ปัญหาเรื่องปากท้อง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ เมื่อเราต้องเจอกับภาวะ "เงินเฟ้อ" ที่ของกินของใช้มีราคาแพงขึ้น เช่น ในวันที่เราซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามด้วยเงิน 20 บาทไม่ได้แล้ว…วันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไม่ถึงร้อยละ 1 บาท หรือแม้แต่การที่เรากำเงิน 100 บาท ไปซื้อของที่ตลาด เราจะได้อะไรกลับมาบ้าง จากวันวานจนถึงวันนี้ เราเห็นได้ชัดว่า "ค่าของเงิน" เปลี่ยนไป ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และเราในฐานะประชาชนทั่วไป จะวางแผนการเงินเพื่อรับมือกันกับสภาวะการณ์นี้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันที่นี่ค่ะ
"เงินเฟ้อ" คืออะไร และเกิดจากอะไร?
ภาวะเงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้า และบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากๆ จะส่งผลกระทบในเรื่องของ ฐานะ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ คือ
- การที่ประชาชนมีความต้องการซื้อสินค้า และบริการเพิ่มขึ้น ( Demand – Pull Inflation) โดยที่สินค้า และบริการนั้นๆ มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ขายมีการปรับราคาสินค้า และบริการให้สูงขึ้น
- การมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost – Push Inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้า และบริการให้สูงขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง
ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ
สำหรับภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ รวมถึงผลกระทบต่อประเทศ โดยขอแจกแจง รายละเอียด ดังนี้
ผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป
- รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่ เพียงพอกับการยังชีพ
- อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า "อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง" จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
- เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุน และการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
- ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่นๆ
ผลกระทบต่อประเทศ
- ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
- ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนาน ๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น หนี้ครัวเรือน
ประชาชนทั่วไปจะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างไร?
วิธีการในการรับมือกับปัญหา "เงินเฟ้อ" สำหรับประชาชนทั่วไป คือ ควรมีการวางแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในสถานการณ์ที่เกิดหรือไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ควรมีการกระจายเงินออม และเงินลงทุนให้เหมาะสม โดยก่อนที่จะลงทุนอะไรก็ตามควรมีเงินสดสำรองเผื่อสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้ในระดับที่เหมาะสมด้วยนะคะ
- ในสถานการณ์ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ เราสามารถวางแผนการลงทุน โดยนำเงินที่มีไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น ลงทุนหุ้น ลงทุนในกองทุนรวม หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่การลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตามที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ก็มักจะมีในเรื่องของความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนนะคะ
- การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย เช่น "ทองคำ" เพราะทองคำถือเป็นถือเป็นสินทรัพย์ที่ มีมูลค่าในตัวเองเสมอ และไม่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น หากลงทุนเป็นทองคำแท่ง เมื่อเกิดเหตุจำเป็นต้องการใช้เงิน ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที
- หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้ ใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการซื้อของที่ไม่จำเป็น และการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม
- ติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่เสมอ เพราะเรื่อง "เงินเฟ้อ" เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อฐานะ และการดำรงชีพของเราอย่างมีนัยยะสำคัญ เราควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565)
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 (ปีฐาน 2562 = 100)
อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวค่อนข้างมาก โดยในเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 3.23 การเพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้มีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ที่มีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งมาตรการดังกล่าว สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง มีการปรับราคาสูงขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น สำหรับเนื้อสุกร และผักสดแม้ว่าราคาจะยังคงสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแต่ราคาลดลงจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิต และความต้องการในการบริโภคของประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 1.80 และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) 2565 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 4.25 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 1.16 (AoA)
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูง ตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อได้อีกทาง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)