เหล่าคนโสด โปรดระวัง! "Romance Scam" หลอกให้รักแล้วจากไปพร้อมทรัพย์สิน

icon 1 ก.พ. 66 icon 6,204
เหล่าคนโสด โปรดระวัง! "Romance Scam" หลอกให้รักแล้วจากไปพร้อมทรัพย์สิน
การมี "ความรักที่ดี" ถือว่าเป็นปณิธานขั้นสูงสุดของเหล่าหนุ่มสาวโสดเลยค่ะ แต่ด้วยสภาพการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน การที่จะได้พบเจอคนใหม่ๆ และทำความรู้จักกันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยาก หลายคนจึงหันไปพึ่ง "แอปหาคู่" หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แทน แต่เอาจริงๆ แล้ว แอปเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เราได้มีโอกาสทำความรู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนที่ถูกใจได้ แต่เพราะการที่เราสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ จึงมีข้อเสียตรงที่ คนที่เรากำลังคุยด้วยอาจจะเป็นมิจฉาชีพในรูปแบบ "Romance Scam" ก็ได้!

 Romance Scam คืออะไร? 

Romance Scam มาจากคำว่า "Romance" ที่มีความหมายว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และ "Scam" ที่แปลว่าเล่ห์อุบาย พอนำทั้งสองคำมารวมกันแล้ว ก็จะหมายถึงการใช้เรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาเป็นเล่ห์อุบาย หรือในภาษาไทยจะเรียกว่า "พิศวาสอาชญากรรม" แท้จริงมันก็คือคือการต้มตุ๋นอย่างหนึ่งโดยใช้การพูดคุยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอปหาคู่ จนเหยื่อหลงรักและเชื่อใจ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหาข้ออ้างต่างๆ เพื่อหลอกเอาเงินหรือทรัพย์สินจากเหยื่อ และชิ่งหนีหายไปในที่สุดนี่แหละค่ะ
 

 ลักษณะของ Romance Scam 

โดยทั่วไป Romance Scam มักนำภาพของบุคคลที่ดูดี หรือหน้าตาดีมาแอบอ้าง โดยปลอมแปลงประวัติส่วนตัวให้ดูดีที่สุด เช่น หลอกว่าตนเองมีฐานะดี มีงานที่ใหญ่โตก้าวหน้า กำลังมองหาคู่ชีวิต เพื่อดึงดูดความสนใจจากเหล่าคนโสด หากเหยื่อหลงเชื่อเข้าไปคุยด้วย Step แรกที่จะโดนคือการถูกตีสนิท หรือถูกหว่านล้อมด้วยวาทะศิลป์อันหวานฉ่ำให้เหยื่อเชื่อสนิทใจว่าจะได้สละโสดแน่ๆ
 

 Romance Scam มีวิธีหลอกเหยื่ออย่างไร? 

เพราะเป็นการคุยกันในโลกออนไลน์และไม่ได้เห็นหน้ากันโดยตรง มิจฉาชีพจึงสามารถหาข้ออ้างได้หลายรูปแบบโดยที่เหยื่อยังไม่ทันได้เอะใจ ส่วนกลอุบายที่ถูกใช้บ่อย ก็มีดังนี้ค่ะ

  • หลอกว่าตัวเอง หรือญาติพี่น้องป่วย ต้องการเงินมารักษา

  • หลอกว่าจะเดินทางมาแต่งงานด้วย ให้โอนเงินช่วย

  • หลอกว่าเป็นนักธุรกิจจะมาลงทุนที่ไทย และชวนมาร่วมลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจำนวนมาก

  • หลอกว่าส่งของขวัญ/ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมาให้ แต่ของติดอยู่ที่ด่าน ให้โอนค่าธรรมเนียมให้เพื่อนำของออกมา

โดยกลโกงเหล่านี้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จะกลับมาแต่งงานด้วย และใช้ชีวิตด้วยกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้เป็นจำนวนมาก

 

 ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้ง ก่อนคุยกับคนแปลกหน้า 

วิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบกับคู่สนทนาว่ามีแนวโน้มเป็น Romance Scam หรือไม่ อันดับแรกให้ลองใช้ Google Images ตรวจสอบรูปภาพค่ะ หากเป็นรูปที่ถูกแอบอ้างมา ก็จะรู้ได้จากผลการค้นหาทันที และอีกวิธีคือลองเข้าไปเช็กที่หน้า Profile ของคนๆ นั้นดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าบัญชีผู้ใช้มีลักษณะเหมือนเพิ่งเปิดใหม่ มีเพื่อนจำนวนน้อย ไม่มีการเคลื่อนไหว ก็ควรเลี่ยงและกด Block ให้ไวเลยค่ะ
คลิก Search by image เพื่ออัปโหลดรูป
 

 รู้ตัวช้าไป โดนหลอกไปซะแล้ว! ต้องทำอย่างไร? 

มีผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยเลยค่ะที่หลงเชื่อคารมของนักต้มตุ๋นเหล่านี้ แม้ในทุกวันนี้เองก็ยังมีข่าวออกมาให้เห็นเรื่อยๆ โดยทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เองก็ได้ออกมาให้คำแนะนำในการดำเนินการดังนี้

  1. รวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด เช่น สลิปโอนเงิน ประวัติการสนทนา ข้อมูลของมิจฉาชีพ รวมทั้งเอกสารส่วนตัว และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

  2. กรณีที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ให้เตรียมหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำความผิดไปด้วย

  3. นำหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ หรือสามารถร้องทุกข์ได้โดยตรงที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

 เหยื่อ Romance Scam สามารถติดต่อหน่วยงานไหนได้บ้าง? 

นอกจากสถานีตำรวจ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ดังนี้ค่ะ

  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1155

  • กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) (TCSD) โทร 02-142-2556

  • กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร 0-2831-9888

  • ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (Online Complaint Center: OCC) สายด่วน 1212


มิจฉาชีพอาจใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกันในการหลอกเหยื่อ ตั้งแต่ไม่กี่วัน ไปจนถึงเป็นเดือน หรือมากกว่านั้น หากใครกำลังอยู่ในสถานะที่เป็นความสัมพันธ์แบบทางไกล ขอให้ตรวจสอบคู่สนทนาให้ดีๆ ก่อนสานสัมพันธ์ต่อนะคะ ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อคนต่อไปได้ค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง กลโกง มิจฉาชีพ โจรออนไลน์ มิจฉาชีพออนไลน์ เตือนภัยมิจฉาชีพ บทความการเงิน 2566 Romance Scam พิศวาสอาชญากรรม
Money Guru
เขียนโดย สุทธิดา กาหา Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)