การเสียภาษี ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปกติภาครัฐก็จะมีมาตรการลดหย่อนภาษีที่ใช้เป็นตัวช่วย เพื่อลดภาระ และส่งเสริมการใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันชีวิต หรือการลงทุนในกองทุนรวมบางประเภท นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือดอกเบี้ยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท จะมีเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อควรรู้อะไรบ้างตามมาดูกันค่ะ
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้าน
โดยปกติ ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ผู้กู้สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน สามารถใช้ดอกเบี้ยที่จ่ายจริงในปีภาษีนั้นๆ มาลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย คือ เป็นสินเชื่อที่ใช้เพื่อซื้อ สร้าง หรือต่อเติมที่อยู่อาศัยเท่านั้น เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม หรืออาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
- ครอบคลุมถึงการรีไฟแนนซ์ ในกรณีที่เรามีการรีไฟแนนซ์บ้าน ดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารใหม่ (รวมถึงดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารเดิมก่อนรีไฟแนนซ์ในปีเดียวกัน) จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ใช่ค่างวดทั้งหมด ซึ่งหากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะคำนวณเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่รวมส่วนที่เป็นเงินต้นหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประกัน MRTA หรือค่าธรรมเนียม
- กรณีกู้ร่วม สิทธิในการลดหย่อนภาษีจะถูกแบ่งตามสัดส่วนการกู้ เช่น หากกู้ร่วมสองคน ดอกเบี้ยที่สามารถลดหย่อนต่อคนจะเป็นคนละ 50% ของดอกเบี้ยที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
วิธีใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน
- ขอเอกสารรับรองดอกเบี้ยจากธนาคาร ปกติธนาคารที่เรากู้ยืมจะออกเอกสารรับรองดอกเบี้ยที่เราจ่ายในปีภาษีนั้น ซึ่งเราอาจจะติดต่อธนาคารเพื่อขอเอกสารนี้ล่วงหน้าได้ แต่โดยปกติธนาคารจะออกให้ทุกสิ้นปี หรือต้นปี เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการจ่ายดอกเบี้ย
- ยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ ในกรณีที่เรายื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ (E-Filing) เราสามารถแจ้งให้คำยินยอมกับธนาคาร เพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้ ในการส่งข้อมูลดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่กรมสรรพากร ซึ่งธนาคารจะดำเนินการจัดส่งข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปอยู่ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรโดยตรง เราสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้านได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลเอง แต่ทั้งนี้ธนาคารยังคงจัดส่งเอกสารรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้ตามปกติ
- ควรตรวจสอบวงเงินสูงสุดในการใช้ลดหย่อนภาษี สำหรับดอกเบี้ยที่สามารถลดหย่อนได้ต้องไม่เกิน 100,000 บาท หากดอกเบี้ยที่เราจ่ายเกินวงเงินนี้ ส่วนเกินจะไม่นำมาคิดในการลดหย่อนภาษี
ตัวอย่างการคำนวณลดหย่อนภาษี - นาย A มีรายได้ต่อปีที่ต้องเสียภาษีในอัตรา 20%
|
- นาย A จ่ายดอกเบี้ยบ้านตลอดปี 2567 เป็นเงิน 90,000 บาท
|
- การลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยนี้จะช่วยให้ นาย A ประหยัดภาษีได้ 90,000×20% = 18,000 บาท
|
- กรณีกู้ร่วม หากนาย A กู้ร่วมกับนาง B ดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายทั้งสิ้นในปี 2567 จำนวน 90,000 บาท สิทธิลดหย่อนภาษีจะถูกแบ่ง 50% คนละ 45,000 บาท โดยแต่ละคนสามารถลดหย่อนได้ตามสัดส่วนรายได้ของตน
|
ข้อควรรู้สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน และการลดหย่อนภาษี
- รีไฟแนนซ์บ้านเพื่อดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยบ้านปัจจุบันสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด การรีไฟแนนซ์ไม่เพียงช่วยลดภาระดอกเบี้ย แต่ยังเพิ่มโอกาสในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย และควรเปรียบเทียบธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ต่ำสุด เพื่อให้ได้ทั้งดอกเบี้ยที่ลดลง และสิทธิลดหย่อนภาษีที่คุ้มค่า
- เก็บเอกสารให้ครบถ้วน เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรีไฟแนนซ์ เช่น หนังสือรับรองดอกเบี้ยหรือสัญญาสินเชื่อ ควรจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้พร้อมเมื่อต้องใช้ประกอบการยื่นภาษีประจำปี
สรุปแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านนอกจากช่วยลดดอกเบี้ยและภาระผ่อนชำระต่อเดือนแล้ว ยังสามารถช่วยให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ช่วยประหยัดเงินในรูปแบบที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ นั่นคือ ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี อย่าลืม! ใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้ในปีภาษีหน้า เพื่อความคุ้มค่าทางการเงินกันนะคะ:)