ข้อปฏิบัติในการขับมอเตอร์ไซค์ทางโค้ง
การขับขี่มอเตอร์ไซค์เมื่อถึงทางโค้ง ทั้งแบบโค้งยาว สั้น รูปตัวเอส ผู้ขับจะต้องสังเกตสภาพพื้นผิวถนน ขับให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และใช้ความเร็วที่เหมาะสม มาดู 5 สิ่งควรทำเมื่อขับมอเตอร์ไซค์เข้าโค้งกันเลย
1. ประเมินโค้ง
การประเมินหรือภาษาง่ายๆ คือ เดา, คาดการณ์นั่นเองว่าทางโค้งนั้นมีลักษณะเป็นเช่นไร มีความลึกของโค้งมากหรือน้อย และเป็นถนนกี่ช่องทาง รวมถึงเป็นเนินสูงหรือลาดชันเพียงใด
การปฏิบัติ หากเป็นโค้งลักษณะธรรมดาคือ ระยะทางสั้นๆ หรือโค้งยาวที่ไม่มากนักก็เพียงดูว่าปลอดภัยจึงขับผ่านไป แต่ถ้าเป็นโค้งหักศอกก็ควรลดความเร็วให้เหมาะสม ระวังอย่าเบรกแรงมากเกินไปหรือเบรกกระชั้นชิดโค้งเกินไป เพราะอาจถูกรถตามหลังมาชนได้ ควรชะลอก่อนถึงโค้งสักระยะหนึ่ง ควรดูให้แน่ใจว่าเลนซ้ายที่เราต้องใช้นั้นว่าง และข้างทางไม่มีรถที่ขับตัดหน้าได้ แล้วให้ชิดขอบทางซ้าย (ในช่องทางของตนเอง) ตีวงจากนอกโค้งเข้าหาด้านในโค้ง โดยไม่ให้ล้ำเส้นแบ่งเลนและเส้นแบ่งกลางถนนฝั่งรถสวนทาง แต่หากมีรถอยู่ในเลนขวาก็ควรให้ไปก่อนเพื่อให้มีพื้นที่ว่างและปลอดภัยมากขึ้น
2. ดูสิ่งรอบตัว
สังเกตรถยนต์, มอเตอร์ไซค์ ที่ขับมา ทั้งในทิศทางเดียวกันและฝั่งตรงข้าม รวมถึงจักรยาน, สุนัข รถออกจากซอยข้างทางและรถที่มีที่ท่าว่าจะกลับรถ เพื่อให้เราสามารถเว้นระยะห่างให้ปลอดภัย พร้อมกับเผื่อระยะของการเบรกได้มากขึ้น หากเกิดเหตุไม่คาดคิด
พึงระลึกเสมอว่าอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น รถที่ออกจากซอยตัดหน้า, สุนัขตัดหน้า, จักรยานขี่กินเลน รถยนต์ยูเทิร์น์กะทันหัน เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมดครับ
3. สภาพผิวถนน
ข้อนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราดูปัจจัยอื่นจนแน่ใจว่าปลอดภัยชัวร์ๆ แต่กลับเจอหลุมกลางถนน รอยปะยางมะตอยขนาดใหญ่ หรือจะมีคราบน้ำ, น้ำมัน และกรวดทรายลื่นๆ ก็จบครับ
ผิวถนนในประเทศไทยที่เอาแน่นอนไม่ได้ ดังนั้น อย่าประมาทเป็นดีที่สุด ขับช้าๆ ใช้ความเร็วที่เหมาะสมมากที่สุด อย่างน้อยก็เบรกได้ทันหรือหากเกิดอุบัติเหตุก็จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ครับ
4. ปลายโค้ง
มองปลายโค้งให้สุดทางล่วงหน้าว่ามีอะไรต่อเนื่องอีกหลังจากออกจากโค้ง เช่น สี่แยก, ไฟแดง หรืออาจมีสิ่งกีดขวางบนถนนอื่นๆ เช่น รถเสีย, รถน้ำต้นไม้, รถรอเลี้ยวขวา เป็นต้น
หากเราเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าก่อนจะขับผ่าน ย่อมช่วยให้ขับผ่านจุดนั้นได้อย่างปลอดภัย และเปลี่ยนช่องทางหรือชิดขอบทางด้านใดด้านหนึ่งเพื่อหลบหลีก พร้อมกับลดความเร็วได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย
5. อย่าแซงทางโค้ง
ไม่ควรแซงขวา หรือแซงบนไหล่ทางในขณะเข้าโค้ง เพราะอาจมองไม่เห็นรถที่สวนทางมา และส่วนของไหล่ทางก็อาจมีสภาพผิวถนนที่ลื่น มีฝุ่น ทราย แอ่งน้ำ ฯลฯ ที่อาจทำให้เกิดการลื่นไถลได้
หากมีรถขวางหรือขับช้าและจำเป็นหลบหลีกเพื่อแซงขึ้นหน้า ก็ควรลดความเร็วลง และสังเกตพื้นผิวถนนให้ดีก่อนจะเร่งแซงขับผ่านไป และมองเหตุการณ์ล่วงหน้าไกลๆ อย่างน้อยเราก็รู้ตัวว่ากำลังขับผ่านพื้นผิวที่อันตรายและจะได้มีความระมัดระวังมากขึ้น
เทคนิคการจัดลำตัวในขณะเข้าโค้ง
ขอบขอคุณภาพจาก
ยามาฮ่า การขับเข้าทางโค้งนอกจากตัวรถที่ดีแล้วการวางลำตัวของผู้ขับก็มีส่วนสำคัญด้วย เพื่อให้เข้าโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลักในการจัดลำตัวเมื่อเข้าโค้งที่ถูกต้องมี 4 แบบด้วยกัน คือ
เอียงตัวตรงข้ามรถ (Lean out) เป็นการเข้าโค้งที่ความเร็วต่ำๆ เพื่อให้รถไปในทิศทางที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
เอียงตัวแนวเดียวกับรถ (Lean with) เป็นการเข้าโค้งที่ผู้ขับสามารถรักษาความเร็วให้สัมพันธ์กับโค้ง ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป
เอียงตัวมากกว่ารถ (Lean in) สำหรับการเข้าโค้งที่ความเร็วสูงๆ เพื่อให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำและเกาะโค้งมากที่สุด
เอียงตัวโหนรถ (Hang on) เป็นการเข้าโค้งที่ความเร็วสูงมากๆ เช่นในสนามแข่ง ด้วยการขยับสะโพกและเอียงไปทิศทางที่จะเลี้ยว สำหรับบนถนนทั่วไปไม่ควรใช้ความเร็วสูงเพราะอาจไม่ปลอดภัยเท่ากับในสนามนะครับ
การขับมอเตอร์ไซค์เข้าโค้ง อาจขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ที่แตกต่างกันไปด้วนนะครับ ทั้งสภาพถนนเปียกลื่น เป็นหลุม บ่อแถมปะด้วยยางมะตอย ฯลฯ ดังนั้น ควรประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละเหตุการณ์ และที่สำคัญ "ใส่หมวกอุ่นใจ-อย่าลืมเปิดไฟ-ขับชิดซ้าย-เปิดไฟเมื่อเลี้ยว" และเพื่อความปลอดภัยในทุกสภาวะถนนควรใช้ความเร็วตามกฏหมายกำหนด ไม่ประมาทนะครับ