มหากาพย์กลโกง "แชร์ลูกโซ่" ลงทุนง่ายได้กำไรเร็วจริงหรือ?

icon 30 ก.ย. 65 icon 53,249
มหากาพย์กลโกง "แชร์ลูกโซ่" ลงทุนง่ายได้กำไรเร็วจริงหรือ?
ตามที่เห็นในข่าวต่างๆ มากมายช่วงนี้ ในเรื่องของขบวนการ "แชร์ลูกโซ่" ที่หลายกลุ่มคนถูกโกงเงินจากการนำเงินไปร่วมลงทุนทำอะไรบางอย่าง แล้วสุดท้ายกลับไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ และยังต้องสูญเงินต้นที่ลงทุนไปด้วย จึงเป็นที่มาของการแจ้งความ ฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดี วันนี้เราจะพามารู้จักมหากาพย์กลโกง "แชร์ลูกโซ่" ว่า "ลงทุนง่ายได้กำไรเร็ว" ในธุรกิจประเภทนี้มันมีอยู่จริงหรือไม่
 
รู้จักแชร์ลูกโซ่
 
 
แชร์ลูกโซ่ เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยจะมีการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผู้ประกอบการก็มักจะอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่มีรายได้สูงเพียงพอที่จะปันรายได้แจกจ่ายให้ผู้ร่วมธุรกิจได้อย่างทั่วถึง 
 
โดยจะมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรกๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้เข้าร่วมลงทุน แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใดๆ ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กล่าวอ้างกับผู้ร่วมลงทุน แต่จะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับสมาชิกเก่า และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้ และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป 
 
ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นเพียงการโยกย้ายเงินจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีการลงทุนจริงตามที่กล่าวอ้าง
 
ธุรกิจแบบไหนที่เข้าข่ายเป็น "แชร์ลูกโซ่" 
 
ลักษณะของธุรกิจการเงินนอกระบบที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนส่วนใหญ่จะมีรูปแบบลักษณะใกล้เคียงกัน คือ การหาสมาชิกเพิ่ม และให้ผลประโยชน์ ตอบแทนสูงเกินจริงในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าประกอบธุรกิจใด ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
 
แบบที่ 1 ลักษณะการขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่
 
เป็นรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกล่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น หรืออาศัยธุรกิจขายตรงบังหน้าแบบแชร์ลูกโซ่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจลักษณะนี้ จะเน้นการชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก หรือประกาศรับสมัครงานโดยมีสินค้าบังหน้า หรือประกอบธุรกิจทางด้านการนำเข้าส่งออก โดยบริษัทไม่ได้มุ่งเน้นการขายสินค้าแต่เน้นชักชวนบุคคลอื่นมาเป็นสมาชิกหรือพนักงานบริษัทเพิ่มต่อกันไปเรื่อยๆ โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาสมาชิกเพิ่มในอัตราสูง
 
กลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้าน ครู หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือประชาชนในต่างจังหวัด ที่มีการศึกษาในระดับหนึ่ง และไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินอย่างรอบคอบ มุ่งแต่เพียงผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับในอัตราสูงเท่านั้น และมิได้มีความสงสัยว่าบริษัทประกอบธุรกิจใดที่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงมากได้ 
 
แบบที่ 2 ลักษณะการชักชวนให้ร่วมลงทุนซื้อขาย หรือเก็งกำไรในธุรกิจประเภทต่างๆ 
 
เป็นรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงต้มตุ๋นโดยใช้วิธีการเล่ห์เหลี่ยมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และทีมงานที่มีการฝึกฝนเป็นอย่างดีเพื่อชักชวน โน้มน้าวให้ร่วมลงทุนธุรกิจที่มักจะอ้างว่าเป็นที่นิยมแพร่หลายในต่างประเทศ มีตลาดกลางการซื้อขายในต่างประเทศทั่วโลก เช่น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในลักษณะเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (Forex) การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Commodity) หรือการเก็งกำไรจากการขึ้นลงของดัชนีหลักทรัพย์ (Set Index) เป็นต้น โดยจะมีการกล่าวอ้างว่ามีการส่งคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งขายไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท แต่ไม่มีการสั่งซื้อ หรือทำการจริงๆ 
 
กลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงประเภทนี้ อาจจะมาจากสาเหตุที่เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนเร็ว แบบก้าวกระโดด ซึ่งช่วงแรกๆ ของการเริ่มลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนจริง และเมื่อเห็นว่าได้จริงๆ ก็เพิ่มเงินลงทุนเข้าไปอีก สุดท้ายก็ไม่ได้ทั้งผลตอบแทน และเงินต้นก็สูญไปด้วย 
 
วิธีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในธุรกิจ "แชร์ลูกโซ่"
 
การจ่ายผลตอบแทนของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกรายใหม่ มาจ่ายหมุนเวียนให้สมาชิกรายเก่า เนื่องจากไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่สมาชิกผู้ร่วมลงทุนตามที่สัญญาไว้ได้
 
ย้อนรอยคดีดัง "แชร์ลูกโซ่"
 
การหลอกลวงนักลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จากอดีตจนปัจจุบันมีเกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีการแอบอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ และมีการชักชวนคนทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุน โดยจะเสนอผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ
 
แต่จะไม่มีการนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจจริงตามที่กล่าวอ้าง จะใช้เพียงวิธีการหมุนเวียน หรือโยกย้ายเงิน จากนักลงทุนรายใหม่ มาให้นักลงทุนรายเก่า หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน แชร์ลูกโซ่วงนี้ก็จะล่ม และมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ตัวอย่างเช่น
 
แชร์แม่ชม้อย
 
เป็นกรณีศึกษาที่เมื่อพูดถึง "แชร์ลูกโซ่" แล้วจะไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับ "แชร์แม่ชม้อย" ที่สามารถหลอกเงินนักลงทุนไปได้มากถึง 4,043 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 13,248 คน โดยแรงจูงใจที่ทำให้คนสนใจลงทุนจำนวนมาก คือการชักชวนให้ลงทุนรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือน หรือ 78% ต่อปี
 
สิ่งที่ทำให้หลายคนหลงเชื่อ และยอมร่วมลงทุนคือการสร้างโปรไฟล์ของ "แม่ชม้อย" ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ดำเนินกิจการค้าน้ำมันทั้งใน และนอกประเทศ มีเรือเดินทะเลสำหรับขนส่งน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ ชักชวนประชาชนให้มาเล่นแชร์น้ำมันร่วมธุรกิจ ทำให้คนที่เชื่อยอมลงทุนด้วยและเมื่อได้รับผลตอบแทนในช่วงแรกจึงทุ่มเงินลงทุนเพิ่มไป เพื่อหวังกำไรงามๆ อย่างที่อวดอ้าง
 
โดยนางชม้อยถูกตัดสินจำคุกกว่า 150,000 ปี ซึ่งเป็นคดีความที่มีการจำคุกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่ต่อมาได้รับการลดโทษเหลือ 7 ปี 11 เดือน
 
ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ (www.bangkokbiznews.com)
 
แชร์ลูกโซ่ Forex-3D
 
กลายเป็นคดีดังเมื่อประมาณปลายปี 2562 ที่ผ่านมา กรณีมีผู้เสียหายจากการลงทุนจำนวนหลายหมื่นคน รวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI หลังลงทุนกับบริษัท Forex-3D แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายได้กว่าพันล้านบาท การลงทุนดังกล่าวเป็นเหมือนการขายฝัน โดยบริษัทจะอ้างกับผู้ลงทุนว่าจะนำเงินที่ได้จากการลงทุนไปซื้อ-ขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) และมีการเสนอผลตอบแทนให้สูงถึงร้อยละ 60-80 ของผลกำไรที่ได้
 
ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเทรด และประกันเงินต้นให้ 100% แถมยิ่งชวนคนมาลงทุน ก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนเพิ่ม หากผู้ลงทุนรายใหม่ได้กำไร ผู้ชวนจะได้รับผลตอบแทนอีกประมาณ 5% จากกำไรของผู้ลงทุนรายใหม่ ด้วยผลตอบแทนที่สูง ทำให้มีคนจำนวนมากหลงเชื่อ แต่ความจริงกลับไม่สวยงามแบบที่คิด เมื่อจริงๆ แล้วเงินลงทุนจะถูกหมุนเวียนมาจ่ายให้กับผู้ลงทุน และผู้ให้กู้ยืม ภายหลังสภาพการเงินขัดข้อง ผู้ลงทุนเริ่มไม่พอใจ จนทำให้เรื่องเริ่มแดง ในที่สุด DSI ได้รับคดีนี้ให้เป็นคดีพิเศษ พร้อมทำการสืบสวนจนพบต้นตอของขบวนการ ไล่สืบสวน และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
 
ขอบคุณข้อมูลจาก อีจัน (www.ejan.co)
 
ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าเข้าข่ายถูกหลอก หรือตกเป็นเหยื่อ "แชร์ลูกโซ่"
 
 
หากสงสัยว่าเข้าข่ายถูกหลอกให้ร่วมขบวนการณ์แชร์ลูกโซ่ เช่น ได้รับเชิญให้เข้าร่วมธุรกิจขายตรง 
  • สามารถสอบถามเพิ่มเติมเรื่องธุรกิจขายตรงได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ. โทร. 1166) หรือ
  • ตรวจสอบการจดทะเบียน หรืองบการเงินของบริษัทที่ชักชวนให้ร่วมลงทุน ได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (โทร. 1570) หรือ 
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. โทร. 1207)
  • เมื่อตกเป็นเหยื่อหรือได้รับความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่ ให้รวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มี เช่น สัญญา หลักฐานการโอนเงิน ที่ตั้ง/เบอร์โทรสำนักงาน รูปถ่าย แล้วขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง (โทร. 1359) หรือ
  • แจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI โทร. 1202)

"แชร์ลูกโซ่" เป็นมหากาพย์กลโกงที่มีมายาวนาน แต่ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็ยังมีผู้ที่พลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อเป็นจำนวนไม่น้อย แต่…หากเราเกิดพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อของ "แชร์ลูกโซ่" แล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ควรรีบแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน อย่างน้อยก็จะได้ประกาศให้คนที่ยังไม่ตกเป็นเหยื่อได้รู้ว่าขบวนการแบบนี้ เป็น "แชร์ลูกโซ่" และคำว่า "ลงทุนง่ายได้กำไรเร็ว" ในธุรกิจประเภทนี้ ไม่มีอยู่จริง!! 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 
แท็กที่เกี่ยวข้อง กลโกงการเงิน แชร์ลูกโซ่ ภัยการเงิน บทความการเงิน 2565 มหากาพย์แชร์ลูกโซ่ Forex-3D
Money Guru
เขียนโดย ชนานาถ จินตกสิกรรม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)