โครงการช้อปดีมีคืน 2566 มาตรการที่รัฐบาลมอบเป็นของขวัญปีใหม่ เน้นการบริการภายในประเทศ เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2566 กระทรวงการคลังกำหนดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า-บริการมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท กลุ่มเป้าหมายของโครงการ จะเน้นในกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และการอ่าน อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
โครงการช้อปดีมีคืน 2566 กรมสรรพากรได้ขยายการซื้อสินค้า-บริการเพิ่ม โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมาตรการช้อปดีมีคืนได้เป็นครั้งแรกด้วย
ใครสามารถใช้สิทธิ ช้อปดีมีคืน 2566 ได้บ้าง?
ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ที่ต้องการนำค่าใช้จ่ายจากโครงการช้อปดีมีคืนไปลดหย่อนภาษี 2566 ที่จะต้องยื่นแบบในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ในช่วงที่มีการให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยสามารถใช้สิทธิได้เลยไม่ต้องลงทะเบียนสมัครช้อปดีมีคืน
เงื่อนไข ช้อปดีมีคืน 2566
- ซื้อสินค้า หรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 66
- ต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้เท่านั้น ยกเว้นการซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) และหนังสือหรือ E-book ที่ใช้ใบเสร็จรับเงินได้ โดยระบุชื่อ-นามสกุลให้ชัดเจน
- สินค้า และบริการที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษี VAT หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- หากจ่ายค่าสินค้าในปี 2565 แต่ไปใช้บริการในวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 66 จะไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้ เพราะถือว่าไม่ได้ใช้จ่ายในช่วงเวลาที่กำหนด
ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษี 40,000 บาท ซื้ออะไรได้บ้าง?
- สินค้า-บริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
- สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน
รายการที่ไม่ร่วมรายการลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
- ค่าบริการอีบุ๊ก
- ค่าที่พักโรงแรม
- ค่าไกด์นำเที่ยว
- ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต)
- ค่าเบี้ยประกัน
ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ?
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท แบ่งได้ดังนี้
- ค่าซื้อสินค้า-บริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
- ค่าซื้อสินค้า-บริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
กรณีที่ซื้อสินค้า 40,000 บาท ไม่ได้แปลว่าจะหักภาษีได้ 40,000 บาท แต่จะลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่นั้นอยู่ที่ฐานภาษีของตนเอง ต้องคำนวณจากเงินได้สุทธิที่เหลืออยู่ด้วย
โครงการช้อปดีมีคืน 2565 มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุดเท่าไหร่ ?
- เงินได้สุทธิต่อปี 0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ได้สิทธิคืนภาษี)
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001 - 300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 2,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001 - 1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 8,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001 - 2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001 - 5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 12,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 14,000 บาท)
ทั้งนี้ หากมีเงินได้สุทธิ 600,000 บาท ฐานภาษีอยู่ที่ 15% หากใช้จ่ายช้อปดีมีคืน 2566 เต็มวงเงิน 40,000 บาท จะหักลดหย่อนภาษีได้ 6,000 บาท
ขอใบเสร็จ/ใบกำกับภาษีมา ควรเช็คอะไรบ้าง?
- มีชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขาย
- ระบุชื่อนามสกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชนของคุณตามบัตรประชาชน
- ระบุวันที่ซื้ออยู่ภายในช่วงเวลาที่กำหนด
- ใบเสร็จมีการระบุเลขที่ใบเสร็จชัดเจน
- แจกแจงรายละเอียดสินค้าครบถ้วนถูกต้อง
- ระบุยอดรวมค่าซื้อถูกต้อง
กรมสรรพากรยังประเมินว่า ช้อปดีมีคืน 2566 น่าจะมีคนใช้งานถึง 1.4 ล้านคน และจะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 12,000 ล้านบาท แม้ว่าจะสูญเสียภาษีไปประมาณ 6,200 ล้านบาท และยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ขอบคุณข้อมูลจาก www.sanook.com และกรมสรรพากร