7 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ทำอย่างไรได้บ้าง

icon 11 ม.ค. 65 icon 11,910
7 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ทำอย่างไรได้บ้าง
ในระยะหลังๆ มานี้ "การทำประกันชีวิต" เป็นเรื่องที่เราหันมาใส่ใจ และให้ความสำคัญกันมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์โควิด-19 หรือด้วยเหตุผลที่ไม่อยากตกเป็นภาระของคนข้างหลัง หากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือจะด้วยเหตุผลที่เวลาเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ เราก็จะมีหลักประกันที่จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าเราสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสบายใจ ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันดีว่าค่าเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์แต่ละฉบับก็มากน้อยขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่เราจะได้รับ ตอนทำแรกๆ เราก็ว่าเราจ่ายไหว แต่พอทำไปสักระยะ เกิดภาวะฉุกเฉิน "เงินช็อต" จนทำให้จ่ายไม่ไหว มีหลายคนที่ยอมทิ้งค่าเบี้ยที่เคยจ่ายไปก็มี วันนี้...เราจะพามาดูกับ 7 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว เราจะทำอย่างไรได้บ้าง
 
 
ปัญหาที่พบบ่อยในเรื่องของการจ่ายเบี้ยประกัน
 
เนื่องจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองในหลายๆ เรื่องกรมธรรม์บางฉบับอาจมีสัญญาเพิ่มเติมในเรื่องของความคุ้มครองการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมเข้ามาด้วย อาจทำให้ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายต่อปีค่อนข้างสูง ตอนเราซื้อประกัน เราก็อยากได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุม ค่าเบี้ยก็จะแพงขึ้น แต่พอถึงตอนจ่ายบางปีเราหมุนเงินไม่ทัน หรือถึงรอบที่ต้องจ่ายแล้วยังไม่สามารถจ่ายได้ก็มีค่ะ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยสำหรับเรื่องการจ่ายค่าเบี้ยประกัน คือ
 
ปัญหาข้อที่ 1) กรณีที่ผู้เอาประกันภัยยังคงต้องการถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้นๆ อยู่ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องลดการจ่ายเบี้ยประกันลง

ปัญหาข้อที่ 2) กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถที่จะชำระเบี้ยประกันภัยต่อไปได้แล้ว ต้องการขอยกเลิก หรือหยุดจ่ายเบี้ยประกัน

ซึ่งแต่ละปัญหาก็มีทางออก หลายทางที่ผู้ถือกรมธรรม์เองก็อาจจะไม่เคยทราบมาก่อน วันนี้เราจะมาสรุปไว้ให้ที่นี่เลยค่ะ
 
ทางออกสำหรับปัญหาข้อที่ 1
 
กรณีที่ผู้เอาประกันภัยยังคงต้องการถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้นๆ อยู่ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องลดการจ่ายเบี้ยประกันลง หรือหาเงินมาจ่ายได้ไม่ทันกำหนดเวลา สามารถขอดำเนินการได้หลายวิธี ดังนี้ค่ะ
 
1. ชำระเบี้ยประกันในระยะเวลาผ่อนผัน
 
ในกรณีที่เราหาเงินมาจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ทันกำหนดเวลา เราสามารถเลื่อนกำหนดมาชำระในช่วงระยะเวลาผ่อนผันได้ ซึ่งปกติแล้วระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันจะอยู่ที่  31 วันนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระเบี้ย ซึ่งในระหว่างระยะเวลาผ่อนผันกรมธรรม์ยังคงมีผลบังคับ และถ้าระหว่างนั้นเราเสียชีวิต บริษัทจะหักเบี้ยประกันที่ยังไม่ได้จ่ายออกจากทุนประกันชีวิต 
 
2. นำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกันแล้ว เรายังไม่ได้จ่ายเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะนำมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์มาชำระเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติในลักษณะของการกู้ยืม ซึ่งคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์และบวกเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 2 ต่อปี 
 
โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามูลค่าเวนคืนเพียงพอจ่ายเบี้ยประกัน บริษัทจะกู้ยืมไปเรื่อย ๆ ทุกปี จนกว่ามูลค่าจะเหลือไม่พอ แต่ถ้ามูลค่าเวนคืนไม่พอจ่ายเบี้ยประกัน บริษัทจะแปลงกรมธรรม์เดิมเป็น "กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ" หรือ "กรมธรรม์แบบขยายเวลา" (*ตามรายละเอียดทางออกสำหรับปัญหาข้อที่ 2 ข้อ 2) โดยอัตโนมัติ ส่วนการชำระคืนเงินกู้นั้น สามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้ภายหลังพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
 
3. ขอเปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกัน

ผู้เอาประกันภัยสามารถขอเปลี่ยนจากชำระเงินเบี้ยประกันแบบรายปี มาเป็นแบ่งชำระทุกเดือน ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ได้ แต่...ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเมื่อรวมทุกงวดในรอบปีเดียวกันจะสูงกว่าการชำระเบี้ยเป็นรายปี และหากปีไหนเรามีความพร้อมในด้านการเงินมากขึ้น เราก็สามารถกลับมาจ่ายเบี้ยรายปีตามเดิมได้
 
4. ลดจำนวนเงินเอาประกันภัยลง

การลดจำนวนเงินเอาประกันลง จะช่วยให้เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายลดลงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ จำนวนเงินเอาประกันที่ขอลดต้องไม่ต่ำกว่าทุนประกันขั้นต่ำที่กำหนด และผู้เอาประกันภัยต้องไม่มีหนี้กับบริษัทประกันชีวิตนั้นขณะขอลดทุนประกัน
 
5. เปลี่ยนแบบกรมธรรม์ 

หากเราพิจารณาแล้วพบว่าแบบประกันที่ทำอยู่ไม่ตรงกับความต้องการ เราสามารถขอเปลี่ยนแบบประกันภัยเป็นแบบอื่นตามที่บริษัทกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้ได้ หากมีระบุไว้ในกรมธรรม์หรือได้รับความเห็นชอบจากบริษัท และหากมีส่วนต่างของเบี้ยประกันหรือเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ บริษัทจะคืนเงินให้หลังหักด้วยหนี้สินที่มี หรือเก็บเงินเพิ่มแล้วแต่กรณี 
 
ทางออกสำหรับปัญหาข้อที่ 2 
 
กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถที่จะชำระเบี้ยประกันภัยต่อไปได้แล้ว ซึ่งสามารถขอดำเนินการได้ 3 วิธี คือ ขอเวนคืนกรมธรรม์ ขอเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หรือขอเปลี่ยนเป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
 
1. ขอเวนคืนกรมธรรม์ 

การขอเวนคืนกรมธรรม์ เป็นอีกหนึ่งทางออกเพื่อช่วยให้เราสามารถบริหารรายจ่ายของเราได้ ในกรณีที่เราไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปได้แล้ว เพราะประกันชีวิตเปรียบเสมือนสัญญาการออมเงินระยะยาว ที่จะมีกำหนดยอดเงิน และระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันที่ชัดเจน หากเรามีรายได้ไม่แน่นอน หรือเกิดปัญหาเงินช็อต จนทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อได้ จนถึงขั้นต้องทิ้งสัญญากรมธรรม์ฉบับนั้นไป นอกจากจะเสียเวลาที่เราทำประกันมาแล้ว ยังสูญเงินค่าเบี้ยที่จ่ายไปอีกด้วย ดังนั้น หากเราไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปได้แล้วจริงๆ หรือแม้แต่กรมธรรม์ฉบับนั้นๆ ไม่ตอบโจทย์ หรือไม่ตรงกับความต้องการของเราแล้ว การเลือกที่จะเวนคืนกรมธรรม์ ก็จะทำให้เราได้รับเงินกลับคืนมาบางส่วน ตามเงื่อนไขในสัญญาแนบท้ายของกรมธรรม์ฉบับนั้นๆ ค่ะ 
 
2. เปลี่ยนเป็น "กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ" หรือเป็น "กรมธรรม์แบบขยายเวลา"
 
ในกรณีที่เราไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปได้ แต่ยังต้องการรับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ฉบับนั้นอยู่ เราสามารถแปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จหรือเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลาได้ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ ผู้เอาประกันจะไม่ต้องชำระเบี้ยประกันอีกต่อไป แต่มีความแตกต่างกันคือ 

2.1 การแปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ระยะเวลาคุ้มครองเท่าเดิมแต่ทุนประกันลดลง โดยเราจะยังได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่เราตกลงกับบริษัทไว้ เช่น เดิมในกรมธรรม์ตกลงที่ทุนประกัน 1,000,000 บาท เมื่อเราไม่ได้ชำระเบี้ยแต่เราแปลงกรมธรรม์เป็นมูลค่าใช้เงินสำเร็จ จำนวนเงินคุ้มครองหรือทุนประกันอาจจะลดลง โดยเราสามารถคำนวณได้ตามตารางในกรมธรรม์ฉบับนั้นๆ 

 2.2 การแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา เงินเอาประกันเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองลดลง โดยเราไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันอีกต่อไป เช่น เดิมกรมธรรม์คุ้มครอง 20 ปี เมื่อแปลงกรมธรรม์เป็นขยายระยะเวลา อาจจะเหลือความคุ้มครอง 10 ปี หากเสียชีวิต ก็จะได้รับเงินตามทุนประกันเดิมที่ระบุไว้ แต่หากมีชีวิตอยู่จนครบเวลาที่ขยายจะไม่มีเงินคืนให้

การทำประกันชีวิต ถือเป็นตัวช่วยในการลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนจะซื้อประกันชีวิตสัก 1 กรมธรรม์ เราควรเลือกศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความคุ้มครองที่ควรตอบโจทย์ และตรงกับความต้องการของเรา รวมไปถึงค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายต่อปี ว่าเราสามารถรับภาระตรงนี้ได้จริงๆ หรือไม่ หรือแม้แต่ หากเกิดปัญหาการเงินสะดุดขึ้นมา เราจะมีวิธีการรับมือ หรือมีทางออกสำหรับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไรนะคะ :) 
 
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ​​​ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)
แท็กที่เกี่ยวข้อง เบี้ยประกันชีวิต มูลค่ากรมธรรม์ เวนคืนกรมธรรม์ ระยะเวลาผ่อนผัน กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ กรมธรรม์ขยายเวลา
Money Guru
เขียนโดย ชนานาถ จินตกสิกรรม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)