อยู่ๆ ก็เป็นหนี้โดยไม่ทันได้เตรียมตัว เป็นผลจากการค้ำประกันหนี้ให้กับผู้อื่น มีหลายเคสที่เกิดขึ้นในสังคม เรื่องของการค้ำประกันให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อใจ ความไว้ใจ หรือเพราะความสงสารก็ตาม แต่ผลสุดท้าย หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด หรือหนีหนี้ไป ภาระหนี้ก้อนนั้นก็จะตกมาถึงผู้ค้ำประกันนั่นเองค่ะ
การค้ำประกันคืออะไร?
การค้ำประกัน คือ กระบวนการที่บุคคลหนึ่งจะยอมรับผูกพันตัวเพื่อให้ประกันความเสียหายหรือหนี้สินของบุคคลอื่นในกรณีที่บุคคลนั้นไม่สามารถชำระหนี้หรือจ่ายค่าเสียหายได้ตามข้อตกลงในสัญญา เช่น "ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน" ซึ่งเมื่อมีการทำสัญญาลักษณะนี้เจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิเรียกร้อง หรือฟ้องให้คนค้ำประกันรับผิดแทนได้ เพราะเป็นการประกันการชำระหนี้ให้บุคคลอื่น
ควรพิจารณาอะไร ก่อนตัดสินใจค้ำประกัน
ก่อนตัดสินใจค้ำประกันให้คนอื่น เราควรถามตัวเองว่าเรามีความพร้อมที่จะรับภาระหนี้ก้อนนั้นมากแค่ไหน หากลูกหนี้ตัวจริงเบี้ยวหนี้ พร้อมทั้งควรสังเกตุดูด้วยว่าลูกหนี้ที่เราจะค้ำประกันให้นั้น น่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้เพียงพอที่จะไม่เบี้ยวหนี้จริงหรือไม่ ซึ่งต่อให้เราพิจารณาเบื้องต้นเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็ยังอาจมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้คืนได้ เช่น ตกงาน ร้านเจ๊ง เก็บเงินไม่ได้ ลูกค้าไม่จ่าย เป็นต้น
ดังนั้น...เราขอสรุปข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ไว้ ดังนี้ค่ะ
- สอบถามวัตถุประสงค์ของการค้ำประกันเงินกู้ เราควรสอบถามรายละเอียดต่างๆ จากคนที่จะให้เราเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ว่าต้องการเงินไปทำอะไร วงเงินเท่าไร เหตุใดจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากเรา เช่น เงินไม่พอใช้จ่าย หรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เป็นต้น
- ประเมินความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ โดยเราอาจดูภาพรวมเบื้องต้นว่าคนที่จะให้เราค้ำประกันเงินกู้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ สอบถามข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เพราะหากเราดูแล้วว่าเขาไม่น่าจะสามารถจ่ายหนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการค้ำประกัน เพราะมีโอกาสสูงที่เราจะต้องรับผิดชอบแทน
- ประเมินสถานะทางการเงินของตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจค้ำประกันหนี้ให้ใคร ควรคำนึงไว้เสมอว่า ถ้าเราช่วยเขาแล้ว เราจะมีโอกาสกลายเป็นคนที่เดือดร้อนไปด้วยหรือไม่ เช่น หากเขาเบี้ยวหนี้เราจะจ่ายแทนไหวไหม ภาระที่ต้องรับผิดชอบหนี้แทนคนอื่นจะทำให้กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือกระทบเงินเก็บยามฉุกเฉินของเราหรือไม่
- พิจารณาความจำเป็นในการใช้เงินในอนาคต หากเรามีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน หรือมีเงินเก็บเพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคต เช่น ค่าเทอมลูก ค่าผ่อนรถ แต่วันใดวันหนึ่งที่ผู้กู้เบี้ยวหนี้ จนเราซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ต้องช่วยชำระหนี้ก้อนนั้นแทน โดยเราอาจจะต้องเอาเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในอนาคต มาจ่ายหนี้แทนไปก่อน ถึงตอนนั้น เราจะกลายเป็นผู้เดือนร้อนเสียเอง
พึงคิดไว้เสมอว่า หากเรายังมีภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วเกิดเหตุไม่คาดคิดจนทำให้เราต้องมาเป็นหนี้ เราจะมีหนทางแก้ไขอย่างไร หรือจะปิดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงเรื่องเหล่านี้ โดยหลีกเลี่ยงการเป็นผู้ค้ำประกันไปเลย
วิธีป้องกันความเสียหาย หรือลดความเสี่ยงจากการเป็นผู้ค้ำประกัน
หากพิจารณาเรื่องข้างต้นแล้วเรายังตัดสินใจที่จะเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราควรหาวิธีป้องกันความเสียหาย หรือลดความเสี่ยงเรื่องการค้ำประกัน ดังนี้ค่ะ
- กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะช่วยเหลือ เช่น ค้ำประเงินกู้ไม่เกิน 20,000 บาท (เรารับภาระได้เท่านี้ โดยไม่เดือดร้อน) การกำหนดจำนวนเงินสูงสุดแบบนี้ จะช่วยป้องกันความเสียหายเท่าที่เรายอมรับได้ หากไม่ได้เงินที่ให้ยืมไปคืนหรือต้องจ่ายหนี้แทน
- อ่านเงื่อนไขการค้ำประกันให้ครบถ้วน ก่อนที่จะลงชื่อในสัญญาค้ำประกันใดๆ ควรอ่านรายละเอียดในสัญญาให้ครบถ้วนก่อนลงชื่อทุกครั้ง ว่าเป็นการค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าไร (เป็นไปตามที่ตกลงหรือไม่) รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ของการค้ำประกันเงินกู้เพราะหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกร้องให้เราชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน
- เก็บสัญญาการค้ำประกันเงินกู้ไว้เป็นหลักฐาน ควรเก็บสำเนาสัญญาหนังสือค้ำประกันเงินกู้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ทราบถึงสิทธิ์ และขอบเขตความรับผิดชอบจากการค้ำประกันเงินกู้ตามสัญญา
สุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ก่อนที่เราจะตัดสินใจช่วยเหลือใคร เราก็ควรหันมามองดูตัวเองก่อนว่าสามารถช่วยเหลือได้เต็มที่แค่ไหน จะเดือดร้อนหรือไม่ หากถึงเวลาที่เราเดือดร้อนบ้างเราจะหันหน้าไปพึ่งใคร นึกถึงใจเขา ใจเรา ช่วยเต็มที่เท่าที่เราจะพอทำได้นะคะ ถ้าตอนนี้ยังช่วยไม่ไหวก็อาจจะให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำไปก่อน หรือช่วยตามสมควรนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย