ประกันภัยรถยนต์ในปัจจุบันมีอยู่หลายแบบ หลายแผน ให้เลือกซื้อตามความพอใจของเจ้าของรถแต่ละคน จะเลือกซื้อแบบไหน? ควรดูยังไง? วันนี้ CheckRaka มีคำตอบ และขอนำข้อมูลรายละเอียดของ "ประกันภัยรถยนต์" มาให้เพื่อนๆ ได้ทำความรู้จัก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อให้เหมาะกับเราที่สุด จะได้เป็นการจ่ายเงินแบบคุ้มค่า ไม่เสียเปล่า ไม่รอช้อแล้วนะคะ...ไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
ทำความรู้จักกับประกันภัยรถยนต์
"ประกันภัยรถยนต์" เป็นการที่ "ผู้เอาประกันภัย" โอนความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับรถยนต์ไปให้ "ผู้รับประกันภัย" รับความเสี่ยงภัยนั้นแทน โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย "เบี้ยประกันภัย" ให้กับผู้รับประกันภัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้รับประกันภัยยอมรับความเสี่ยงภัยไว้แทน หากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวรถยนต์ หรือแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลที่โดยสารอยู่ภายในรถยนต์ ตลอดจนบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยคันดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เรียกว่า "ค่าสินไหมทดแทน" โดยผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้
"ประกันภัยรถยนต์" มีกี่ประเภท?
ถ้าพูดถึงประกันภัยรถยนต์ สามารถแบ่งประเภทประกันภัยที่ควรรู้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)
ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ "ประกันภัย พ.ร.บ." เป็นประกันภัยที่รถยนต์ทุกคันทุกชนิดจะต้องทำ เนื่องจากเป็นกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยประกันภัยประเภทนี้ได้ความคุ้มครองและรับผิดชอบต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยจากรถยนต์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทคนหนึ่ง ขับรถไปทำงานตามปกติ แต่เกิดเหตุการณ์ชนคนที่กำลังเดินข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้จะรับผิดชอบเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนเดินถนนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่จะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าจะกรณีใดๆ - ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)
"ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ" เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (ผู้เอาประกันภัย) และผู้ขาย (บริษัทประกันภัย) ด้วยการเลือกซื้อความคุ้มครองประกันภัยตามความต้องการของผู้ซื้อโดยไม่มีผู้ใดบังคับซึ่งประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนที่เกิดจากความรับผิดชอบของประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) นั่นเอง
"ประกันภัยรถยนต์" คุ้มครองอะไรบ้าง?
ประเภทความคุ้มครองของ "ประกันภัยรถยนต์" ที่จะคุ้มครองความเสียหายแก่ร่างกาย และทรัพย์สิน ให้กับผู้เอาประกันภัยและผู้อื่น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทความคุ้มครอง ดังนี้
"ประกันภัยรถยนต์" มีประโยชน์ยังไง?
มีคนเคยบอกว่า...การซื้อประกันภัยภาคสมัครใจนั้นมีประโยชน์สำหรับคนใช้รถใช้ถนน ควรมีไว้เพื่อให้อุ่นใจ แต่สงสัยกันมั้ยคะว่า ประโยชน์ของ "ประกันภัยรถยนต์" ที่แท้จริงคืออะไร? มีอะไรบ้าง? วันนี้ไปไขข้อสงสัยนั้นกันค่ะ
- ประโยชน์ด้านบุคคล
สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อประกันภัยรถยนต์ว่าหากเกิดอุบัติเหตุ ได้รับความเสียหายก็จะได้รับการชดใช้จากผู้รับประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สิน การบาดเจ็บต่อร่างกาย ทั้งของผู้ขับขี่รถยนต์ และบุคคลภายนอก เป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลากับการโต้แย้งในกรณีที่รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เป็นฝ่ายผิด ทางผู้รับประกันภัยก็จะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายแทนให้ แต่ถ้ารถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เป็นฝ่ายถูก ทางผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย หรือทำการซ่อมแซมรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยก่อนจนสามารถนำรถไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลา และผู้รับประกันภัยก็จะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยให้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เอาประกันภัยในการดำเนินงานหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
- ประโยชน์ด้านสังคมและประเทศชาติ
2.1 เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ ทำให้สังคมมีหลักประกันความปลอดภัย มีความมั่นใจว่าเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจะได้รับการชดใช้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของคนทั่วไปมีความเป็นอยู่พอกินพอใช้ มีเงินออมไม่มากนัก แถมยังมีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด อย่างเช่น วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนส่วนใหญ่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนมาก เป็นเหตุทำให้ส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจของชาติ แต่เมื่อมีการทำประกันภัยไว้ก็ย่อมทำให้อุ่นใจได้ว่าจะมีผู้บรรเทาความเดือดร้อนให้แน่นอน
2.2 การประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบังคับให้ประชาชน ในชาติประหยัดทางอ้อม คือ นำเงินส่วนหนึ่งมาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัย ในรูปของเบี้ยประกันภัย เพื่อลดการเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและผู้รับประกันภัย นำเงินดังกล่าวไปลงทุนหาดอกผล ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาประเทศในการเพิ่มการลงทุนของประเทศนั่นเอง
2.3 ทำให้คนกล้าลงทุนในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจอยู่นั้นจะเสียหายทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากได้ทำประกันภัยไว้แล้ว ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นและทำให้ธุรกิจ ต้องได้รับความเสียหาย ผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้การค้าและอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญขึ้นได้
- ประโยชน์ด้านธุรกิจ
3.1 เมื่อมีการประกันภัยรถยนต์ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินการในธุรกิจประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความสำคัญไม่น้อยกว่าธุรกิจอื่นๆการเติบโตของธุรกิจ ประกันภัยช่วยทำให้คนมีงานทำมากขึ้นและมีภาวะการครองชีพที่ดีขึ้น
3.2 ก่อให้เกิดเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ การลงทุนประกอบธุรกิจนั้น เมื่อผู้ลงทุนสามารถลดการเสี่ยงภัย ด้วยการโอนความเสี่ยงภัยไปให้ผู้รับประกันภัย โดยเสียเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตมีความแน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีเสถียรภาพมั่นคงยิ่งขึ้นและทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น
"ประกันภัยรถยนต์" มีกรมธรรม์กี่ประเภท? อะไรบ้าง?
ก่อนจะเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เราควรรู้ก่อนว่า...ควรจะซื้อกรมธรรม์ประเภทไหนดี? แบบไหนเหมาะ? เพราะในปัจจุบันสำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้นมีให้เลือกหลากหลายกรมธรรม์ ซึ่งการที่จะเลือกแบบไหนนั้น จะต้องดูที่ความต้องการ ความจำเป็น ความเหมาะสม และค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อประกันภัยนั้นๆ ด้วย เพื่อให้การจ่ายเงินในทุกครั้งได้รับความคุ้มค่า และเหมาะสมกับการใช้รถใช้ถนนของเรามากที่สุด ดังนั้น วันนี้ทางทีมงานจึงรวบรวมสรุปข้อมูลประเภทกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่มีทั้งหมดมาให้เพื่อนๆ ได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อ "ประกันภัยรถยนต์" แบบละเอียด และเข้าใจง่ายตามนี้เลยค่ะ
ประเภทกรมธรรม์ประกันภัยที่ควรรู้
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (Comprehensive)
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยมีความคุ้มครองหลักครบทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
1) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2) คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์
4) คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 (Third Party Liability, Fire and Theft)
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองใกล้เคียงกับการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แตกต่างเพียงไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ โดยมีความคุ้มครองหลัก ดังนี้
1) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2) คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3) คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 (Third Party Liability)
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองน้อยกว่าการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 และประเภท 2 โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ดังนี้
1) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
2) คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 4 (Third Party Property Damage Only)
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 4 ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 เป็นแบบคุ้มครองภัยเฉพาะที่พัฒนาใช้งานขึ้นมาในภายหลัง แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
แบบประกัน 2 พลัส (2+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น 2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
1) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
2) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
3) คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
4) คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
แบบประกัน 3 พลัส (3+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายแบบประกันภัยชั้น 3 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น และต้องมีคู่กรณี โดยให้ความคุ้มครอง ดังนี้
1) คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
2) คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
3) คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก
ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 ทั้งประกัน 2 พลัส และประกัน 3 พลัส คือ
- ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น
- ต้องมีคู่กรณี ถ้าชนแล้วหนี หาพยานหลักฐานไม่ได้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
สุดท้ายนี้....จากรายละเอียด "ประกันภัยรถยนต์" ที่นำเสนอข้างต้น ทีมงานหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังมองหาประกันดีๆ คุ้มๆ เหมาะกับการใช้งานของเราเองนะคะ จ่ายเบี้ยประกันเท่าที่จำเป็น ดีกว่าจ่ายเยอะแล้วไม่ได้ใช้นะคะ เลือกดี เลือกคุ้ม ต้องเลือก "ประกันภัยรถยนต์" ที่เหมาะกับเราค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก คปภ.