จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจ่ายหนี้บัตรเครดิต?

icon 23 พ.ค. 66 icon 19,756
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจ่ายหนี้บัตรเครดิต?
อย่างที่ผู้เขียนได้เน้นย้ำไว้แทบจะทุกบทความ ว่าความสะดวกสบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มากับการสมัครบัตรเครดิต จะต้องแลกกับความมีวินัย และความรับผิดชอบในการจ่ายหนี้ให้ครบและตรงเวลา แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่รูดบัตรเครดิตเพลินจนเกินลิมิต ทำให้สิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับจากบัตร กลับกลายมาเป็นหนี้กองโตวนไปไม่รู้จบ และยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่หนี้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลกระทบอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าหากเราไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

5 ผลกระทบที่ต้องเจอ ถ้าไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต

 
ถูกติดตามทวงถามหนี้ แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เราจะเจอเมื่อผิดนัดชำระหนี้ คือการถูกทวงหนี้จากธนาคาร มีทั้งแบบส่งข้อความมา และเจ้าหน้าที่ติดต่อมาเอง งานนี้บอกเลยว่ายังไงก็หนีการทวงหนี้ไม่พ้นค่ะ เพราะธนาคารมีช่องทางการติดต่อของเราครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์ที่ทำงาน

ติดเครดิตบูโร เมื่อค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ธนาคารจะส่งเรื่องไปยังเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อเป็นการบันทึกประวัติทางการเงินให้สถาบันการเงินอื่นเข้ามาตรวจสอบต่อไป และแน่นอนว่าหากมีประวัติเสียติดค้างอยู่ในเครดิตบูโร ก็จะทำให้ขอสินเชื่อหรือเครดิตประเภทอื่นยากขึ้นด้วย

ถูกธนาคารฟ้องร้อง หากการค้างชำระหนี้เลยเถิดมาเรื่อยๆ ก็จะมาถึงขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาล หนี้บัตรเครดิตถือว่าเป็นคดีแพ่ง ถึงแม้โทษอาจจะไม่ได้หนักถึงขั้นติดคุก แต่ก็ทำให้เราต้องเสียเวลาและยุ่งยากกับการเดินทางไปที่ศาลเพื่อทำการไกล่เกลี่ย หรืออาจต้องมีการจ้างทนาย ที่ทำให้เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาค่ะ และที่แย่ที่สุดคือการถูกฟ้องล้มละลาย ในกรณีที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท และไม่สามารถชำระคืนได้

โดนยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือน ถ้าเราไม่ยอมจ่ายหนี้ภายใน 30 วันหลังฟังคำพิพากษา ธนาคารก็จะมีสิทธิ์ยึดทรัพย์สินของเรา ซึ่งก็สามารถโดนยึดได้ตั้งแต่เงินในบัญชี ของมีค่าต่างๆ ไปจนถึงบ้านและที่ดินเลยค่ะ ส่วนใครเป็นพนักงานบริษัท หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็อาจโดนอายัดเงินเดือนด้วย เพราะธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่าเราทำงานที่ไหน

เกิดความเครียด ด้วยผลกระทบทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ท้ายที่สุดก็จะทำให้ตัวเราเกิดความเครียดขึ้นจนส่งผลต่อทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวแย่ลงอีกด้วย


คลายข้อสงสัย ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ใครจะรับผิดชอบหนี้ต่อ?

เคยสงสัยกันไหมคะว่า ถ้าสมมุติเรามีภาระหนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แล้วดันเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเกิดเสียชีวิตไปก่อนที่จะทำการชำระหนี้ ใครจะมารับผิดชอบหนี้ของเราต่อ หรือหนี้จะกลายเป็นโมฆะหรือไม่ ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ค่ะ

  • กรณีแรก บิดาหรือมารดาเป็นเจ้าของบัตรเครดิต บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องรับภาระต่อ แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเกินกว่ามรดกที่ได้รับ เช่น นาย A ติดหนี้บัตรเครดิตเป็นจำนวน 200,000 บาท ต่อมาเมื่อนาย A เสียชีวิต นาย B ที่เป็นบุตร ได้รับมรดกจากนาย A มาทั้งหมด 100,000 บาท ดังนั้นนาย B ก็จะรับผิดชอบภาระหนี้แทนนาย A เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 100,000 บาท

  • กรณีที่สอง คู่สมรสเป็นเจ้าของบัตรเครดิต หากหนี้บัตรเครดิตเกิดขึ้นหลังจากที่จดทะเบียนสมรส คู่สมรสต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้แทน ถ้าหนี้ก้อนนั้นเกิดจากการใช้จ่ายร่วมกันระหว่างสมรม เพราะนับว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างคู่สมรส

  • กรณีสุดท้าย เป็นผู้ถือบัตรเสริม ต้องร่วมกันรับผิดชอบภาระหนี้ เนื่องจากบัตรเสริมและบัตรหลักใช้วงเงินร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสริมอีกนิดว่าหนี้บัตรเครดิตมีอายุความเพียงแค่ 2 ปี นับตั้งแต่การชำระหนี้ครั้งล่าสุดค่ะ

จากผลกระทบทั้งหมดที่ผู้เขียนได้นำมาแชร์กันในบทความนี้ ก็หวังว่าจะทำให้หลายคนที่คิดเบี้ยวหนี้ได้กลับมาคิดใหม่อีกทีนะคะ เพราะสิ่งที่ตามมาแต่ละอย่างก็ค่อนข้างจะสาหัสพอสมควร ทางที่ดีควรหาทางแก้ปัญหาโดยการติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง บัตรเครดิต สมัครบัตรเครดิต หนี้บัตรเครดิต บทความการเงิน 2566 จ่ายหนี้บัตรเครดิต บทความบัตรเครดิต 2566
Money Guru
เขียนโดย สุทธิดา กาหา Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)