หนี้บ้าน เป็นหนี้ก้อนโตระยะยาวที่ต้องใช้ระยะเวลาผ่อนนาน 20 - 30 ปี คนเป็นหนี้บ้านที่อยากปิดจบภาระหนี้เร็วๆ อยากเป็นเจ้าของบ้านจริงๆ สักที ก็มักจะหาตัวช่วยที่จะทำให้ผ่อนบ้านหมดไวๆ ซึ่ง
"การรีไฟแนนซ์บ้าน" ถือเป็นตัวช่วยอันดับหนึ่งที่คนเป็นหนี้บ้านมักเลือกใช้กันค่ะ และวันนี้…ก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน
เราจะพามาดู
5W Question ต้องรู้! ว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะมือใหม่เรื่องการเป็นหนี้บ้าน ตามมาดูกันเลย…
What : การรีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร
การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอสินเชื่อกับธนาคารใหม่ เพื่อมาปิดหนี้กับธนาคารเดิม ทั้งนี้ การรีไฟแนนซ์ จะมีขั้นตอน และค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ เหมือนการยื่นขอสินเชื่อใหม่ ดังนั้นก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน เราควรเลือกเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้รอบคอบด้วยนะคะ
Why : ทำไมต้องรีไฟแนนซ์
เนื่องจากการรีไฟแนนซ์จะมีขั้นตอนในการดำเนินการหลายขั้นตอน เหมือนการยื่นขอสินเชื่อใหม่ รวมถึงยังมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องรีไฟแนนซ์ เราลองมาดูเหตุผลหลักๆ ของการรีไฟแนนซ์ กันค่ะ
- ต้องการลดอัตราดอกเบี้ย หรือต้องการดอกเบี้ยที่ถูกลง
- ต้องการลดระยะเวลาการผ่อนชำระ เพื่อให้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น
- ต้องการยืดระยะเวลาผ่อน เพื่อให้ยอดผ่อนต่อเดือนน้อยลง ช่วยให้ผ่อนสบายขึ้น
- ต้องการวงเงินเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่อง หรืออาจนำไปต่อเติมบ้านที่อยู่อาศัย
|
Where : รีไฟแนนซ์ที่ไหนดี
ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ก
ารรีไฟแนนซ์บ้านช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้อย่างไร และควรเลือกเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากหลายๆ ธนาคารก่อน โดยอาจจะมองหาดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเดิม ยิ่งมากยิ่งดี หรืออาจจะเลือกเปรียบเทียบจาก ค่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เช่น
ธนาคาร | อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี) | อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี | อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา |
ปีที่ 1 | ปีที่ 2 | ปีที่ 3 | หลังจากนั้น |
ธนาคาร A | MLR - 5.225%= 2.950% | MLR - 4.700% = 3.475% | MLR - 4.700% = 3.475% | MLR - 2.000%= 6.175% | 3.300% | 5.414% |
ธนาคาร B | 2.09% | MRR - 3.51% = 3.79% | MRR - 2.91% = 4.39% | MRR - 1.55% = 5.75% | 3.42% | 5.04% |
ธนาคาร C | 1.99% | 4.00% | MRR - 2.79% = 4.51% | MRR - 2.00% = 5.30% | 3.50% | 4.59% |
หมายเหตุ : 1. ธนาคาร A อัตราดอกเบี้ย MLR = 8.175% ต่อปี / 2. ธนาคาร B อัตราดอกเบี้ย MRR = 7.30% ต่อปี / 3. ธนาคาร C อัตราดอกเบี้ย MRR = 7.30% ต่อปี |
จากตัวอย่างในตารางข้างต้น หากผู้กู้ต้องการรีไฟแนนซ์มาเพื่อผ่อนต่อระยะสั้นๆ อาจเลือกธนาคาร C ที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ ในช่วงต้น เพราะหากมีเงินก้อนไปโปะหนี้ช่วงปีแรกได้มาก ยอดหนี้ก็จะลดลงไปมาก และเสียดอกเบี้ยน้อย แต่หากต้องการผ่อนต่อไปตามปกติ อาจจะเลือกพิจารณาธนาคารที่มีค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกต่ำกว่า เช่น ธนาคาร A เพราะเมื่อผ่อนต่อในระยะเวลา 3 ปีถัดมา ก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ทั้งนี้ หากยอดหนี้ยังคงสูงมากอยู่เมื่อผ่อนครบกำหนดระยะเวลาที่จะสามารถรีไฟแนนซ์แล้ว ผู้กู้ก็ยังคงรีไฟแนนซ์ต่อไปยังธนาคารอื่นๆ ได้อีก โดยอาจจะเลือกเปรียบเทียบในลักษณะเดียวกันค่ะ
อย่าลืม! เมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยแล้ว ควรพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมในการดำเนินการประกอบด้วยนะคะ เช่น ฟรีค่าจดจำนอง ฟรีค่าประกันอัคคีภัย ฟรีค่าประเมินหลักทรัพย์ เป็นต้น หากธนาคารไหนมีโปรโมชันโดนใจ ดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้ สามารถยื่นเอกสารให้ธนาคารพิจารณาวงเงินกู้ได้เลยค่ะ
When : เมื่อไหร่ถึงควรรีไฟแนนซ์
โดยปกติธนาคารจะมีโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 1 - 3 ปี แรก หลังจากนั้นจะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งธนาคารจะมีเงื่อนไขระบุมาในสัญญากู้ยืมด้วยว่า ผู้กู้จะสามารถรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน ไปธนาคารใหม่ได้เมื่อถึงระยะเวลาเท่าไหร่ โดยปกติจะอยู่ที่ 3 - 5 ปี ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดค่ะ และหากรีไฟแนนซ์ก่อนครบกำหนดตามสัญญา จะต้องเสียค่าปรับ Prepayment ประมาณ 2% - 3% ของยอดเงินต้นคงค้าง
- ควรรีไฟแนนซ์ไปธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้
- สามารถรีไฟแนนซ์ได้ตลอด จนกว่าเมื่อคำนวณแล้วพบว่าค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียไม่คุ้มกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้ลดลง
- ธนาคารจะมีกำหนดวงเงินขั้นต่ำที่จะสามารถรีไฟแนนซ์ได้ เช่น ยอดเงินต้นคงค้างต้องมากกว่า 500,000 บาท เป็นต้น
(ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับธนาคารที่จะยื่นขอสินเชื่ออีกครั้ง) |
Who : ใคร…ได้ประโยชน์อย่างไร
สำหรับเรื่องการรีไฟแนนซ์ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือผู้ขอสินเชื่อค่ะ เพราะเมื่อรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยก็ลดลง ยอดผ่อนต่อเดือนน้อยลง ไม่เครียด ผ่อนสบาย เงินเหลือใช้จ่าย ได้ปิดจบหนี้บ้านไวๆ สุดท้ายก็ Happy Ending ค่ะ
สรุปแล้ว สำหรับคนที่ขอสินเชื่อบ้านแล้วอยากปิดจบภาระหนี้ไวๆ ทางเลือกการ รีไฟแนนซ์บ้าน อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้จริง และช่วยให้เราผ่อนหมดได้ไวขึ้น แต่...ทั้งนี้ เราควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ ธนาคารก่อนตัดสินใจด้วยนะคะ