โลกการลงทุนในปัจจุบันนี้มีตัวเลือกที่หลากหลาย ทั้งหุ้น กองทุนรวม คริปโตฯ และนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น สามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ รออนุมัติเพียงไม่กี่วัน แต่ในทางกลับกัน การที่มีตัวเลือกหลากหลาย ก็อาจทำให้หลายๆ คนเกิดความลังเล ว่าควรลงทุนแบบไหนถึงเหมาะกับเรา
โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เหมาะกับการจัดพอร์ต และกระจายความเสี่ยงอย่างกองทุนรวมผสม ที่ลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) และตราสารหนี้ในกองทุนรวมเพียงกองเดียว ซึ่งนักลงทุนสามารถแยกการลงทุน โดยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็น 2 กองทุนได้ด้วยเช่นกัน
บทความนี้จะมาเล่าถึงข้อดี และข้อเสียของการลงทุนในกองทุนรวมผสม เมื่อเทียบกับการซื้อแยกรายกองทุนเป็นอย่างไร และนักลงทุนรวมควรเลือกลงทุนแบบไหน ไปอ่านพร้อมๆ กันเลย...
กองทุนรวมผสมคืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับกองทุนรวมผสมเพิ่มเติมสักนิด กองทุนรวมผสมเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนทั้งตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งมีระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุน หากนโยบายของกองทุนรวมลงทุนในตราสารทุน 70% และตราสารหนี้ 30% ก็ย่อมมีความเสี่ยง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่านโยบายกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน 50% และตราสารหนี้ 50%
ประเภทของกองทุนรวมผสม กองทุนรวมผสม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) : เป็นกองทุนรวมที่ผสมผสานการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ตราสารอื่นๆ เข้าด้วยกัน โดยที่มีสัดส่วนของตราสารทุนอยู่ระหว่าง 35-65% ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน
- กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Fund) : เป็นกองทุนรวมที่ผสมผสานการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ตราสารอื่นๆ เช่นเดียวกัน แต่จุดที่แตกต่าง คือ เป็นกองทุนที่ไม่กำหนดสัดส่วนของสินทรัพย์ ว่าต้องมีสัดส่วนของตราสารทุนอยู่เท่าไหร่ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า
ข้อดี - ข้อเสีย ของกองทุนรวมผสม
ข้อดีของกองทุนรวมผสม
- สะดวกสบาย ลงทุนเพียง 1 กองทุน แต่ได้ลงทุนมากกว่า 1 สินทรัพย์ สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นลงทุน กองทุนรวมผสมเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจเลยทีเดียว
- ใช้เงินลงทุนน้อย ในปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวมของหลายๆ กองทุนใช้เงินเริ่มต้นเพียง 1 บาท แต่ในบางกองทุนก็ยังกำหนดขั้นต่ำในการลงทุนอยู่ เช่น 500 บาท 1,000 บาท 2,000 บาท เป็นต้น ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำกัด การลงทุนในกองทุนรวมผสม ก็เป็นทางเลือกที่ใช้เงินลงทุนน้อย และยังสามารถลงทุนได้หลายสินทรัพย์ในคราวเดียว
- ติดตามผลการดำเนินการได้ง่าย นักลงทุนควรจะติดตามผลการดำเนินงานทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี การที่ลงทุนในกองทุนผสมเพียงกองเดียว ช่วยให้ติดตามได้ง่าย และสะดวกมากกว่า
- มีการปรับพอร์ตอยู่เสมอ การที่เลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมบางกองทุน อาจมีปรับกลยุทธ์ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งคนที่คอยปรับพอร์ตการลงทุน คือ ผู้จัดการกองทุนนั่นเอง ช่วยให้เราไม่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์การลงทุนมากนัก
ต่างจากการซื้อแยกรายกองทุนรวม ที่นักลงทุนต้องคอยศึกษาว่ากองทุนไหนดี กำหนดสัดส่วนในการลงทุนเอง หากอยากลงทุนในสัดส่วน 70:30 (ตราสารทุน:ตราสารหนี้) ต้องคอยปรับพอร์ตให้สมดุลเอง เพื่อให้ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเพราะต้องซื้อถึง 2 กองทุน
ข้อเสียของกองทุนรวมผสม
- ไม่สามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนเองได้ สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนมาแล้วสักพัก ได้ติดตามข่าวสารการลงทุน และต้องการที่จะกำหนดสัดส่วนการลงทุนเอง อาจจะไม่เหมาะสมกับกองทุนรวมผสมมากนัก เพราะต้องลงทุนตามกลยุทธ์ของผู้จัดการกองทุน
- ไม่รู้สัดส่วนการลงทุนที่แน่ชัด นอกจากที่นักลงทุนจะไม่สามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนเองได้ ก็จะไม่รู้สัดส่วนการลงทุนที่แน่ชัดเช่นกัน เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยนักลงทุนสามารถดูสัดส่วนการลงทุนได้จากหนังสือชี้ชวน ที่จะมีการอัปเดตในทุกๆ 1 เดือน หรือ 3 เดือน ซึ่งไม่ใช่แบบ real-time
- ขาดอิสระในการเลือกลงทุน ปัจจุบันมีกองทุนรวมให้เลือกลงทุนหลากหลายพันกองทุน และมีจำนวนบลจ. ผู้ออกกองทุน มากกว่า 20 บลจ. ดังนั้นแต่ละบลจ.อาจจะมีความโดดเด่นในแต่ละสินทรัพย์การลงทุนที่แตกต่างกันไป บางบลจ. เด่นด้านตราสารหนี้ บางบลจ. เด่นด้านตราสารทุน ดังนั้นการลงทุนในกองทุนรวมผสม เราสามารถเลือกลงทุนได้เพียง 1 บลจ. ทำให้ขาดอิสระในการคัดเลือกกองทุนที่โดดเด่นของบลจ. นั้นๆ
ต่างจากการซื้อแยกรายกองทุนรวม ที่นักลงทุนมีอิสระในการเลือกซื้อกองทุนด้วยเอง โดยสามารถศึกษาหาข้อมูลได้ว่าแต่ละบลจ. มีความโดดเด่นในสินทรัพย์ด้านไหน และเลือกกำหนดสัดส่วนการลงทุนเองได้
โดยสรุปแล้วไม่ว่าจะลงทุนในกองทุนรวมผสม หรือ ซื้อแยกรายกองทุน ก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นจุดที่ทำให้ได้เริ่มต้นลงทุน แต่กองทุนรวมผสมอาจจะเหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ที่ไม่ได้มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุนมากนัก และมีเงินลงทุนที่จำกัด การเลือกลงทุนในกองทุนผสมจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนนักลงทุนที่ได้ลงทุนมาก่อนบ้าง เข้าใจสถานการณ์การลงทุน การซื้อแยกรายกองทุนจะทำให้ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนได้มากกว่านะครับ