบาแต่ทนทานจากเส้นใยที่มีความเหนียวทนทานต่อการกระแทกและครูดไปกับพื้นถนน จนมาถึงหมวกที่ผลิตจากวัสดุที่มีราคาสูงแต่น้ำหนักเบา ทนทานอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ ที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ภ
าพจาก www.saferacer.com ส่วนวัสดุที่ใช้ภายในสำหรับลดแรงกระแทก และวัสดุต่างๆ ที่นำมาตกแต่งเพื่อความสวยงามและสะดวกสบายในการสวมใส่ก็มีทั้งผ้าธรรมดาๆ สักหลาด จนถึงหนังเทียมและหนังแท้จากวัว แกะ หรือม้า ตามแต่ผู้ผลิตนั้นๆ
นี่เป็นเพียงเรื่องของรูปแบบของหมวกที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภท และวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตเท่านั้น ถัดไปเราไปคุยกันเรื่องความปลอดภัย ที่จะทำให้คุณอุ่นใจได้ในทุกการขับขี่
มาถึงเรื่องความปลอดภัยกันบ้าง เริ่มที่หลักการง่ายๆ ก่อน คือ ดูจากลักษณะภายนอกว่าดูแข็งแรงทนทานหรือไม่ มีระดับความหนานุ่มของวัสดุภายในอย่างไร และสายรัดคางเป็นแบบไหน ซึ่งเรามักเห็นกันใน 2 ลักษณะ ได้แก่ แบบ D-ring ที่แข็งแรงและนิยมใช้กับหมวกที่มีคุณภาพ กับแบบเดือยล็อคที่ใช้ในผู้ผลิตหมวกที่ราคาไม่สูงมาก
จากนั้นก็มาดูกันที่แบรนด์ผู้ผลิตว่ามีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากผู้ใช้แค่ไหน แบรนด์ระดับสูงที่นิยมกันมักผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่มมาพร้อมกับระดับราคาที่สูงตาม รองลงมาก็เป็นของไต้หวัน จีน และผลิตในไทยเป็นส่วนมากที่มักพบเห็นได้ตามร้านขายอะไหล่ ร้านเครื่องประดับตกแต่งตามแหล่งชุมชนทั่วไป
สุดท้ายที่สำคัญคือดูที่มาตรฐานที่หมวกใบนั้นๆ ได้รับการรับรองจากสถาบันไหน โดยมาตรฐานที่มักพบเห็นกันคือ
- DOT (U.S. Department of Transportation) เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา เปรียบได้กับมาตรฐาน มอก. ของบ้านเรา ที่ใช้กับหมวกทั่วๆ ไป แต่การทดสอบจะไม่ได้ทดสอบส่วนที่ปิดคางของหมวกประเภทเต็มใบ และหมวกที่ไม่ได้มาตรฐานนี้จะไม่สามารถจำหน่ายในฐานะ หมวกสำหรับการขับขี่จักรยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้
- Snell มาตรฐานที่รับรองโดยสถาบัน Snell Memorial Foundation ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการทดสอบโดยความสมัครใจของผู้ผลิต เป็นการรับรองที่เข้มงวดกว่า DOT โดยเฉพาะด้านการดูดซับแรง G ที่มีต่อศีรษะของผู้สวมใส่ จึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้ต้องการหมวกสำหรับมอเตอร์สปอร์ตต่างๆ
- ECE 22.05 มาตรฐานการรับรองของสหภาพยุโรปที่เป็นที่นิยมในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ข้อดีคือการทดสอบหมวกในทุกรอบของการผลิต จึงมั่นใจได้ในความแข็งแรงและการปกป้อง ไม่ว่าจะซื้อหมวกรุ่นนั้นๆ ในช่วงเวลาไหนก็ตาม
ยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่ใช้ในประเทศต่างๆ เช่น JIS ของประเทศญี่ปุ่น KS G 7001 ของประเทศเกาหลี CNS ของไต้หวัน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ซื้อควรศึกษาถึงคุณสมบัติการปกป้องศีรษะให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองครับ