คนที่วางแผนจะซื้อบ้านซื้อคอนโด หลังจากหาโครงการที่ถูกใจได้แล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของการขอสินเชื่อแล้วล่ะค่ะ การขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารก็มีเรื่องเอกสารต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย แต่อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้และต้องเช็กให้ละเอียดเลยก็คือ "ดอกเบี้ย" ค่ะ แน่นอนการขอสินเชื่อบ้านเราจะพิจารณาจากดอกเบี้ยและวงเงินปล่อยกู้ของธนาคารเป็นหลัก ตัวดอกเบี้ยเองก็มีประเภทแยกย่อยออกไปอีก แล้วเวลาจะเลือกดอกเบี้ยที่ถูกและใช่ที่สุดต้องดูยังไง วันนี้ไปทำความเข้าใจกันแบบเต็มๆ ดีกว่าค่ะ ใครกำลังวางแผนขอสินเชื่อ ห้ามพลาดนะคะ...
ปกติแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ คงที่ตลอดอายุสัญญาหรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ย 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นต้น
2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate) อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในช่วงเวลาต่างๆ โดยแต่ละธนาคารก็จะประกาศอัตราใหม่กันเป็นครั้งคราว ตัวอย่างที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ MLR, MOR, MRR ซึ่งแบงก์ชาติได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ
- MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Term Loan) เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อบ้านทั่วไป, สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
- MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
- MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น
? เรื่อง (ไม่) ลับ ของดอกเบี้ย MLR, MOR, MRR
1. กฎของแบงก์ชาติระบุว่า แต่ละธนาคารจะต้องติดอัตราดอกเบี้ยประกาศให้ชัดเจนที่สำนักงานใหญ่ และสาขาของแต่ละธนาคาร รวมถึงในเว็บไซต์ของแต่ละธนาคารนั้นๆ
2. อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ของแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน เนื่องจากต้นทุนของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ต้นทุนที่เกี่ยวข้องของแต่ละธนาคาร เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก, จำนวนเงินฝาก, ฐานะเงินกองทุน, ปริมาณเงินสำรอง, จำนวนหนี้เสีย และสภาพคล่องของธนาคารนั้นๆ
3. ลูกค้าสองคนเดินเข้าไปหาธนาคารเดียวกันเพื่อขอกู้สินเชื่อเหมือนกัน แต่อาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ นั่นเป็นเพราะธนาคารมองความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคนไม่เท่ากัน
4. คำว่า MLR แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ความหมายว่าสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ซึ่งฟังดูเหมือนลูกค้ารายใหญ่ ที่มีประวัติทางการเงินที่ดี แต่จริงๆ แล้ว ธนาคารส่วนใหญ่ก็เสนออัตรา MLR นี้ให้กับลูกค้าได้แทบจะทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะรายใหญ่
ใครที่กำลังวางแผนซื้อบ้านซักหลัง อย่าลืมนะคะ! สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกๆ ก็คือเรื่องสินเชื่อบ้านค่ะ ยิ่งเลือกสินเชื่อบ้านที่มีดอกเบี้ยถูก ก็ช่วยลดภาระการผ่อนของเราได้มากเลยนะคะ...