ชนิดน้ำมันหล่อลื่นของจักรยานยนต์
จักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันหันมาใช้เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะมากขึ้น เนื่องจากสมรรถนะโดยรวมที่ดีกว่าแบบ 2 จังหวะ อีกทั้งยังประหยัดเชื้อเพลิง และปล่อยมลพิษน้อยกว่า บริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจักรยานยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้นตามไปด้วย และสิ่งสำคัญ ที่เราควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลรักษาเครื่องยนต์ 4 จังหวะ อันดับแรกก็คือ "น้ำมันหล่อลื่น"
น้ำมันหล่อลื่นสำหรับจักรยานยนต์นั้นที่จริงแล้ว ใช้มาตรฐานเดียวหรือใกล้เคียงกับรถยนต์นั่นเอง แตกต่างกันที่เกรด และขนิดของพื้นฐานน้ำมันที่ใช้ผลิต เช่น SAE (Society Of Automotive Engineers) หรือสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้วางมาตรฐานโดยแบ่งตามค่าความข้นใส SAE 5W-40 คือ มาตรฐานอเมริกา ที่อุณหภูมิต่ำประมาณ -25 องศา ความหนืดอยู่ที่ 5 (W/ บ่งบอกว่าฤดูหนาว) ส่วนเมื่ออุณหภูมิสูงๆ ไม่เกิน 100 องศา ค่าความหนืดอยู่ที่ 40
สำหรับน้ำมันหล่อลื่นจักรยานยนต์นั้นมีหลายชนิดให้เลือก ขึ้นอยู่กับประเภท แบบ หรือรุ่นของเครื่องยนต์รวมทั้งลักษณะการใช้งานในภูมิประเทศนั้นๆ เป็นหลักครับ
ชนิดของน้ำมัน
1.น้ำมันเครื่องเกรดมาตรฐานทั่วไป
ผลิตจากน้ำมันแร่ซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันดิบโดยตรง คือ เป็นน้ำมันชนิดเกรดธรรมดา ที่ไม่ใช่กึ่งสังเคราะห์ หรือสังเคราะห์ มีตั้งแต่ 20W-40, 20W-50 เป็นต้น โดยน้ำมันชนิดนี้จะไม่มีระบุคำว่า "Synthetic หรือ Semi Synthetic" เช่น พีทีที ไฮสปีด 4ที (Ptt hi-speed 4 T) SAE 20W-40 - API SG , คาสตรอล แอคทีฟ โก! 4ที SAE 20W/40 - JASO MA
เหมาะสำหรับรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะทั่วไปที่เน้นใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ใช้ความเร็วสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หรือใช้ความเร็วสูงๆ บางครั้ง และราคาค่อนข้างถูกกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ
2. น้ำมันเครื่องแบบกึ่งสังเคราะห์ (Semi-Synthetic)
ผลิตจากการนำน้ำมันแร่มาผสมกับน้ำมันพื้นฐานสังเคราะห์เพื่อเสริมคุณสมบัติให้ดีขึ้นกว่าน้ำมันเครื่องทั่วไป และมีราคาถูกกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ มีค่าความหนืดที่ 10W-30, 10W-40 เป็นต้น เช่น พีทีที ชาเลนเจอร์ 4ที (CHALLENGER 4T) SAE 10W-40, ยามาฮ่า อีโค่พลัส (Yamalube ECO PLUS) 10W-40
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสมรรถนะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเน้นความประหยัดด้านราคา ซึ่งคุณภาพจะดีกว่าในชนิดธรรมดา และยืดอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้มากกว่า
3.น้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์ หรือ (Fully Synthetic)
ผลิตจากน้ำมันซึ่งสังเคราะห์ขึ้น เพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าน้ำมันแร่ทั่วไป ช่วยเพิ่มความคงทนต่อการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อายุการใช้งานนานขึ้น มีค่าความหนืดที่ 5W-40, 10W-40 เป็นต้น เช่นชาเลนเจอร์ ซินเธติก 4ที (Ptt CHALLENGER SYNTHETIC 4T ) SAE 5W-40, โมตุล เอช-เทค 100 ซินเธติก Motul H-TECH 100 Synthetic 100% 4T 10w-40
เหมาะสำหรับรถสมรรถนะสูง หรือผู้ต้องการความทนทาน และการปกป้องชิ้นส่วนที่ดีขึ้น หรือใช้ความเร็วสูง รอบจัดๆ เป็นเวลานานๆ อย่างเช่น วิ่งทางไกลบ่อยๆ เพื่อการหล่อลื่นและลดการสึกหรอได้ดีขึ้นพร้อมยืดอายุการถ่ายน้ำมันเครื่องได้นานกว่าทั้ง 2 ชนิดข้างต้น
4. น้ำมันเครื่องชนิดเกรดเดียว (Monograde)
การกำหนดด้วย SAE (Society Of Automotive Engineers) หรือสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้วางมาตรฐานโดยแบ่งตามค่าความข้นใส ได้แก่ SAE 0W, 5W, 10W, 15W, 20W, 25W อักษร W (Winter) สำหรับใช้ในเขตหนาว และ SAE 20, 30, 40, 50 และ 60 สำหรับใช้ในเขตร้อน เช่น พีทีที แม็กซ์สปีด 4ที (PTT MAX SPEED 4T) SAE 40, เวลลอย 4T เอทีดับบลิว สเปเชียล เบอร์ 40 (VELOIL 4T ATW SPECIAL) SAE 40 เป็นต้น
เหมาะสำหรับรถจักรยานยนต์ทุกชนิด ที่เน้นประหยัด ใช้งานไม่หนักมาก แต่ระยะการเปลี่ยนถ่ายก็สั้นลงตามไปด้วย คุณภาพจะด้อยกว่าทั้ง 3 ชนิดข้างต้น แม้จะด้อยกว่า แต่ก็ช่วยลดการสึกหรอได้เช่นกัน ใช้ได้ดีกับรุ่นหรือรถที่ผ่านการใช้งานมานานๆ แล้ว
สำหรับระยะทางที่ควรเปลี่ยนแต่ละครั้งนั้น ดูตามที่ระบุเอาไว้ในคู่มือครับ ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ ทุกๆ 2,000 - 3,000 กิโลเมตร หรือทุก 2-4 เดิอน แล้วแต่อย่างใดถึงก่อน รวมทั้งตามชนิดของน้ำมันด้วย ยิ่งชนิดสังเคราะห์แท้ อายุจะนานออกไปกว่าแบบอื่นประมาณ 2,000-3,000 กิโลเมตร (บวกลบ) ครับ
เมื่อทราบคุณสมบัติ และชนิดของน้ำมันเครื่องแล้ว ควรเลือกให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ รุ่น และลักษณะการใช้งานนะครับว่ารถของเรา หรืองานใช้งานในชีวิตประจำวันนั้นมีลักษณะอย่างไร แล้วก็อย่าลืมดูความจำเป็นและทุนทรัพย์ของเราว่าพร้อมที่จะใช้ชนิดที่มีเกรดสูงๆ หรือไม่ด้วย เพราะราคาของชนิดสังเคราะห์แท้ย่อมสูงกว่าชนิดธรรมดาทั่วไปแน่นอนครับ