P2P Lending คือ การกู้เงินรูปแบบใหม่ มีดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคาร อนุมัติเร็ว และมักจะไม่ต้องใช้เอกสารหรือตรวจสอบเครดิตแต่อย่างใด ทำให้ได้รับความนิยมสูงมากในต่างประเทศ และประเทศไทยเรากำลังจะมีกฎหมายออกมาเพื่อรองรับ P2P Lending
ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ หลายคนมักจะมีปัญหาด้านการเงินเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดสภาพคล่องชั่วคราว ถูกเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน อุบัติเหตุทำให้ต้องใช้เงินฉุกเฉิน หรือแม้แต่การต้องใช้เงินซื้อของชิ้นใหญ่เช่น ดาวน์รถ หรือ ผ่อนบ้าน
กู้เงินธนาคาร คิดดีแล้วใช่ไหม?
ทางเลือกหลักสำหรับคนทั่วๆไปคือการไปขอกู้เงินจากธนาคาร แต่การขอกู้เงินจากธนาคารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่จะกู้ได้ทุกคน การกู้เงินจากธนาคารนั้นต้องผ่านการตรวจสอบเครดิต และเช็คประวัติทางการเงินอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้เป็นเงินเดือนเข้าทุกเดือน และมีความชัดเจนของที่มาที่ไปของเงินแล้ว มักจะกู้ผ่าน
แต่ก็ยังมีคนอีกหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการขนาดเล็ก หรือ คนที่ทำธุรกิจฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้มีรายได้ที่ต่อเนื่องเหมือนอย่างมนุษย์เงินเดือน ทำให้บางครั้งมักจะไม่สามารถกู้เงินได้
นอกจากการกู้เงินที่ยุ่งยากแล้วแล้วยังมีเรื่องดอกเบี้ยที่ขึ้นชื่อว่าสูงมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ดอกเบี้ยในประเทศไทยสูงกว่าทุกประเภท ดอกเบี้ยบางประเภทสูงถึง 30% ต่อปี ทำให้บางคนแม้จะกู้ได้แต่ก็ต้องทนจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก
ยิ่งไปกว่านั้นหากผิดนัดชำระค่างวดหรือเกิดปัญหาขึ้นมา ดอกเบี้ยเหล่านั้นยังถูกทบต้นจากเงินต้นกลายเป็นการเพิ่มหนี้ให้ตนเองไปโดยปริยาย สุดท้ายทำให้ดอกเบี้ยยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งไม่จ่ายยิ่งไปพอกเงินต้น สุดท้ายจ่ายไม่ได้ต้องยอมโดนเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดหรือโดนฟ้องร้องทางกฎหมาย
นี่คือความโหดร้ายของการกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งมาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงนัก
การกู้เงินแบบใหม่ ผ่าน Platform P2P Lending
อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลและพัฒนาไปมาก โลกของเรามีการกู้เงินแบบใหม่เกิดขึ้นเรียกว่า P2P Lending หรือชื่อเต็มๆว่า Peer-to-Peer Lending นั่นเอง
P2P Lending คือ Platform ตัวกลางกู้เงินยืมเงิน โดยบริษัทที่ทำธุรกิจ P2P Lending จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างคนที่ต้องการกู้เงิน และคนที่มีเงินเหลือต้องการผลตอบแทนมากขึ้นจากการปล่อยกู้ (ผู้ให้กู้) แบบไม่ต้องใช้เอกสารและไม่ต้องผ่านการตรวจสอบเครดิต
ทำไมต้องมีตัวกลาง? ลองนึกภาพดูว่าถ้าผู้ให้กู้ไปปล่อยกู้เอง แน่นอนว่าจะเจอกับปัญหาที่ต้องบริหารจัดการตรวจสอบเครดิตของผู้กู้เอง ตามไปเก็บเงินเอง รวมถึงถ้าผู้กู้ไม่ชำระตามกำหนดก็ต้องไปฟ้องร้องเอาเองด้วย ถ้ามีการปล่อยกู้แค่ 5-10 คนอาจจะยังพอบริหารจัดการไหว แต่ถ้าปล่อยกู้เป็นหลัก 100 คน ผู้ให้กู้จะไม่สามารถ รวมไปถึงการคอยตามเก็บหนี้ด้วย
ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าถ้าผู้ให้กู้ปล่อยกู้ผ่าน P2P Lending ซึ่งทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและบริหารจัดการการดำเนินงานกู้ให้หมด
แล้ว P2P Lending ได้อะไรจากการให้บริการครั้งนี้? บริษัทได้ส่วนแบ่งผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยที่เก็บจากผู้กู้รวมไปถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ ถ้ามี
ส่วนผู้กู้จะได้ประโยชน์จาก P2P Lending ในหลายมุมด้วยกันเช่น ...
- อนุมัติเร็วกว่า – บริษัท P2P Lending ส่วนใหญ่มีการอนุมัติเครดิตที่รวดเร็วเพราะไม่มีการเช็คเครดิต หรือมีการเช็คเครดิตเบื้องต้นซึ่งซับซ้อนน้อยกว่าธนาคารทำให้ปล่อยสินเชื่อได้เร็วกว่า
- ดอกเบี้ยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสถาบันการเงิน - เนื่องจาก P2P Lending ไม่ได้ใช้เงินทุนของบริษัทเองในการปล่อยกู้ แต่เป็นตัวกลางนำเอาเงินทุนของนักลงทุน หรือผู้ให้กู้มาปล่อยกู้ให้กับลูกค้าโดยตรง บริษัทส่วนใหญ่มักใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน ใช้พนักงานน้อยมาก รวมไปถึงไม่ต้องตั้งสำรองลูกหนี้แบบที่ธนาคารทำ ทำให้สามารถปล่อยกู้ได้ในอัตราที่ถูกกว่าธนาคาร
- ส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง - การกู้เงินกับ P2P Lending มักไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่กล่าวไปด้านบน
- ถ้าจ่ายตรงตามเวลามักจะไม่มีค่าปรับ – ถ้าจ่ายเงินตรงเวลาจะไม่มีค่าปรับ
- ไม่ต้องใช้บริการอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ – ส่วนใหญ่แล้วถ้ากู้เงินกับธนาคารมักจะต้องเจอกับการพยายาม Cross Sales สินค้าและบริการอื่นๆของธนาคารด้วยเช่น ประกันชีวิต หรือบัตรเครดิต การกู้เงินกับ P2P Lending ณ.ปัจจุบันยังไม่มีการ Cross Sales
- ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน – ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือการปล่อยกู้มักจะไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินกู้ และนโยบายที่แตกต่างของบริษัทต่างๆด้วย)
จะเห็นว่าการกู้เงินจาก P2P Lending มีความได้เปรียบเหนือการกู้เงินจากธนาคารหลายข้อ ทีนี้ถ้าอยากกู้เงินแล้ว มีบริษัท P2P Lending ไหนบ้างในประเทศไทยที่เปิดให้บริการแล้ว?
บริษัทที่ให้บริการ P2P Lending ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 3 รายด้วยกันคือ บริษัท Peer Power, บริษัท DeepSparks Peer Lending และบริษัท Nestifly เนื่องด้วยปัจจุบันกฎหมายของเมืองไทยยังไม่รองรับการทำธุรกิจ P2P Lending ทั้ง 100% ดังนั้นหากต้องการกู้เงินจากบริษัทดังกล่าว ผู้กู้เงินควรต้องศึกษาวิธีการ เงื่อนไข และความเสี่ยงจากการกู้ให้ชัดเจน
Source : https://www.bot.or.th/English/PaymentSystems/FinTech/Pages/P2PLendingSandbox.aspx