ปลายปีแบบนี้ก็ถึงเวลาเตรียมเช็กเตรียมเอกสารสำหรับยื่นเสียภาษีรอบปี 2567 กันอีกแล้วนะคะ และตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราประหยัดภาษีได้ไม่มากก็น้อยก็คือการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั่นเอง ซึ่งแต่ละปีก็จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีต่างกันออกไปนะคะ วันนี้พาไปเช็กลิสต์อัปเดตกันค่ะว่าในรอบปีภาษี 2567 มีตัวช่วยลดหย่อนอะไรเพิ่ม หรือว่าลดไปบ้าง... เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้จะได้ไม่พลาดใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของเรานะคะ
✅ ค่าลดหย่อนพื้นฐาน (ส่วนตัวและครอบครัว)
ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนคู่สมรส (ต้องจดทะเบียนสมรส) | 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร | ไม่เกิน 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนบุตร กรณีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป (เกิดตั้งแต่ปี 2561) | คนละ 30,000 บาท |
คนละ 60,000 บาท |
ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา-มารดา | คนละ 30,000 บาท |
ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ-ทุพพลภาพ | คนละ 60,000 บาท |
1️⃣ ค่าลดหย่อนส่วนตัว
ลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท โดยผู้เสียภาษีจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้ทันทีที่ทำการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด. 91)
2️⃣ ค่าลดหย่อนคู่สมรส
- ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
- ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายกำหนด
- คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ต้องเป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือไม่มีรายได้ในปีนั้นๆ
- กรณีมีเงินได้ทั้งคู่ กฎหมายอนุญาตให้ยื่นภาษีรวมกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้
3️⃣ ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และจะต้องเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรที่จ่ายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป มีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นค่าฝากครรภ์ หรือคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
- กรณีที่ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามปีที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- กรณีที่ต้องยื่นภาษีทั้งสามีและภรรยา กฎหมายกำหนดให้ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรเป็นของภรรยา แต่หากภรรยาไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้นๆ สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้
- ใช้ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อน
4️⃣ ค่าลดหย่อนบุตร มีเงื่อนไขดังนี้
- ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย ลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท
- บุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนบุตรได้คนละ 60,000 บาท
5️⃣ ค่าลดหย่อนบิดามารดา
ค่าลดหย่อนบิดามารดาตัวเอง ลดหย่อนพ่อแม่ได้คนละ 30,000 บาท มีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย (พ่อแม่แท้จริง)
- พ่อแม่ ต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
- พ่อแม่ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- สำหรับคนมีพี่น้อง กฎหมายกำหนดให้ค่าลดหย่อนบิดามารดาใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถยื่นซ้ำกันได้ อาจต้องคุยกันในกลุ่มพี่น้องว่าใครจะรับสิทธิในส่วนนี้
- ต้องใช้หนังสือรับรองการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03) พร้อมให้พ่อแม่เซ็นชื่อกำกับเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย
6️⃣ ค่าลดหย่อนผู้พิการทุพพลภาพ
ลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเอกสารที่ต้องใช้เป็นหลักฐานคือ
- บัตรประจำตัวผู้พิการ หรือใบรับรองแพทย์
- เอกสารรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ทุพพลภาพ (ลย.04)
✅ ค่าลดหย่อนประกันและการลงทุน
ค่าลดหย่อนประกันสังคม | 9,000 บาท |
ค่าลดหย่อนประกันชีวิต, ประกันแบบสะสมทรัพย์ | ไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าลดหย่อนประกันสุขภาพ | ไม่เกิน 25,000 บาท |
ค่าลดหย่อนประกันสุขภาพของบิดา-มารดา | ไม่เกิน 15,000 บาท |
ค่าลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญ | ไม่เกิน 200,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการออม SSF | ไม่เกิน 200,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF | ไม่เกิน 500,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD | ไม่เกิน 500,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กบข. | ไม่เกิน 500,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | ไม่เกิน 500,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนการออมแห่งชาติ กอช. | ไม่เกิน 30,000 บาท |
ค่าลดหย่อนกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน Thai ESG | ไม่เกิน 300,000 บาท |
1️⃣ ค่าลดหย่อนประกันสังคม
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมในปี 2567 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 9,000 บาท
2️⃣ ค่าลดหย่อนประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
3️⃣ ค่าลดหย่อนประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพของบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลย ไม่ต้องให้พ่อแม่มีอายุครบ 60 ปี
4️⃣ ค่าลดหย่อนประกันแบบบำนาญ
ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
5️⃣ ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการออม Super Saving Fund (SSF)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 มีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อกองทุน
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน SSF และไม่ต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปี
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ภายในปี 2563 - 2567
6️⃣ ค่าลดหย่อนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ Retirement Mutual Fund (RMF)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษีตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 มีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และสามารถขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF แต่จะต้องทำการซื้อต่อเนื่องทุกปี
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ได้ในปีที่เริ่มลงทุน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
7️⃣ ค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Provident Funds (PVD) และ ค่าลดหย่อนกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
8️⃣ ค่าลดหย่อนกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
9️⃣ ค่าลดหย่อนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท และเมื่อรวมกับ RMF, กบข, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
🔟 ค่าลดหย่อนกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน Thai ESG
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท/คน/ปี ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2569 เท่านั้น
✅ ค่าลดหย่อนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ค่าลดหย่อน Easy e-Receipt 2567 | ไม่เกิน 50,000 บาท |
ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 | ไม่เกิน 15,000 บาท |
ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัย | ไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 | ไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าลดหย่อน Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) | ไม่เกิน 100,000 บาท |
1️⃣ ค่าลดหย่อนโครงการ Easy e-Receipt 2567
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
2️⃣ ค่าลดหย่อนโครงการเที่ยวเมืองรอง 2567
ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง 55 จังหวัด ระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
3️⃣ ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัย
คนผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด สามารถนำดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อที่อยู่อาศัยมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มีเงื่อนไขดังนี้
- กรณีกู้ร่วม สิทธิลดหย่อนภาษีจะเฉลี่ยตามจำนวนคนร่วมกู้ เช่น กู้ 2 คน จะได้สิทธิคนละ 50,000 บาท
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับการซื้อที่อยู่อาศัยกี่หลังก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ใช้เอกสารรับรองการจ่ายดอกเบี้ยเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย
4️⃣ ค่าลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ (มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ 2567)
ผู้ที่สร้างบ้านใหม่ในปี 2567 สามารถนำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านมาลดหย่อนภาษีได้ มีเงื่อนไขดังนี้
- ค่าจ้างก่อสร้างบ้านทุกๆ 1 ล้านบาท นำไปลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท (ค่าก่อสร้างบ้านสูงสุดต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท)
- ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีที่ก่อสร้างเสร็จ
- ต้องเป็นค่าจ้างจ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มและดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน
- ผู้รับจ้างต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสัญญาต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ผ่านอินเตอร์เน็ตกับกรมสรรพากร
5️⃣ ค่าลดหย่อนลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป | ไม่เกิน 10% |
ค่าลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา, โรงพยาบาล | ไม่เกิน 10% |
ค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมือง | ไม่เกิน 10,000 บาท |
1️⃣ ค่าลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
2️⃣ ค่าลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา โรงพยาบาล พัฒนาสังคม
ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
3️⃣ ค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมือง
ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เตรียม + เช็ก เอกสารลดหย่อนที่มีอยู่ในมือกันได้แล้วนะคะ การวางแผนภาษีเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่การหนีภาษีนค่ะ เพราะมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว จะเสียภาษีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีและค่าลดหย่อนที่เรามี อย่าลืมติดตามข่าวสารของทางสรรพากรให้ดี ยื่นแบบเมื่อไหร่จะได้ไม่พลาดนะคะ
ขอบคุณข้อมูล : กรมสรรพากร, FINNOMINA, CIMB THAI, KBank, เพจหมอยุ่งอยากมีเวลา