แน่นอนว่าการขอสินเชื่อของแต่ละคนก็จะมีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป การศึกษาข้อมูลสินเชื่อนั้นๆ ให้ดีก็เป็นเรื่องจำเป็นนะคะ เพื่อจะได้นำเงินก้อนนั้นมาใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ หลายคนอาจเคยได้ยินสินเชื่อ 2 แบบ คือ แบบมีหลักประกัน และแบบไม่มีหลักประกัน สินเชื่อที่ว่านี้คืออะไร ตัวหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกันจะส่งผลต่อการอนุมัติหรือเปล่า รววมถึงถ้าจะขอสินเชื่อเงินสดต้องค้ำประกันมั้ย เปรียบเทียบสินเชื่อเงินหรือสินเชื่ออื่นๆ ยังไง ค้ำกับไม่ค้ำต่างกันแค่ไหน... ไปหาคำตอบกันค่ะ
สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน
เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้ไม่ต้องนำหลักทรัพย์ใดๆ มาค้ำประกัน เพียงแค่แสดงหลักฐานทางรายได้, หลักฐานการทำงานเท่านั้น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อเงินสด แต่มักจะคิดดอกเบี้ยแพงกว่าสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สินเชื่อแบบมีหลักประกัน
เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว หากต้องการใช้เงินก้อนก็มักจะเลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกัน เพราะได้วงเงินที่สูงกว่าสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และวงเงินอนุมัติก็ขึ้นอยู่กับหลักประกันที่เลือกใช้ด้วย เช่น สินเชื่อรถ, สินเชื่อธุรกิจ SME, สินเชื่อที่อยู่อาศัย
3 วิธีเตรียมตัว ให้ขอสินเชื่อผ่าน
1. ประเมินรายได้ให้เหมาะสมกับวงเงินที่จะขอสินเชื่อ
โดยทั่วไปแล้วธนาคารจะประเมินสถานะของผู้ขอสินเชื่อจากรายได้, ภาระหนี้สิน และวงเงินที่ขอสินเชื่อ หากเรามีภาระหนี้สินมากอยู่แล้ว ธนาคารก็อาจจะปล่อยสินเชื่อยากขึ้นนะคะ
2. เตรียมหลักฐานให้พร้อม
ทั้งเอกสารส่วนตัวและเอกสารการเงิน ซึ่งเป็นการแสดงประวัติทางการเงินทั้งในแง่ของรายได้และความมั่นคง เช่น สลิปเงินเดือน, หลักฐานที่มาของรายได้, รายการเดินบัญชีที่มีเงินออมต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เป็นต้น
3. รักษาประวัติการชำระหนี้ให้ดี
ธนาคารจะตรวจสอบข้อมูลประวัติขอสินเชื่อของบุคคลนั้นๆ ผ่านบริษัท ข้อมูลเครดิต แห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ซึ่งจะมีรายงานประวัติการขอสินเชื่อและการชำระหนี้ต่างๆ ของเรา หากมีประวัติดีก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะขอสินเชื่อประเภทใดก็ตาม อย่าลืมเช็กศักยภาพการชำระหนี้ของเราเองด้วยนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อการบริหารจัดการเงินที่ดี และไม่เป็นการสร้างภาระหนี้สินที่เกินกำลังของเราด้วยค่ะ