ข้อดีของอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก : หากผู้กู้มีการผ่อนชำระในแต่ละงวด ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะถูกลงไปเรื่อยๆ ยิ่งเงินต้นลดลง ดอกเบี้ยก็จะลดลงตามไปด้วย เหมาะสำหรับ คนที่วางแผนที่จะปิดยอดหนี้ก่อนกำหนดหรือต้องการโปะยอดหนี้ เพื่อให้หมดหนี้ได้เร็วขึ้น
ดอกเบี้ยคงที่ VS ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก เลือกแบบไหนดี?
ทราบวิธีการคิด และเห็นความแตกต่างของดอกเบี้ยคงที่ และดอกเบี้ยลดต้นลดดอกกันไปแล้ว ถึงเวลาต้องเลือกจะเลือกผ่อนดอกเบี้ยแบบไหนดี ดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และแบบไหนคุ้มค่ากว่า เช็กยังไงได้บ้าง มาดูกันค่ะ
1. ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเท่ากัน
คือ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ และอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเท่ากัน ในระยะเวลาผ่อนชำระที่เท่ากัน การเลือกผ่อนชำระดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกคุ้มค่ากว่าแน่นอนค่ะ เพราะผู้ให้สินเชื่อจะคำนวณดอกเบี้ยลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินต้นที่ลดลง สามารถโปะปิดยอดหนี้ได้ตามที่ต้องการ เพราะหากเป็นการผ่อนในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ผู้ให้สินเชื่อจะคำนวณดอกเบี้ยรวมกับเงินต้นเข้าไปทั้งก้อนแล้ว และให้ผู้กู้ผ่อนชำระเป็นรายงวดๆ ละเท่าๆ กันตลอดอายุสัญญา หากโปะปิดยอดหนี้ ดอกเบี้ยก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย
ตัวอย่าง ขอสินเชื่อรถแลกเงินวงเงิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 6 % ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี คำนวณดอกเบี้ยแบบคงที่ และลดต้นลดดอกเป็นดังนี้
กรณีดอกเบี้ยคงที่ : ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด = เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนปีที่ผ่อนชำระ
- คำนวณอัตราดอกเบี้ย >> 200,000 x 6% x 5 = 60,000 บาท
- รวมเป็นยอดที่ต้องชำระทั้งสิ้น 200,000 + 60,000 = 260,000 บาท
- คิดเป็นผ่อนชำระต่อเดือน 260,000 / 60* = 4,333.34 บาท
กรณีดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก : ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในงวดนั้นๆ = (ยอดเงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้นๆ) / จำนวนวันต่อปี
(ในกรณีที่เป็นการผ่อนชำระดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ผู้ให้สินเชื่อจะกำหนดยอดผ่อนชำระต่อเดือนมาให้เลย จากตัวอย่าง สมมติต้องผ่อนเดือนละ 4,500 บาท)
- คำนวณอัตราดอกเบี้ยงวดที่ 1 >> 200,000 x 6% x 30 / 365 = 986.30 บาท
- ยอดผ่อนต่อเดือน 4,500 บาท เป็นดอกเบี้ย 986.30 บาท ตัดเงินต้น 3,513.70 บาท
- ดังนั้นยอดเงินต้นที่คำนวณดอกเบี้ยในงวดที่ 2 คือ 200,000 - 3,513.70 = 196,486.30 บาท
สำหรับงวดถัดไปสามารถคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวดไปได้เรื่อยๆ ยิ่งจ่ายเงินต้นมากเท่าไร จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยก็ยิ่งลดลงตามไปด้วย และหากเรามีกำลังพอจะโปะปิดยอดหนี้ เราก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลงไปอีกค่ะ
2. ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน
กรณีที่อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ กับอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกไม่เท่ากัน สามารถคำนวณเทียบอัตราดอกเบี้ยแบบประมาณการณ์ได้ โดยนำอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปคูณ 1.8 เพื่อแปลงอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ไปเป็นแบบลดต้นลดดอก เพื่อเปรียบเทียบว่าผ่อนชำระดอกเบี้ยแบบไหนจะถูกกว่า หรือคุ้มค่ากว่ากัน
ตัวอย่าง ผู้ให้สินเชื่อคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก 12% ส่วนอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่คิด 4.8% ด้วยระยะเวลาการผ่อนชำระเท่ากัน เราสามารถนำอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปแปลงค่าเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกได้คือ (4.8% x 1.8) = 8.64% เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เป็นต้นค่ะ
ดังนั้นหากต้องการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 แบบว่าแบบไหนถูกกว่า หรือคุ้มค่ากว่า ต้องลองคำนวณว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระตลอดอายุสัญญาจริงๆ แล้วเป็นเท่าไหร่กันแน่ และเมื่อได้อัตราดอกเบี้ยตามที่ต้องการแล้ว ควรดูเป้าหมายของการผ่อนชำระด้วยนะคะ หากมีแพลนจะโปะปิดยอดก็สามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกได้ แต่หากต้องการผ่อนชำระไปตามจำนวนงวดที่ผู้ให้สินเชื่อกำหนดก็สามารถเลือกผ่อนดอกเบี้ยแบบคงที่ได้เช่นกันค่ะ