เป็นธรรมเนียมทุกปลายปีที่หลายๆ คนต้องตัดสินใจว่าจะเอาเงินที่เหลือใช้ในปีนั้นๆ ไปฝากธนาคาร ซื้อประกัน หรือเอาไปลงทุนดี ... ระหว่างการออมเงินกับการลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจไม่ยากเพราะความแตกต่างมันชัดเจนอยู่แล้ว ออมเงิน เอาดอกเบี้ยไป 0.5%-1.5% ต่ำหน่อยแต่จ่ายชัวร์ ส่วนลงทุนอาจได้ผลตอบแทนสูง 5-10% แต่ไม่ค่อยชัวร์เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง
ในอีกมุมนึงถ้าเทียบระหว่างฝากเงินออมทรัพย์กับประกันออมทรัพย์ ตรงนี้แหละที่คนเข้าใจผิดกันเยอะมาก วันนี้...ทีมงานจะขอเอาประสบการณ์ในการซื้อประกันออมทรัพย์มาฝากกัน ว่าทำไม ถึงเลือกซื้อประกันออมทรัพย์ (สะสมทรัพย์) แทนการฝากเงินออมทรัพย์ (หรือฝากประจำ!)
มาดูเรื่องข้อดีของประกันออมทรัพย์กันก่อน !
- ฝากเงินออมทรัพย์โดนภาษี แต่ประกันออมทรัพย์ไม่โดนภาษี เชื่อไหมว่าทุกครั้งที่ฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยเนี่ย ไม่เคยได้ครบตามที่ธนาคารบอกเลย แต่ไม่ใช่ธนาคารโกง แต่เป็นเรื่องของภาษีล้วนๆ ถ้าฝากเงินไม่มาก ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 ต่อปีอันนี้ยังไม่โดนภาษี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษี 15%
ในมุมกลับกันถ้าเอาเงินไปซื้อประกันออมทรัพย์แทน เงินที่ได้ไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์
- ฝากออมทรัพย์ลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่ประกันออมทรัพย์ลดหย่อนภาษีได้ ไม่โดนเก็บภาษีจากผลตอบแทน แถมยังลดหย่อนภาษีได้ ส่วนลดได้เท่าไหร่นั้นก็ตามฐานภาษีของแต่ละคนเลย สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
- ฝากเงินธนาคารไม่มีประกันคุ้มครองชีวิตให้ แต่ประกันออมทรัพย์ส่วนใหญ่มีคุ้มครองชีวิตให้ด้วย ลองนึกภาพว่าเราฝากเงินไปเรื่อยๆ แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้เราเสียชีวิตระหว่างทาง คนข้างหลังจะได้เงินเท่าที่เราออมไว้ แต่ถ้าเป็นประกันออมทรัพย์ คนข้างหลังจะได้เงินตามผลประโยชน์กรมธรรม์ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมากกว่าเงินที่ออม มากกว่าน้อยกว่าเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับแต่ละกรมธรรม์
- ฝากเงินธนาคารได้ดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ประกันออมทรัพย์มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว ผลตอบแทนจะมากกว่าฝากเงินธนาคารมากแค่ไหน อยู่ที่รายละเอียดของแต่ละกรมธรรม์ และระยะเวลาการส่งเบี้ย / คุ้มครองของผู้ซื้อประกันแต่ละคน
ทั้ง 4 ข้อนี้คือข้อดีมากๆของการซื้อประกันออมทรัพย์ แต่การซื้อประกันก็ไม่ใช่จะไม่มีข้อจำกัดเลย
ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการซื้อประกันออมทรัพย์
- สภาพคล่องของการฝากเงินธนาคารดีกว่า สำหรับการฝากเงิน ถ้าเป็นบัญชีออมทรัพย์เราอยากถอนเงินมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เสียโอกาสแค่ดอกเบี้ยที่ได้รับ แต่ถ้าเป็นประกันจะไม่สามารถถอนออกมาก่อนหมดอายุกรมธรรม์ เงินที่ได้ระหว่างทางจะมีเพียงเงินคืนณ.สิ้นปี และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละที่ด้วย
ทางเดียวที่จะเอาเงินคืนมาได้คือการเวนคืนกรมธรรม์ นอกจากเงินที่ได้กลับมาไม่เต็มจำนวน น้อยกว่าเงินที่ส่งประกันไป นอกจากนั้นยังต้องเตรียมเอกสาร แล้วถ้าคิดจะกลับไปซื้อใหม่อาจจะต้องเสียเบี้ยประกันเพิ่มมากขึ้นจากอายุที่มากขึ้นด้วย
ดังนั้นการจะซื้อประกันออมทรัพย์ต้องคิดให้ดีว่า สามารถส่งเบี้ยตามสัญญาได้หรือไม่?
- ประกันต้องส่งเบี้ยทุกปีต่างกับเงินฝาก การฝากเงินถ้าปีไหนไม่มีเงินเหลือก็ไม่ต้องฝากก็ได้ แต่ประกันต้องส่งเบี้ยตามกรมธรรม์อย่างต่อเนื่อง ถ้าวางแผนมาไม่ดีอาจมีปัญหาในการส่งเบี้ยได้
- การฝากเงินค่อนข้างเรียบง่าย เงื่อนไขน้อย ต่างกับประกัน ถ้าจะซื้อประกันออมทรัพย์ต้องศึกษาเงื่อนไข รวมถึงความมั่นคงของบริษัทที่กำลังจะซื้อประกันด้วย ว่ามั่นคงมากน้อยแค่ไหน มีศักยภาพในการจ่ายเงินคืนเมื่อครบกรมธรรม์หรือไม่?
เลือกประกันออมทรัพย์ให้เหมาะกับตนเองเลือกอย่างไร?
การเลือกประกันออมทรัพย์ที่เหมาะกับตนเองนั้น ต้องคิดถึง 4 อย่างด้วยกันคือ
- กำลังทรัพย์ในการส่งเบี้ยทุกปี – ไม่ควรเลือกประกันที่ต้องส่งเบี้ยเกินตัว ควรเป็นจำนวนเงินที่ไม่ทำให้ลำบาก เพราะการส่งเบี้ยประกันคือแผนระยะยาว 10-20 ปีขึ้นไป
- ระยะเวลาในการส่งเบี้ย - ประกันจะมีระยะเวลาในการส่งเบี้ย และระยะเวลาในการคุ้มครอง ควรมีการวางแผน และล็อกวงเงินไว้เลย ว่าเงินก้อนนี้จะใช้ในการส่งประกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
- อายุ – การทำประกันแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้เบี้ยถูกลง และความคุ้มครองที่มากขึ้น ควรทำประกันตั้งแต่อายุยังน้อย
- มูลค่าการลดหย่อนภาษี – ลดหย่อนภาษีแล้วคุ้มค่าหรือไม่กับโอกาสการลดหย่อนภาษีด้วยทางเลือกอื่นเช่นการซื้อกองทุน SSF RMF หรือการผ่อนบ้าน
ในภาพรวมการลดหย่อนภาษีด้วยประกันออมทรัพย์มีประโยชน์มากกว่าการฝากเงินธนาคาร แต่ก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ที่ต้องยอมรับ ซึ่งคนที่เหมาะกับการซื้อประกันออมทรัพย์จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีรายได้ส่วนเกินที่สามารถส่งเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่องได้
- ปลอดภาระทางการเงินอย่างอื่น
- ไม่มีความต้องการใช้เงินในระยะสั้น
- ต้องการลดหย่อนภาษี
หากเงื่อนไขตรงตามนี้ ยินดีด้วย ประกันออมทรัพย์อาจเป็นทางเลือกในการลดหย่อนภาษี และสร้างความมั่นคงในอนาคตที่เหมาะสมกับคุณ !