จ่ายน้อย คุ้มครองครบ…ประกันสังคม ม.33 และ ม. 39 กับสิทธิประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ที่นี่!!

icon 17 พ.ค. 66 icon 64,448
จ่ายน้อย คุ้มครองครบ…ประกันสังคม ม.33 และ ม. 39 กับสิทธิประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ที่นี่!!
หากในแผนการเงินของคุณมีงบสำหรับซื้อความคุ้มครองจำกัด การตัดสินใจซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพสักฉบับ อาจจะยากสักหน่อยใช่มั๊ยคะ? แต่คุณอาจลืม หรือมองข้ามไป ว่ายังมีเงินทดแทนจาก "ประกันสังคม" ที่จ่ายน้อย คุ้มครองครบ ในทุกเรื่อง ตั้งแต่ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ, ว่างงาน และวันนี้เราจะพามาดูสิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากประกันสังคม (กองทุนประกันสังคม/ กองทุนเงินทดแทน) ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่าเงินที่ต้องจ่ายไปทุกเดือนๆ ได้รับความคุ้มครองเรื่องอะไรบ้าง อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการรองรับความเสี่ยง และช่วยให้เราอุ่นใจได้อยู่บ้างนะคะ 
 
ผู้ประกันตนมาตรา 33  และมาตรา 39 ต่างกันอย่างไร
 
ประกันสังคม มาตรา 33 เป็นประกันสังคมภาคบังคับ สำหรับพนักงานเอกชนที่ทำงานในสถานประกอบการ ส่วนประกันสังคมมาตรา 39 เป็นประกันสังคมภาคสมัครใจ สำหรับคนที่เคยเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง แล้วลาออก แต่ยังต้องการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อยังสามารถรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ 
ประกันสังคมมาตรา 33 : เป็นประกันสังคมภาคบังคับสำหรับพนักงานเอกชนทั่วไปที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ ซึ่งการสมัครเข้าประกันสังคม นายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการให้ 
 
เงินสมทบ : ลูกจ้าง หรือพนักงาน จ่ายเงินสมทบ 5% ของฐานเงินเดือน (สูงสุด 750 บาท/เดือน) ยกตัวอย่าง เช่น 
  • หากมีเงินเดือน 10,000 บาท คิดคำนวณแล้ว 5% ของเงินเดือน (10,000 x 5%) = 500 บาท ดังนั้นจะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 500 บาท
  • หากมีเงินเดือน 15,000 บาท  คิดคำนวณแล้ว 5% ของเงินเดือน (15,000 x 5%) = 750 บาท ดังนั้นจะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 750 บาท
  • หากมีเงินเดือน 20,000 บาท  คิดคำนวณแล้ว 5% ของเงินเดือน (20,000 x 5%) = 1,000 บาท แต่เพดานสูงสุดที่นำส่งประกันสังคมอยู่ที่ 750 บาท ดังนั้นหากเงินเดือน 20,000 บาท จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 750 บาท
ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตน ม.33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ รวมถึงชราภาพ
 
ประกันสังคมมาตรา 39 : เป็นประกันสังคมภาคสมัครใจ สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแล้วลาออก (ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว) แต่ต้องการส่งประกันสังคมต่อเอง โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ
  • เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
  • ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
เงินสมทบ : จ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน โดยคิดอัตราเงินสมทบ 9% จากฐานรายได้ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน 
 
ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตน ม.39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ รวมถึงชราภาพ
ตัวอย่างแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)
 
มัดรวมสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ จากกองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39
 
1. สิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันนับบริการทางการแพทย์ (คุ้มครองต่อ 6 เดือนเมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง)
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ : 
  • ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์
  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
  • กรณีทันตกรรม ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 900 บาทต่อปี (กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด)
  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน 1 - 5 ซี่ ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,300 บาท มากกว่า 5 ซี่ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท
  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบน หรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,400 บาท ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบน และปากล่าง เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,400 บาท
    * กรณีใช้สิทธิ์ใส่ฟันเทียมแล้ว สามารถเบิกฟันเทียมชุดใหม่ได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี
2. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันคลอดบุตร (คุ้มครองต่อ 6 เดือน เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง)
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ : 
 
ผู้ประกันตนหญิง 
  • ได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • ได้รับเงินสงเคราะห์ การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง 
ผู้ประกันตนชาย 
  • ได้รับเฉพาะค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
*ได้รับค่าฝากครรภ์ จำนวน 1,500 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง

**กรณีเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถขอใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แนะนำให้ใช้สิทธิผู้ประกันตนหญิง เนื่องจากจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรด้วย
 
3. สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพไม่เนื่องจากการทำงาน
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน (คุ้มครองต่อ 6 เดือน เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง) 
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ : 
  • กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง (ประเมินการสูญเสีย ตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไป แต่ไม่ถึงร้อยละ 50) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่เกิน 180 เดือน
  • กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง (ประเมินการสูญเสีย ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันตลอดชีวิต 
สิทธิในการรักษา :
 
รักษาในโรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น 
  • ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลคำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรค (DRGs)
รักษาในโรงพยาบาลเอกชน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
  • ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท
  • ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
*ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
 
4. สิทธิประโยชน์กรณีตาย
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตายไม่เนื่องจากการทำงาน (คุ้มครองต่อ 6 เดือน เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง)
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ :
 
ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์ กรณีตาย ดังนี้
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบโดยเฉลี่ยรายได้ 4 เดือน (เท่ากับค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ย 2 เดือน)
  • จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบโดยเฉลี่ย 12 เดือน  (เท่ากับค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ย 6 เดือน)
5. สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทน และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ 39  (กรณีนี้ไม่คุ้มครองต่อ 6 เดือน เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง)
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ :
 
ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน คราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ (สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม และบุตรที่ยกให้เป็นบุตรของบุคคลอื่น)

*กรณีเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถขอใช้สิทธิ์ได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรณีหย่า หรือแยกกันอยู่ ผู้อุปการะบุตรเป็นผู้มีสิทธิ์
 
6. สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ :
  • รับเงินบำนาญชราภาพเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • รับเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (กรณีเป็นผู้ทุพพลภาพหรือตายก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ)
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ :
 
เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน)
  • ได้รับเงินบำนาญชราภาพร้อยละ 20 ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีก ร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
    *เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับไม่ต่ำกว่า 720 บาทต่อเดือน
เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน)
  • จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตน และนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน
7. สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน (เฉพาะผู้ประกันตน ม.33)
 
 
เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์ : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ :
  • ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน 
  • ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
*ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียน และรายงานตัวกรณีว่างงาน ผ่านระบบ http://e-service.doe.go.th ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิ์ในการรับเงินทดแทน
 
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ จากกองทุนประกันเงินทดแทน สำหรับผู้ประกันตน ม.33
 
กองทุนเงินทดแทนเป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537  จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียวตามประเภทความเสี่ยงของกิจการเพื่อนำไปจ่ายทดแทนให้แก่ลูกจ้าง กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน โดยจะให้ความคุ้มครองทันทีตั้งแต่สันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน 
  • กรณีไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก 
  • กรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย (ไม่เกิน 10 ปี) 
  • กรณีทุพพลภาพ ผตลอดชีวิต)
  • กรณีตาย/สูญหาย (10 ปี)
ความคุ้มครอง :
  • ค่ารักษาพยาบาล จนสิ้นสุดการรักษา (ในสถานพยาบาลของรัฐ)
  • ค่าทำศพ ได้รับค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท
  • ค่าทดแทนรายเดือน เมื่อลูกจ้างมีการหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน

จากเงินที่เราจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในแต่ละเดือน ไม่ได้เป็นเงินที่จ่ายไปโดยเสียเปล่านะคะ เพราะยังมีความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกันตน "จ่ายน้อย คุ้มครองครบ" ถึงแม้จำนวนเงินที่ได้รับอาจจะไม่ได้ครอบคลุมค่ามใช้จ่ายทั้งหมด แต่ก็เป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระบางส่วนให้กับเราได้นะคะsmiley 
แท็กที่เกี่ยวข้อง ประกันสังคม เงินทดแทนจากประกันสังคม ประกันสังคม มาตรา 33 ประกันสังคมมาตรา 39 ม.33 ม.39 สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
Money Guru
เขียนโดย ชนานาถ จินตกสิกรรม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)