อยากได้เงินกู้วงเงินสูงๆ จะกู้สินเชื่อบัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลก็น่าจะไม่ตอบโจทย์นัก เพราะสินเชื่อเหล่านี้ให้วงเงินประมาณ 3 - 5 เท่าของรายได้ ซึ่งหากต้องการวงเงินกู้ที่สูงขึ้น อาจจะต้องเลือกขอสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน หรือสินเชื่อที่ต้องใช้หลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้ก็มีให้บริการทั้งใน ธนาคารพาณิชย์ หรือ Non Bank ค่ะ โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขสินเชื่อ ให้ตรงกับความต้องการได้มากที่สุด
สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผู้ขอสินเชื่อต้องนำทรัพย์สินทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืม เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัญชีเงินฝาก บำเหน็จตกทอด พันธบัตร โดยที่ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์การกู้ สามารถใช้จ่ายอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นใช้อุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือใช้ในการประกอบอาชีพ
วงเงินสินเชื่อ ผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณากำหนดวงเงินจากมูลค่าตลาด ณ เวลานั้น ของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน ร่วมกับความสามารถในการผ่อนชำระ และระยะเวลาที่จะผ่อนชำระ โดยวงเงินสินเชื่อที่มีหลักประกันส่วนใหญ่มักจะใกล้เคียงกับมูลค่าของราคาประเมินหลักประกัน (100%) และสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันซึ่งกำหนดเพดานสูงสุดที่ 5 เท่าของเงินเดือน
หลักประกันที่นิยมใช้ในการขอสินเชื่อ ผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันโดยทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องปลอดภาระหนี้หรือภาระผูกพัน (ค้ำประกัน) ใดๆ
1. รถยนต์ : ผู้ขอสินเชื่อที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นชื่อของตนเอง และได้ผ่อนชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อรถยนต์หมดแล้ว สามารถนำรถยนต์มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ โดยที่ผู้กู้ยังสามารถครอบครองและนำรถไปใช้ได้ตามปกติ เพียงแค่นำเล่มทะเบียนมาขอสินเชื่อที่ธนาคารหรือ Non-bank ที่ให้บริการ จึงมีชื่อเรียกว่า "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" หรือ "สินเชื่อรถแลกเงิน" นั่นเองค่ะ
สินเชื่อจำนำทะเบียนรถหรือสินเชื่อรถแลกเงินแบ่งได้ 2 ประเภทตามลักษณะการโอนเล่มทะเบียน คือ แบบโอนเล่ม และแบบไม่โอนเล่ม (โอนลอย)
2.1 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบโอนเล่มทะเบียน คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์โอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ให้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ
วงเงินสินเชื่อ : ประมาณ 80% - 120% ของราคาประเมิน
ระยะเวลาผ่อนชำระ : ประมาณ 72 - 84 งวด (วงเงินและระยะเวลาการผ่อน มากกว่าแบบไม่โอนเล่ม)
2.2 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแบบไม่โอนเล่มทะเบียน (โอนลอย) คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่ต้องโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ แต่จะต้องลงนามล่วงหน้าไว้ในเอกสารการโอน และมีผู้ค้ำประกัน โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี
วงเงินสินเชื่อ : ประมาณ 70% - 80% ของราคาประเมิน
ระยะเวลาการผ่อนชำระ : ประมาณ 60 งวด (น้อยกว่าแบบโอนเล่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ไม่มีการโอนทะเบียน)
อายุสูงสุดของรถยนต์ที่รับเป็นหลักประกันอยู่ที่ 15 - 17 ปี โดยรวมระยะเวลาผ่อนแล้วอายุรถไม่เกิน 20 ปี ผู้ให้สินเชื่อส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแบบ Flat Rate และมีการแข่งขันกันให้สินเชื่อ เช่น การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และการรับเงินกู้มักให้ในหลังวันโอนเล่มหรือวันอนุมัติ 1 วัน แล้วแต่กรณี โดยอาจอยู่ในรูปเงินก้อนหรืออยู่ในรูปบัตรกดเงินสด
2. ที่อยู่อาศัย : ผู้ขอสินเชื่อสามารถนำที่อยู่อาศัยเป็นชื่อของตนเอง และไม่ติดภาระจำนอง เช่น บ้านพร้อมที่ดิน ทาวเฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดมิเนียม มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งผู้กู้ยังสามารถพักอาศัยได้ตามปกติ แต่ต้องจดจำนองที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน และมีกำหนดระยะเวลาการผ่อนยาวนาน (สูงสุดถึง 30 ปี) สินเชื่อประเภทนี้แตกต่างจากสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยตรงที่สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยต้องใช้เงินกู้เพื่อชำระค่าซื้อที่อยู่อาศัย แต่กรณีนี้เป็นการเอาที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักประกันเพื่อนำเงินไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น
3. บัญชีเงินฝาก : การใช้บัญชีเงินฝากเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการใช้สินทรัพย์อื่นๆ มาเป็นหลักประกัน แต่มีบัญชีเงินฝากที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในบัญชีนั้นเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน หรือเป็นเงินเย็น จึงสามารถนำมาวางเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้
ข้อควรรู้กรณีใช้บัญชีเงินฝากมาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน :
- เงินในบัญชีที่ใช้เป็นหลักประกันจะถอนออกมาใช้ไม่ได้ แต่จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากปกติ ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยธนาคารอาจให้โอนออกมาใช้จ่ายได้
- อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการใช้หลักประกันประเภทอื่น โดยมักจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่นำมาเป็นหลักประกันบวกด้วย 1% - 3%
- วงเงินและระยะเวลาการผ่อนชำระขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของสินเชื่อ และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันจะช่วยให้ผู้กู้มีสภาพคล่องได้ง่าย รวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน แต่ผู้กู้ก็ต้องไม่ลืมว่าหากก่อหนี้แล้วผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจทำให้สูญเสียทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ ดังนั้นควรขอสินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกันต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย