ระยะห่างก้านคลัตช์ ตั้งอย่างไรให้เหมาะสม
มอเตอร์ไซค์ประเภทสปอร์ต เน็กเก็ต ครูสเซอร์ หรือแบบที่มี "คลัตช์" ใช้สำหรับเปลี่ยนเกียร์นั้น เมื่อพิจารณาดีๆ ระยะห่างและระยะที่คลัตช์เริ่มทำงานมีผลต่อการขับขี่และความปลอดภัยอย่างมาก มาดูรายละเอียดกันว่าการปรับตั้งและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับตั้งระยะห่างของคลัตช์มีอะไรบ้าง
ก่อนอื่นควรรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับหน้าที่ของคลัตช์ นั่นคือ ทำหน้าที่ "ตัด-ต่อ" กำลังจากเครื่องยนต์ โดยผ่านชุดคลัตช์หรือหวีคลัตช์ที่มีแผ่นคลัตช์อยู่ภายใน พร้อมกับผิวสัมผัสที่ให้ความฝืดเพื่อจับ "ล้อช่วยแรง" (Flywheel) ที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ ไปยังชุดคลัตช์ และส่งต่อกำลังไปที่ชุดเกียร์
ภาพจาก www.dansmc.com
ชุดคลัตช์นี่เองทำหน้าที่ตัดการหมุนของ Flywheel ไม่ให้ส่งกำลังไปยังชุดเกียร์หรือชะลอความเร็วของชุดเพลาที่ต่อไปยังระบบเกียร์ให้ช้าลง เพื่อช่วยให้เข้าเกียร์ได้ง่ายขึ้น และลดการสึกหรอในจังหวะ "ขบ" กันของฟันเฟือง ชุดคลัตช์ควบคุมโดยก้านบังคับหรือก้านคลัตช์ที่แฮนด์ด้านซ้าย ด้วยการบีบเข้าหาตัว (ตัดกำลัง) หรือปล่อย (ต่อกำลัง) นั่นเอง
ภาพจาก www.cycleworld.com
ระยะการทำงานหรือระยะฟรีของระบบคลัตช์หมายถึง ระยะหรือช่องว่างก่อนที่ก้านคลัตช์จะควบคุมสายคลัตช์หรือน้ำมันไฮดรอลิกที่ไปบังคับชุดหวีคลัตช์ให้ยก-ตัดกำลังออกจาก Flywheel และมักมีช่องว่างหรือระยะ "ฟรี" ที่ยังไม่มีการทำงานใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งระยะฟรีนี้เองที่ผู้ขับขี่สามารถตั้งความตึงหรือหย่อนในกรณีรถที่ใช้สายคลัตช์ได้ ส่วนรถที่ใช้ระบบน้ำมันไฮดรอลิกนั้นไม่สามารถตั้งได้ แต่สามารถตั้งระยะฟรีของก้านคลัตช์ได้ เพราะระบบน้ำมันฯ จะมีการไหลแทนที่เมื่อของเหลว (น้ำมันเบรก) ลดต่ำลง นับเป็นการปรับระยะโดยอัตโนมัติ
คลัตช์แบบสายจะมีตัวปรับตั้ง
ตัวควบคุมชุดคลัตช์โยงมาจากก้านคลัตช์แบบสายสามารถตั้งความตึงหรือหย่อนของการทำงานให้ตอบสนองเร็วหรือช้าได้
ตั้งระยะความตึงของชุดคลัตช์ที่สายตรงเครื่องยนต์
แบบใช้น้ำมันคลัตช์หรือไฮดรอลิกตั้งได้แต่ระยะห่างก้านคลัตช์ ส่วนความตึงของระยะฟรีชุดคลัตช์จะปรับอัตโนมัติ
การตั้งระยะของก้านคลัตช์เพื่อความแม่นยำและปลอดภัย
การตั้งระยะของก้านคลัตช์ มีผลโดยตรงในขณะขับขี่ตั้งแต่การบีบคลัตช์เพื่อเข้าเกียร์-การออกตัว-การเปลี่ยนจังหวะเกียร์อื่นๆ และจอดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ว่าง ล้วนใช้คลัตช์ควบคุมทั้งหมด นอกจากนี้ยังรวมถึงเหตุฉุกเฉินอื่นๆ เช่น การลดความเร็วในเหตุการณ์ต่างๆ การเบรกกะทันหัน การเข้าโค้ง การเปลี่ยนเกียร์เพื่อเร่งแซง เป็นต้น
ตามรูปจะเห็นสกรูปรับตั้งระยะห่างก้านคลัตช์
ดังนั้นผู้ขับขี่ควรใส่ใจในการปรับตั้ง ระยะห่างระหว่างก้านคลัตช์และมือที่ใช้บีบคัลตช์ให้สมดุลกัน ควรปรับตั้งความสูง-ต่ำ ให้ก้านคลัตช์เข้าใกล้ระยะที่สามารถกำคลัตช์ได้ถนัดมากที่สุด โดยการหมุนสกรูตั้งระยะห่างก้านคลัตช์ที่อยู่ตรงจุดหมุนฐานคลัตช์ (บางรุ่นอาจปรับตั้งสายคลัตช์ที่เครื่องยนต์) แล้วลองบีบคลัตช์ดูว่าความสูง-ต่ำระดับใดที่ถนัดและคุ้นเคยที่สุด นอกจากนี้ควรทดลองขณะขับขี่ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ได้ความถนัดเมื่อขับขี่จริง เพราะจะมีผลต่อการรู้ระยะฟรีหรือระยะช่องว่างการทำงานของชุดคลัตช์นั่นเอง
สกรูตั้งระยะห่างก้านคลัตช์แบบสาย
การปรับตั้งระยะห่างของก้านคลัตช์นับว่ามีความสำคัญไม่น้อย ส่งผลโดยตรงในการขับขี่ เพราะรถประเภทมีคลัตช์ ต้องควบคุมตั้งแต่เข้าเกียร์ออกรถและจอด หากผู้ขับขี่ใส่ใจในการปรับตั้งระยะห่างให้มีความถนัดมากขึ้นก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจ ความแม่นยำ และความปลอดภัยได้มากขึ้นอีกด้วยครับ