ท่อดังเสียตังค์แล้วยังโดนจับ (หรือเปล่า)
ผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ว่าจะเป็นรถครอบครัว รถวิบาก หรือ
บิ๊กไบค์ มักมีความต้องการที่จะเพิ่มสมรรถนะของรถตนเองให้ดูโดดเด่นรวมถึงเพิ่มความแรงให้รถคู่ใจ อุปกรณ์ชิ้นแรกๆ ที่ถูกนึกถึงมากที่สุดคือ "ท่อไอเสีย" ซึ่งปัจจุบันก็มีหลากหลายสำนักแต่งผลิตจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย แต่ท่อไอเสียเหล่านี้มักมาพร้อมกับความดังของเสียง และเป็นต้นเหตุในการสร้างความรำคาญและเป็นมลพิษทางเสียง ท่อบางชนิดเข้าขั้นเสียงดังรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อหูของมนุษย์ แถมยังอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจสอบเสียงว่าดังเกินกำหนดหรือไม่อีกด้วย
เรามาดูกฎระเบียบหรือ"กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน" จาก
กรมควบคุมมลพิษ - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ
กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน
โดยทั่วไปการตรวจสภาพความดังของเสียงจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น จะมีข้อกำหนดค่าวัดระดับเสียงเป็นเดซิเบล ซึ่งสำหรับในรถยนต์นั้นขณะจอดนิ่งไม่เกิน 85 เดซิเบล เมื่อตั้งเครื่องวัดในระยะ 7.5 เมตร หรือไม่เกิน 100 เดซิเบล เมื่อตั้งเครื่องวัดไม่เกิน 0.7 เมตร จากส่วนท้ายของรถยนต์ และส่วนของรถมอเอตร์ไซค์ขณะจอดนิ่งไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตั้งเครื่องวัดในระยะ 0.5 เมตรจากส่วนท้าย
วิธีการวัดค่าระดับเสียงรถยนต์
วิธีการวัดค่าระดับเสียงรถจักรยานยนต์
ดังนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนท่อไอเสียมาหรือไม่ หากเสียงดังเกินที่กำหนดก็มีสิทธิถูกปรับได้ และอาจถูกเจ้าพนักงานออกคำสั่งให้ติดสติกเกอร์ "ห้ามใช้ชั่วคราว" สีส้มๆ จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง และหากจำเป็นต้องใช้งานรถนั้น ต้องใช้ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ไม่เกิน 30 วัน และหากปรับปรุงแก้ไขแล้วมลพิษยังเกินกำหนดอยู่ก็จะถูกสั่งติดสติกเกอร์ "ห้ามใช้เด็ดขาด" สีแดง และจนกว่าจะแก้ไขได้ถูกต้องเจ้าพนักงานจึงจะยกเลิกการ "งดใช้พาหนะนี้" ทันที และหากผู้ใดฝ่าฝืนนำรถคันที่มีสติกเกอร์นี้มาใช้ หากตรวจสอบพบจะถูกปรับ 5,000 บาท และกรณีไม่หยุดให้เจ้าพนักงานเรียกตรวจจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วยนะครับ
กฎหมายเกี่ยวข้องกับมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่หน่วยงานของรัฐใช้ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเรื่องเสียงและความสั่นสะเทือน รวมทั้งเป็นแนวทางในการควบคุมและป้องกันปัญหามลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือนจากจากแหล่งกําเนิดต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และควบคุมระดับเสียง และความสั่นสะเทือนอันอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้ระบุเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ และอํานาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ (ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วน คือในข้อที่ "3. กฎหมายเกี่ยวกับยานพาหนะ")
พระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"ยานพาหนะ" หมายความว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เรือ ตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
มาตรา 11 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีอํานาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษและพนักงานเจ้าหน้าที่และกําหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 55 ให้รัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมมลพิษและโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอํานาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดสําหรับควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกําเนิดออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 64 ยานพาหนะที่จะนํามาใช้จะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดที่กําหนดตามมาตรา 55
มาตรา 65 ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าได้มีการใช้ยานพาหนะโดยฝ่าฝืนตามมาตรา 64 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นโดยเด็ดขาดหรือจนกว่าจะได้มีการแก้ไข ปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดที่กําหนดตามมาตรา 55
มาตรา 66 ในการออกคําสั่งห้ามใช้ยานพาหนะตามมาตรา 65 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทําเครื่องหมายให้ปรากฏเด่นชัดเป็นตัวอักษรที่มีข้อความว่า "ห้ามใช้เด็ดขาด" หรือ "ห้ามใช้ชั่วคราว" หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งเป็นที่รู้และเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปว่ามีความหมายอย่างเดียวกันไว้ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของยานพาหนะนั้น การทําและการยกเลิกเครื่องหมายห้ามใช้หรือการใช้ยานพาหนะขณะที่มีเครื่องหมายดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 67 ในการปฏิบัติตามมาตรา 65 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ยานพาหนะหยุดเพื่อตรวจสอบ หรือเข้าไปในยานพาหนะหรือกระทําการใดๆ ที่จําเป็นเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของยานพาหนะ
มาตรา 68 ให้รัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมมลพิษมีอํานาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดประเภทของแหล่งกําเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุม การปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศไม่เกินมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานที่ส่วนราชการใดกําหนดโดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายอื่น และมาตรฐานนั้นยังมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 หรือมาตรฐานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนดเป็นพิเศษสําหรับเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 58 เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกําเนิดมลพิษทางเสียงเกินกว่าระดับมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดที่กําหนดตามมาตรา 55 หรือมาตรฐานที่ส่วนราชการใดกําหนดโดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายอื่นและมาตรฐานนั้นยังมีผลใช้บังคับตามมาตรา 56 หรือมาตรฐานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนดเป็นพิเศษสําหรับเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 58 มีหน้าที่ต้องติดตั้ง หรือ จัดให้มีระบบควบคุม กําจัด ลด หรือขจัดมลพิษ
มาตรา 102 ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามใช้ยานพาหนะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 65 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรา 103 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 67 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดระดับเสียงของรถยนต์ ออกโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ข้อ 3 ระดับเสียงของรถยนต์ที่ใช้ในทางขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ จะต้องไม่เกิน
(1) 85 เดซิเบลเอ เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถยนต์ 7.5 เมตร หรือ
(2) 100 เดซิเบลเอ เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถยนต์ 0.5 เมตร
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ ออกโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ข้อ 2 ระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในทางขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณจะต้องมีระดับเสียงไมเกิน 95 เดซิเบลเอ เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร
จะเห็นว่าในตัวกฎหมายมีการระบุเอาไว้ชัดเจนมาก ซึ่งบรรดานักบิด บิ๊กไบค์ ทั้งหลายหรือแม้แต่ขาซิ่งรถยนต์ต่างก็พอรู้ข้อกฎหมายนี้กันไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากปฎิบัติให้ถูกกฎ งดหรือหลีกเลี่ยงการแต่งท่อไอเสียที่เสียงดังๆ เกินความจำเป็น และเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ก็จะทำให้รอดพ้นความผิดนี้ และยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมหรือมลพิษทางเสียงได้อีกด้วยครับ และขอฝากข้อคิดเอาไว้ว่า การใส่ท่อดังไม่ว่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์นั้น ไม่ใช่ว่าจะวิ่งเร็วหรือแรงขึ้นกว่าเดิมเสมอไป ขึ้นกับการคำนวณอัตราไหลของอากาศเข้าเครื่องยนต์ (ดูดเข้า) และออกจากเครื่องยนต์ (ระบายทิ้ง) ให้มีอัตราส่วนที่เหมาะสมกันให้มากที่สุดต่างหากครับ ที่จะทำให้เครื่่องยนต์มีกำลังเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการใส่ท่อดังอาจจะให้ความรู้สึกแรงทางจิตใจเมื่อเร่งเครื่องมีเสียงดังสะใจ แต่อาจวิ่งอืดกว่าเดิมๆ ก็เป็นได้ครับ นอกจากจะเสียเงินไปกับอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว บางทีอาจจะต้องเสียค่าปรับอีกเป็นของแถมได้ ดังนั้นจึงควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเปลี่ยนท่อใหม่กันนะครับ