มอเตอร์ไซค์ ขับอย่างไร ให้ปลอดภัยและถูกกฎ
จักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวก คล่องตัวเมื่อใช้งานไปยังสถานที่ต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงรถติดได้ดี และนอกจากรถขนาดเล็กแล้วยังมีบิ๊กไบค์ที่เริ่มเพิ่มจำนวนบนท้องถนนมากขึ้น
แม้ว่าการควบคุมการจำหน่ายรถบิ๊กไบค์จะยังไม่เข้มงวดมากนักจนเริ่มเห็นผู้ขับขี่รถขนาดใหญ่มีตั้งวัยเด็กมัธยมจนถึงอายุมากๆ ซึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ขับขี่จักรยานยนต์นั้น มีทั้งเคารพและไม่ปฏิบัติตามกฏจราจรกันจนควบคุมได้ลำบากขึ้น ด้วยความสะดวกสบายคล่องตัวนี่ของรถจักรยานยนต์เอง จึงส่งผลให้ในบางครั้งผู้ขับรถจักรยานยนต์มักจะกระทำผิดกฏจราจรได้ง่าย และมักทำเป็นประจำจนคุ้นเคย เช่น วิ่งเลนขวาสุด, ไม่สวมหมวกกันน็อค, วิ่งสวนทาง, วิ่งบนทางเดินทาง, จอดรถยนต์หรือจักรยานยนต์บนฟุตบาท ฯลฯ
ขับขี่บนฟุตบาทแบบย้อนศรเป็นภาพที่เห็นจนชินตา ชอปเปอร์คันนี้ขี่ในทางห้าม (บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต) คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมรถจักยานยนต์มักถูกเรียกตรวจบ่อยๆ หนึ่งในสาเหตุ ก็คือการขับขี่เลนขวา, วิ่งขวา, แซงชวา หรืออาจขับขี่ผิดช่องทาง รวมทั้งการขับขี่เป็นที่อันตราย และน่าหวาดเสียว จนทำให้เป็นเหตุให้ถูกเรียกตรวจจากตำรวจจราจรเสมอๆ ทั้งที่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบกนั้นก็ได้กำหนดลักษณะการเดินรถในช่องทางของรถจักรยานยนต์เอาไว้ชัดเจนแล้ว และเราก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กฎหมายที่ควรรู้ในการขับขี่รถจักรยานยนต์
กฎหมายควรรู้ในบางข้อของการขับทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เราควรทราบนั้น มีกันอยู่หลายเรื่อง วันนี้เราจะขอยกตัวอย่างเฉพาะบางส่วนที่สำคัญมาฝากกันครับ
มาตรา 33 ในการขับรถ ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ เว้นแต่ในกรณี ต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาหรือล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถได้
(1) ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(2) ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(3) ทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึงหกเมตร
มาตรา 34 ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่อง เดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุดผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทางเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้
(1) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(2) ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(3) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
(4) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
(5)(1) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย
มาตรา 35(2) รถที่มีความเร็วช้า หรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้
ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุด หรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่รถยนตร์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
จะเห็นว่ามีกฎจราจรช่วงหนึ่งระบุว่า "รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปหรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุด หรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี" โดยในปัจจุบันผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นมักจะขับเลนขวา หรือแซงตามอำเภอใจ ซึ่งเราควรระมัดระวังและเคารพกฎจราจรนี้โดยเคร่งครัดนะครับ หากฝ่าฝืนอาจถูกจับปรับได้
ตัวอย่างค่าปรับที่เกิดจากการกระทำผิดกฎจราจร มีรายละเอียดดังนี้
ข้อหา ฐานความผิด บทมาตรา และอัตราโทษ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ.2538) - ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ปรับ 300 บาท
- ไม่หยุดรถหลังเส้น ให้รถหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ปรับ 300 บาท
- ไม่ขับรถที่มีความเร็วช้าให้ใกล้ขอบทางด้านซ้ายในทางเดินรถที่มีสวนกันได้ ปรับตั้งแต่ 200-500บาท ปรับ 200 บาท
- เลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องเดินรถโดยไม่ให้สัญญาณ ปรับตั้งแต่ 400-1,000บาท ปรับ 400 บาท
- ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ปรับตั้งแต่ 400 - 1,000 บาท ปรับ 400 บาท
- ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร (เว้นแต่รถเข็นสำหรับทารก คนป่วย หรือคนพิการ) ปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ปรับ 400 บาท
- กลับรถในทางเดินรถกีดขวางการจราจร ปรับตั้งแต่ 200-500 บาท ปรับ 200 บาท
- กลับรถในระยะ 100 เมตร จากเชิงสะพาน ปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ปรับ 400 บาท
- กลับรถที่ทางร่วมทางแยก (เว้นแต่จะมีเครื่องหมายจราจรให้กลับรถได้) ปรับตั้งแต่ 400- 1,000 บาท ปรับ 400 บาท
- หยุดรถหรือจอดรถในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรที่อธิบดีกำหนดในทางเดินรถโดยไม่มีอำนาจ ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- ไม่จอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- จอดรถไม่ขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างเกินกว่า 25 ซม. ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- หยุดรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุผลสมควร ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคาร หรือทางเดินรถโดยไม่มีเหตุผลสมควร ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- จอดรถบนทางเท้า ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ปรับตั้งแต่ 200 - 500 บาท ปรับ 400 บาท
- ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย (มิให้ใช้บังคับแก่ภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช ผู้นับถือลัทธิศาสนาที่ใช้ผ้าโพกศีรษะตามประเพณีนิยม ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
- โดยสารรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย (มิให้ใช้บังคับแก่ภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช ผู้นับถือลัทธิศาสนาที่ใช้ผ้าโพกศรีษะตามประเพณีนิยม ปรับไม่เกิน 500 บาท ปรับ 200 บาท
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดแบบเต็มได้ที่นี่
ข้อหาหรือฐานความผิดตามกฎหมายที่ควรทราบ การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย
การขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ปลอดภัยนั้น เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ผู้ขับขี่ควรทราบและนำไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยมากที่สุด โดยมีหลักพื้นฐาน การขับขี่ปลอดภัย 10 ประการ ดังนี้ครับ
- สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์
- หมั่นตรวจระบบเบรก ยาง และระบบส่องสว่างให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- มองดูด้านหลัง และให้สัญญาณไฟทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนช่องทาง
- จดจำสัญญาณจราจรที่สําคัญ
- อย่าขับขี่รถจักรยานยนต์ สวนทางหรือข้ามช่องทางวิ่ง
- โปรดระมัดระวัง และลดความเร็วทุกครั้ง เมื่อพบกับสภาพถนนที่ขรุขระเป็นหลุมทราย และถนนเปียกลื่น
- อย่าขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด
- ห้ามเสพหรือดื่มของมึนเมาขณะขับขี่รถจักรยานยนต์
- การขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านนบริเวณสี่แยกควรหยุดรถ หรือชะลอความเร็วของรถ
- การขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนที่ไม่มีไฟส่องสว่าง ควรขับโดยใช้ความเร็วต่ำกว่าเวลากลางวัน
และเนื่องจากในปัจจุบันที่มีจำนวนรถจักรยานยนต์ที่มากขึ้นไม่ว่ารถเล็กหรือรถใหญ่ มักมีสมรรถนะที่ดีขึ้นแรงและทำให้ใช้ความเร็วสูงๆ กันมากขึ้น จึงควรเพิ่มความปลอดภัยอีกระดับด้วยการสวมใส่ชุดที่มีการ์ดป้องกันร่างการ รองเท้าควรหุ้มซ้น และให้คิดลบไว้เสมอว่า "มีโอกาสเกิดสิ่งไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา" เพื่อความไม่ประมาท
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์
ในชีวิตประจำวันการขับขี่รถจักรยานยนต์อาจมีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เรามาดูกันว่าในบางเหตุการณ์ เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไรได้บ้างครับ
ถนนที่มีน้ำมัน - ใช้เกียร์ต่ำเร่งเครื่องให้อยู่ในระดับหนึ่งตลอดเวลา เมื่อพ้นถนนที่มีน้ำขังแล้ว ให้ใช้เบรกเป็นระยะๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรกจนเบรกอยู่ในสภาพปกติ ในกรณีที่เครื่องยนต์ดับ ต้องจูงรถไปให้พ้นน้ำ ถอดหัวเทียนออกมา เช็ดทําความสะอาดให้แห้ง รวมทั้งตรวจสอบและทําให้ระบบไฟจุดระเบิดปราศจากความชื้น และนําอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบเข้าที่อย่างถูกต้องแล้ว จึงติดเครื่องยนต์ใช้งานต่อไป
ถ้าขับขี่บนถนนมีน้ำขัง - ควรขับด้วยเกียร์ต่ำ เร่งเครื่องให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งตลอดเวลา และใช้เบรกเป็นระยะ ถ้าเครื่องดับต้องจูงรถให้พ้นน้ำและถอดหัวเทียนออกมาเช็ดทําความสะอาดให้แห้ง รวมทั้งตรวจสอบระบบไฟจุดระเบิดให้ปราศจากความชื้นด้วย หลังจากนั้นประกอบเข้าที่แล้วสตาร์ตเครื่องใช้งานต่อไป
ถ้าเบรกไม่ทํางาน - ขั้นแรก ควรตั้งสติ ให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยๆ ลดเกียร์ต่ำสุดเพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยเบรก เมื่อสามารถหยุดได้แล้ว ควรเร่งแก้ไขข้อผิดพลาด และขณะที่เกิดเหตุควรบีบแตรไว้ตลอดเวลา เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าท่านกําลังประสบปัญหา
ถ้าคันเร่งค้าง - ปิดกุญแจสวิตซ์หรือดึงสายไฟ เพื่อตัดระบบจุดระเบิดเครื่องยนต์
ถ้าเครื่องร้อนเกินไป - เมื่อเครื่องยนต์เกิดความร้อนสูง ลูกสูบอาจเกิดอาการฝืด และเกิดเสียงเหมือนใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรก (ขณะแล่นอยู่โดยไม่เร่งเครื่อง) เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ควรเข้าเกียร์ว่างทันที เพื่อป้องกันปัญหาเครื่องหยุดทํางาน และแตะเบรกเบาๆ ถ้ารถของท่านระบายความร้อนด้วยน้ำ อย่ารีบร้อนเปิดฝาหม้อน้ำเพราะอาจถูกน้ำร้อนลวกได้ ควรรอให้เครื่องยนต์เย็นพอสมควรจึงค่อยตรวจดูน้ำมันเครื่อง และน้ำหล่อเย็น
ถ้าเกิดยางระเบิด - ควรตั้งสติควบคุมรถให้ดี ใช้เข่าทั้งสองข้างบีบถังน้ำมัน ปล่อยให้รถช้าลงด้วยตัวของมันเองแล้วจึงใช้ห้ามล้อ และนํารถเข้าจอดในที่ปลอดภัย
ถนนมีหลุมลึก - หาหจำเป็นต้องขับขี่ผ่านหลูมลึกหรือผิวถนนที่ขระขระมากๆ ควรยืมขึ้นในลักษณะย่อเข่าเล็กน้อย พร้อมทั้งโยกตัวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับระดับตัวรถที่เอียงเมื่อขับผ่านหลุมหรือเนินต่างๆ จะช่วยให้ควบคุมรถได้ดีกว่าการนั่ง
เบรกแล้วล้อล็อก - ในกรณีเบรกแล้วล้อล็อก สำหรับรถที่ไม่มีระบบ ABS ส่วนมากมักเกิดที่ล้อหลัง ดังนั้น เมื่อเกิดการล็อคและลื่นไถลของล้อควรใช้น้ำหนักของเบรกหน้าเพิ่มขึ้นหรือควรผ่อนเบรกหลังและเพิ่มแรงสลับกันถี่ๆ เพื่อให้ล้อหมุนกลิ้งกับพื้นถนนให้มากที่สุด และหากเกิดกับล้อหน้าให้ใช้วิธีเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางของรถและลดความเร็วลงได้อย่างปลอดภัย
การใช้รถใช้ถนนไม่ว่าเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือแม้แต่จักรยาน ย่อมมีกฏระเบียบในการใช้ถนนสาธารณะเป็นมาตรฐาน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เราควรขับรถให้ถูกกฏ และควรรู้วิธีการขับขี่อย่างปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย จะช่วยลดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งเพิ่มวินัยจราจร และที่สำคัญอาจทำให้ปัญหารถติดลดน้อยลงอีกด้วยนะครับ