ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความผูกพันธ์กับผู้คนมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าโลกการเงินยุคใหม่ตั้งแต่ยกเลิกระบบ Bretton Wood ไปเมื่อปี 1971 จะลดถอนบทบาททองคำจากโลกการเงินไปเกือบหมดสิ้น แต่ก็จะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ความตึงเครียดระหว่างประเทศ โรคระบาด ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นสวนทางกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เป็นการสะท้อนว่าสุดท้ายแล้ว...ทองคำก็ยังได้รับความไว้ใจในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือ เป็นสินทรัพย์รักษาความมั่งคั่งได้นั่นเอง
ความสำคัญของทองคำ
ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการอิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ อีกทั้งยังถูกนำมาเป็นเครื่องประดับโดยมีประเทศจีน และอินเดียเป็นผู้บริโภคหลัก ในอีกด้านหนึ่งธนาคารกลางหลายประเทศยังใช้ทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ สำหรับนักลงทุนรายย่อย และสถาบันก็มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ด้านการลงทุนที่จัดให้อยู่ในประเภทสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง
เพราะราคาทองคำไม่เคลื่อนที่ไปตามตลาดหุ้น ด้วยแนวคิดที่ว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในมุมมองของมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้เองแม้กระทั่ง Ray Dalio อดีตผู้บริหาร Hedge Fund ระดับโลกก็ยังเชื่อว่าทองคำทั้งลดความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน
กองทุนทองคำ vs ทองคำ
การลงทุนในกองทุนทองคำกับทองคำไม่มีความแตกต่างกันในแง่ของสินทรัพย์ มีการเปลี่ยนแปลงของราคาเหมือนกัน แต่กองทุนทองคำให้ความสะดวกสบายกับนักลงทุนด้วยการใช้เงินลงทุนไม่มาก บางกองทุนใช้เงินลงทุนเพียง 1 บาท สามารถทยอยสะสมทองคำได้ ซื้อขายสะดวกโดยไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อที่ร้านทอง แถมปลอดภัยไม่ต้องการกังวลการสูญหายหรือโดนขโมย แต่ต้องแลกมาด้วยการเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ ดังนั้นกองทุนทองคำจึงเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลา ไม่ต้องการถือครองทองคำ ต้องการทยอยสะสมทองคำ
กองทุนทองคำที่ดีเป็นอย่างไร
กองทุนทองคำมีจุดประสงค์เพื่อให้ผลตอบแทนเหมือนกับการลงทุนในทองคำแท่ง ดังนั้นกองทุนทองคำที่ดีต้องให้ผลตอบแทนใกล้เคียงราคาทองคำในตลาดโลกมากที่สุด (Passive Fund) มากกว่านั้นนักลงทุนควรเลือกกองทุนทองคำที่มีค่าธรรมเนียมทั้งซื้อขาย และบริหารต่ำที่สุด
กองทุนทองคำ กองไหนดี?
BCAP-GOLD : กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามราคาทองคำในตลาดโลก ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมทองคำต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อขาย ส่วนค่าธรรมเนียมการบริหารก็ไม่มากเพียงแค่ 0.75665%
SCBGOLD : กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองแท่งในตลาดโลก ผ่านการลงทุนกองทุน SPDR GOLD TRUST มีค่าธรรมเนียมการบริหาร 0.55% และค่าธรรมเนียมซื้อ 0.54% ใช้เงินลงทุนเพียง 1 บาท การมีค่าธรรมเนียมบริหารที่ต่ำ จึงเหมาะกับการถือครองระยะยาว
BGOLD : กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองแท่งในตลาดโลก ผ่านการลงทุนกองทุน SPDR GOLD TRUST มาด้วยจุดเด่นที่ไม่กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการซื้อขาย ไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อขาย ส่วนค่าธรรมเนียมการบริหารอยู่ที่เพียง 0.6895%
KF-GOLD : กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองแท่งในตลาดโลก ผ่านการลงทุนกองทุน SPDR GOLD TRUST ไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อขาย ส่วนค่าธรรมเนียมบริหาร 1.1694% ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท
TGOLDBULLION-UH : กองทุนลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง 99.99% ในต่างประเทศ แตกต่างจากกองทุนอื่นที่ลงทุนผ่านกองทุน SPDR GOLD TRUST ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 บาท มีค่าธรรมเนียมบริหาร 0.913% ส่วนค่าธรรมเนียมซื้อ 0.107% และค่าธรรมเนียมขาย 0.268%
PGOLD : กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองแท่งในตลาดโลก ผ่านการลงทุนกองทุน SPDR GOLD TRUST ไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อขาย มีค่าธรรมเนียมบริหาร 1.8116% กำหนดขั้นต่ำการซื้อที่ 2,000 บาท
ข้อควรระวังในการลงทุนกองทุนทองคำ
ในระยะยาวค่าธรรมเนียมการบริหารที่ต้องเสียให้กองทุนรายปีจะเริ่มส่งผลให้เห็น ซึ่งทำให้ผลตอบแทนกองทุนทองคำจะต่ำกว่าราคาทองคำในตลาดโลกบ้าง อีกประเด็นที่นักลงทุนต้องเตรียมตัว นั่นคือ กองทุนทองคำมีสภาพคล่องน้อยกว่าทองคำ ต้องรอ 1-3 วันทำการ จึงจะได้รับเงินจากการขาย นอกจากนั้นต้องพิจารณาความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากไม่การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แล้วค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้น้อยกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำอย่างเด่นชัด
โดยสรุปแล้วทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นต่ำ จึงช่วยในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้มักได้รับความนิยมจากนักลงทุนในยามที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด อย่างไรก็ตามนักลงทุนก็ต้องจัดสัดส่วนทองคำในพอร์ตให้เหมาะสมเพื่อกระจายความเสี่ยง และพิจารณานโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยเช่นกันนะครับ