ยุคดอกเบี้ยขึ้นไม่หยุดแบบนี้ คนที่ต้องแบกภาระการผ่อน โดยเฉพาะผ่อนของชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือคอนโด อาจต้องเหนื่อยกันเพิ่มแน่นอน เพราะผ่อนเท่าไหร่เงินต้นก็แทบจะไม่ลดเลย หมดไปกับการผ่อนดอกเบี้ยเสียมากกว่า... ทางออกสำหรับคนอยากลดภาระการผ่อน ลดดอกเบี้ย ลดยอดผ่อนต่อเดือน ที่นิยมทำกันมาตลอดก็คือ "รีไฟแนนซ์" นั่นเอง การขอสินเชื่อใหม่ ทำเรื่องใหม่ ทำเอกสารใหม่กับแบงก์แห่งใหม่ แต่ว่าการรีไฟแนนซ์ก็ไม่ใช่ว่านึกจะทำก็ทำได้นะคะ เพราะส่วนใหญ่จะสัญญาจำกัดอยู่ว่าต้องผ่อนบ้านมาแล้วตั้งแต่ 3 ปี 5 ปี ขึ้นไปเท่านั้น แต่หากเราผ่อนไม่ไหวจริงๆ ล่ะ อยากลดภาระแล้ว และก็ผ่อนบ้านมาไม่นาน จะรีไฟแนนซ์ได้มั้ย? จะโดนค่าปรับหรือเปล่า? วันนี้ไปความเข้าใจกันค่ะ
Q : รีไฟแนนซ์ก่อน 3 ปี ทำได้มั้ย?
A : ทำได้... แต่ต้องเสียค่าปรับ
สัญญาส่วนใหญ่จะระบุให้รีไฟแนนซ์ได้หลัง 3 ปี หากรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด ต้องเสียค่าปรับ 2-3% ของยอดหนี้คงเหลือ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับสัญญาเงินกู้ของแต่ละธนาคารด้วย)
ก่อนรีไฟแนนซ์บ้านต้องพิจารณาอะไรบ้าง
1. อัตราดอกเบี้ยใหม่ต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน
2. ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายจำนวนเท่าไหร่ เช่น ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน, ค่าประกันอัคคีภัย
รีไฟแนนซ์มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
1. ค่าปรับการคืนเงินกู้ก่อนกำหนดตามสัญญา ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้ทั้งจำนวน
2. ค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ ประมาณ 0-1% ของวงเงิน
3. ค่าธรรมเนียมในการจำนอง ประมาณ 1% ของราคาประเมิน
4. ค่าประเมินราคาหลักประกัน ประมาณ 2,500 บาท-0.25% ของราคาประเมิน
5. ค่าทำประกันอัคคีภัย ประมาณ 2,000 บาท
6. ค่าอากรแสตมป์ ประมาณ 0.05% ของวงเงิน
7. ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร
รีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารเดิมได้หรือเปล่า
เราสามารถขอลดดอกเบี้ยจากธนาคารเดิม โดยเรียกว่า Retention ซึ่งทำได้หลังจากผ่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยคงที่ครบ 3 ปีแล้วเช่นกัน
สถานการณ์ไหนที่ไม่ควรรีไฟแนนซ์
1. ยังอยู่ในช่วงที่มีค่าปรับจากธนาคารเดิม
2. เหลือยอดหนี้น้อยมา หรือเหลือระยะเวลาอีกไม่เกิน 1-2 ปีก็จะหมดหนี้
จริงๆ แล้วการรีไฟแนนซ์ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ แต่อาจยุ่งยากเรื่องการเตรียมตัวเตรียมเอกสารสักหน่อย และสำหรับใครที่ผ่อนบ้านมาได้ไม่นาน แต่มีความจำเป็นต้องรีไฟแนนซ์จริงๆ ก็สามรถทำได้นะคะ แต่ว่าต้องจ่ายในส่วนค่าปรับนิดนึง อัตราก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วย ใครจะรีไฟแนนซ์อย่าลืมเช็กดอกเบี้ยให้ดีๆ นะคะ ว่าคุ้มจริงมั้ย ลดภาระผ่อนมากน้อยแค่ไหน จะได้คุ้มค่ากับการตัดสินใจนะคะ