เงินสำรองฉุกเฉิน มีแค่ไหนถึงจะพอ สรุปครบทุกแบบ

icon 10 มี.ค. 65 icon 4,423
เงินสำรองฉุกเฉิน มีแค่ไหนถึงจะพอ สรุปครบทุกแบบ
เงินสำรองฉุกเฉิน คือ เงินออมที่แยกขาดจากการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ความสามารถในการดึงออกมาใช้จ่ายได้เมื่อจำเป็น ทำให้ความคาดหวังเรื่องผลตอบแทนจะอยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อแลกมาซึ่งความรวดเร็วในการดึงออกมาใช้จ่ายเมื่อจำเป็น
 
เงินสำรองฉุกเฉินเป็นเงินออมก้อนแรกๆ ที่ควรจะคำนึงถึงเมื่อมีรายได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ที่หลายๆ คนอาจได้รับบทเรียนอันมีค่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ได้รู้ว่าในวันที่รายได้ดูเหมือนจะแน่นอน และมั่นคง อาจขาดช่วงหรืออาจหายไปได้เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ามีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเข้ามากระทบ
 
ดังนั้นแล้วในช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น ธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ เริ่มดำเนินกิจการได้ใกล้เคียงกับแต่ก่อนมากยิ่งขึ้น นับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับหลายๆ คนที่จะเริ่มพิจารณาเก็บเงินก้อนนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในอนาคตถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้อีก หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ จะสามารถมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ โดยที่ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่าย
 
เงินสำรองฉุกเฉิน มีแค่ไหนถึงจะพอ?
 
ก่อนที่จะคำนวณว่าควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี สิ่งสำคัญคือ การแยกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออกมาให้ชัดเจนว่า มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จำเป็นต้องชำระ หรือใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ-ไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นค่าใช้จ่ายคงที่เท่าๆ กันทุกเดือน 
    
เมื่อรู้จำนวนเงินเบื้องต้นที่จำเป็นในแต่ละเดือนแล้ว ก็สามารถนำเงินจำนวนนั้นมาคำนวณเพิ่มตามลักษณะของอาชีพ ซึ่งสามารถแบ่งอาชีพต่างๆ ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 
 
กลุ่มพนักงานประจำ
 
เป็นกลุ่มที่ได้เปรียบในเรื่องวางแผนการเก็บเงินสำรองได้ง่ายที่สุด และมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด เพราะมีความมั่นคงในเรื่องของรายได้ ที่จะเข้าบัญชีทุกๆ เดือนในจำนวนที่เท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ
 
และถ้ามีเหตุจำเป็นต้องออกจากงาน หรือว่างงานจริงๆ ก็ยังมีเงินช่วยเหลือในยามว่างงานจากกองทุนประกันสังคมที่พนักงานประจำเก็บออมไว้ทุกๆ เดือน ทำให้จำนวนเงินที่ควรจะเก็บเพื่อสำรองยามฉุกเฉินสำหรับกลุ่มพนักงานประจำ อยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น
 
ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ก็ควรมีวางแผนการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ 30,000-60,000 บาท
 
กลุ่มฟรีแลนซ์
 
เป็นอีกกลุ่มที่ควรมีการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเป็นอย่างยิ่ง เพราะลักษณะงานของฟรีแลนซ์ มักจะมีรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ แม้แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจปกติ ก็อาจจะมีบางเดือนมีรายได้มาก บางเดือนมีรายได้น้อย ขึ้นอยู่กับการว่าจ้างงาน ทำให้ฟรีแลนซ์เจอกับปัญหาความไม่แน่นอนของรายได้
    
ดังนั้นจำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่ฟรีแลนซ์ควรจะมี อยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือนขึ้นไป เพื่อรับรองเหตุไม่คาดฝัน เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโอกาสที่จะไม่มีการว่าจ้างไปเฉยๆ เลยก็ตาม
 
ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ก็ควรมีวางแผนการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ 60,000-120,000 บาท
 
กลุ่มเจ้าของกิจการ
 
กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เพราะในสภาวะของเจ้าของกิจการ นอกจากจะคล้ายฟรีแลนซ์ตรงที่มีรายได้เข้ามาไม่ค่อยสม่ำเสมอแล้ว ยังมีอีกบทบาทที่สำคัญคือการเลี้ยงดูพนักงานภายในบริษัทให้อยู่รอดร่วมกันไปได้ในทุกๆ สถานการณ์
 
ดังนั้นการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับเจ้าของกิจการ ในแง่ของชีวิตส่วนตัวสามารถใช้เกณฑ์เดียวกับฟรีแลนซ์ได้ ก็คือประมาณ 6-12 เดือนขึ้นไป แต่มีจุดแตกต่าง และสำคัญมากกว่านั้นคือการแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตงานออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการดึงเงินไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้
 
โดยที่ในส่วนของเงินสำรองฉุกเฉินของกิจการเพื่อการดูแลธุรกิจ และพนักงานภายในบริษัท อาจต้องพิจารณาการใช้วงเงินสินเชื่อเบิกเกินบัญชี (O/D) เพื่อบริหารสภาพคล่องในยามฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือเสียโอกาสทางธุรกิจ
 
เงินสำรองฉุกเฉินควรเก็บไว้ที่ไหน?
 
จุดสำคัญของเงินสำรองยามฉุกเฉิน คือ ความปลอดภัย และสภาพคล่องที่ต้องสูงมากพอ จนเรามั่นใจได้ว่าเมื่อถึงยามจำเป็น เงินที่เก็บสำรองไว้จะต้องอยู่ครบ และสามารถดึงออกมาใช้ได้เสมอ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าถ้าเก็บเป็นเงินสด หรือเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ ก็น่าจะสะดวก เพราะสามารถดึงมาใช้ได้ง่าย แต่ก็อยากให้ระวัง เพราะเราอาจดึงมาใช้ผิดวัตถุประสงค์
 
ดังนั้นสำหรับใครที่กังวลว่า ถ้าเก็บเงินไว้ในรูปแบบของเงินสด หรือเงินในบัญชีออมทรัพย์แล้วจะเผลอดึงออกมาเพื่อใช้จ่ายอย่างอื่น ทีมงานขอแนะนำให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น กองทุน TCMF, T-CASH และ LHMM-A ที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินเป็นหลักทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้กองทุนกลุ่มนี้มีความมั่นคงสูง และมีสภาพคล่องที่สูง
 
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อความมั่นคงสูงเช่นนี้ กองทุนเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ยังคงสูงกว่าเงินฝากทั่วๆ ไป  พร้อมกับความสามารถในการใช้เงินได้อย่างรวดเร็วเพียง 1 วันทำการหลังส่งรายการขาย

สำหรับใครที่กำลังเริ่มเก็บเงินก้อนนี้ ทีมงานขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน อาจจะเริ่มจากการแบ่งเงิน 10-15% จากรายได้ เพื่อเก็บสะสมไว้ อาจจะใช้เวลาซักพักในการเก็บเงินสำรองให้ครบ แต่ในวันที่เก็บได้ครบจำนวนแล้ว ทีมงานเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนจะรู้สึกอุ่นใจอย่างแน่นอน
แท็กที่เกี่ยวข้อง กองทุนรวม ลงทุนกองทุนรวม เงินสำรองฉุกเฉิน
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)