เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2565 แล้ว เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายๆ คนคงได้วางแผนท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนจากการทำงานตลอดทั้งปี นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆ หลายๆ คนอยากทำด้วยเหมือนกัน คงเป็นเรื่องการตั้งเป้าหมายปีใหม่ เพื่อการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม หนึ่งในเป้าหมายปีใหม่คงหนีไม่พ้นเรื่องการวางแผนการเงิน บทความนี้จะมาแชร์ 4 ขั้นตอนการวางแผนการเงินต้อนรับปีใหม่ ให้ไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ!
ขั้นตอนที่ 1 รู้จักการตั้งเป้าหมายเพื่อการวางแผนการเงิน
ทุกเรื่องในชีวิตล้วนต้องใช้เงิน ตั้งแต่การใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ไปจนถึงการใช้จ่ายด้วยเงินก้อนใหญ่ อย่างการท่องเที่ยว การเรียนต่อปริญญาโท การแต่งงาน การเลี้ยงดูบุตร การวางแผนเกษียณ ฯลฯ
ทุกเป้าหมายดูจะสำคัญไปหมด แต่จะวางแผนเก็บเงินอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมาย ควรจะแบ่งการตั้งเป้าหมายตามระยะเวลา ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้
เป้าหมายระยะสั้น (น้อยกว่า 3 ปี)
บางคนอาจจะมีเป้าหมายเก็บเงินแสนแรกให้ได้ เก็บเงินซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นแบบนี้ เราควรเก็บเงินในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้เร็ว อย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เงินก้อนนี้ เงินจะเข้าบัญชีในอีกเพียง 1-2 วันทำการเท่านั้น หลังจากกดคำสั่งขาย และมีผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์
เป้าหมายระยะกลาง (3-7 ปี)
สำหรับเป้าหมายของเพื่อนๆ ที่มีระยะเวลาเพิ่มมากขึ้น อย่างการเก็บเงินค่าดาวน์บ้าน ค่าเทอมลูก เป็นเป้าหมายที่สามารถลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น เหมาะกับการลงทุนในกองทุนรวมผสม เป็นกองทุนที่ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น และตราสารหนี้ทั่วโลก กองทุนอสังหาฯ ฯลฯ อาจมีบางช่วงเวลาที่เงินต้นขาดทุนบ้าง แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นเช่นกัน
เป้าหมายระยะยาว (> 7 ปี)
เป้าหมายระยะสุดท้าย อาจเป็นเป้าหมายในการเก็บเงินล้านแรก หรือการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ถือว่ามีระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ เหมาะสมกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างกองทุนรวมหุ้น หรือหุ้นพื้นฐานดี
ขั้นตอนที่ 2 ตั้งเป้าหมายแบบ SMART
SMART คือ หลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและสามารถทำได้จริง โดยที่.. - S = Specific มีความชัดเจน
- M = Measurable สามารถวัดผลได้
- A = Achievable วิธีการที่จะทำให้สำเร็จ
- R = Realistic สามารถเกิดขึ้นจริงได้
- T = Time-Bound มีระยะเวลากำหนดที่แน่นอน
ตัวอย่างเป้าหมายที่ SMART
จะเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น จำนวน 100,000 บาท โดยจะหักออมจากเงินเดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 เดือน
- Specific = เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็น
- Measurable = จำนวน 100,000 บาท
- Achievable = ออมเงินโดยการหักจากเงินเดือน
- Realistic = เดือนละ 5,000 บาท
- Time-Bound = เป็นระยะเวลา 20 เดือน
ขั้นตอนที่ 3 พร้อมแล้วลุยเลย
เมื่อรู้จักระยะเวลาของเป้าหมายที่เหมาะสม และการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นไปได้จริงแล้ว ก็เตรียมตัวเริ่มทำตามแผนได้เลย สำหรับเพื่อนๆ ที่มีบัญชีลงทุนอยู่แล้ว สามารถตั้ง DCA ในการออมเงินแต่ละเดือนได้เลย แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่มีบัญชี สามารถศึกษาหาข้อมูลบริษัทหลักทรัพย์ที่สนใจ และทำการเปิดพอร์ตไว้ เพื่อจะได้เริ่มเก็บเงินได้ตั้งแต่เดือนแรกของปีใหม่
ปัจจุบันการเปิดบัญชีหุ้นและกองทุนหลายๆ ที่ สามารถทำผ่านออนไลน์ได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องใช้เอกสาร
10 ตัวอย่างบริษัทหลักทรัพย์สำหรับเปิดบัญชีหุ้น
บริษัทหลักทรัพย์ | เว็บไซต์ | ค่าธรรมเนียม | ขั้นต่ำ |
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) | https://www.bualuang.co.th/ | 0.157% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) | https://www.kasikornsecurities.com/ | 0.157% | 50 บาท |
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) | https://www.krungsrisecurities.com/ | 0.157% | 50 บาท |
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด | https://www.asiaplus.co.th/ | 0.157% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) | https://www.finansiahero.com/ | 0.157% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด | https://www.yuanta.co.th/ | 0.157% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) | https://www.poems.in.th/ | 0.157% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) | https://www.nomuradirect.com/ | 0.157% | 50 บาท |
บริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอไทย ออนไลน์ จำกัด | https://www.sbito.co.th/ | 0.082% | ไม่มี |
บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) | https://th.trade.z.com/ | 0.072% | ไม่มี |
แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังอยากเริ่มต้น การเริ่มต้นด้วยกองทุนรวมจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเงินของเราให้ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย และสินทรัพย์มีความเสี่ยงหลายระดับตั้งแต่เสี่ยงต่ำไปจนถึงเสี่ยงสูง และในปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมากกว่า 20 แห่ง จึงควรเลือกเปิดบัญชีกองทุนกับบริษัทที่สามารถซื้อได้หลากหลายกองทุนในบัญชีเดียว เช่น FINNOMENA, Phillip, NOMURA
ตัวอย่างการเปิดบัญชีกองทุนกับ FINNOMENA
- โหลดแอปฯ FINNOMENA ผ่าน App Store หรือ Play Store
- สมัครสมาชิก
- เลือกแผนการลงทุนที่สนใจ เช่น ต้องการเก็บเงินระยะสั้น ให้เลือกพอร์ต Money Plus หรือ Plus ต้องการเก็บเงินระระยาวตามเป้าหมายแบบ DCA ให้เลือกพอร์ต 1st Million สำหรับการเก็บเงินล้านแรก เลือกพอร์ต Goal สำหรับการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆ เช่น ดาวน์รถ/บ้าน เรียนต่อปริญญาโท การศึกษาลูก เกษียณอายุ
- เปิดบัญชีลงทุน โดยเตรียมบัตรประชาชนตัวจริงไว้ถ่ายรูปยืนยันตัวตน และบัญชีธนาคารที่ใช้ในการหักเงินเพื่อลงทุน รวมถึงรับเงินเมื่อขายกองทุน
- รออนุมัติ 1 วันทำการ แล้วลงทุนได้เลย
ขั้นตอนที่ 4 ทบทวน และปรับแผน
เพื่อนๆ ควรกลับมาทบทวนแผนการออมการลงทุน ทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าเรายังทำตามแผนอยู่ ซึ่งถ้าทุกอย่างราบรื่น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ใช่ว่าทุกเป้าหมายจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ เพราะระหว่างทางอาจเจอเหตุการณ์อื่นๆ นอกเหนือจากเป้าหมายเข้ามาแทรก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้นหากทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี มาทบทวนแผนแล้วเห็นว่ามีหลายๆ เป้าหมายหลุดจากแผนไป เพื่อนๆ สามารถปรับแผนการออม การลงทุนใหม่ให้เหมาะสมได้ อาจจะเพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้น ลดจำนวนเงินออมในแต่ละเดือนลง เพื่อให้ยังสามารถทำตามแผนได้
และนี่ก็เป็น 4 ขั้นตอนที่ทีมงานตั้งใจให้เพื่อนๆ ได้ไปปรับใช้ให้เข้ากับเป้าหมายของตัวเอง ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนตั้งเป้าหมาย และทำตามแผนได้สำเร็จ แต่ถ้าไม่สำเร็จตามที่วางแผนไว้ ก็ไม่ต้องกดดันตัวเองจนเกินไป ลองขยับขยายเวลา หรือ ลดจำนวนเงินออม เพื่อรักษาวินัยให้เรายังออมเงินต่อไป และเพื่อนๆ จะสำเร็จในทุกๆ เป้าหมายอย่างแน่นอนครับ