กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แหล่งสำรองเงินทุนยามเกษียณ หรือลาออก สำหรับพนักงานประจำ
สำหรับคนที่เลือก และวางแผนที่จะทำงานประจำ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)" เป็นอีกหนึ่งพอยต์สำคัญในการตัดสินใจเข้าทำงานในบริษัทนั้นๆ ค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งสะสมเงินแล้ว ยังมีส่วนที่ได้รับสมทบเพิ่มจากบริษัท ให้เก็บไว้เป็นเงินสำรองยามเกษียณ หรือเมื่อลาออกจากงานประจำ และเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย วันนี้...เราจะมาทำความรู้จักแหล่งเงินทุนก้อนโตยามเกษียณ สำหรับพนักงานปะจำกันนะคะ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของนายจ้าง และลูกจ้าง ถือเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างพึงมีให้กับลูกจ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมเก็บไว้ใช้จ่าย หรือเป็นหลักประกันให้กับตนเอง และครอบครัว ยามเกษียณ ลาออกจากงาน เกิดเหตุให้ทุพพลภาพ หรือแม้แต่กรณีเสียชีวิต โดยเงินสะสมได้มาจาก 2 ส่วน คือ
- "เงินสะสม" เป็นเงินในส่วนของสมาชิก หรือลูกจ้าง ที่หักจากเงินเดือนสะสมเข้าไปทุกเดือน ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง หรือเงินเดือน
- "เงินสมทบ" เป็นเงินในส่วนของนายจ้างที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนของแต่ละนายจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง และต้องสมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับการสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะได้เก็บเงินสะสม และมีเงินสมทบจากนายจ้างแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ (บลจ.) จะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในตราสารการเงินประเภทต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนงอกเงยขึ้นมา และนำเงินในส่วนนั้นมาเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกกองทุนตามสัดส่วนของเงินที่เรามีอยู่ในกองทุนค่ะ นอกจากในส่วนของเงินที่จะได้เพิ่มแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
หักเงินออมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรให้คุ้มค่า
สำหรับการหักเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และในส่วนของนายจ้างก็จะสมทบเข้าเป็นประจำทุกครั้งที่จ่ายเงินเดือน ในอัตราตั้งแต่ 2-15% ตามข้อบังคับของแต่ละบริษัทค่ะ ดังนั้น หากเรายิ่งเราสะสมมาก เรายิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถนำ "เงินสะสม" ที่เราสะสมในแต่ละปี ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เช่น หากบริษัทมีอัตราเงินสะสมให้เลือกออม เช่น 3% 5% 10% หรือ 15% เราก็ควรเลือกในอัตราที่สูงที่สุดค่ะ
หมายเหตุ :
- อายุปัจจุบัน 30 ปี และเกษียณ 60 ปี
- อัตราเงินเดือนปัจจุบัน 30,000 บาทต่อเดือน อัตราการขึ้นเงินเดือน 4% ต่อปี
- มีเงินตั้งต้น (เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่าสุดที่มี) 20,000 บาท
- คำนวณแบบทบต้นทุกเดือน อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้แบบอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2552 – 2562 อยู่ที่ 5.40%
- อัตราเงินสมทบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน บางบริษัทกำหนดอัตราเงินสมทบคงที่ตลอดอายุการทำงาน เช่น 5% ต่อเดือน ขณะที่บางบริษัทกำหนดอัตราเงินสมทบตามอายุงาน เช่น ทำงานไม่ถึง 5 ปี ได้รับอัตราเงินสมทบ 4% ต่อเดือน แต่หากทำงาน 5 -15 ปี จะได้รับอัตราเงินสมทบ 6% ต่อเดือน เป็นต้น
จากตัวอย่างตารางเปรียบเทียบข้างต้น เห็นได้ชัดเจนเลยค่ะ ว่าหักเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% กับ 15% มูลค่าที่จะได้รับ ณ ปีที่เกษียณต่างกันถึง 5,595,487 บาท เห็นตัวเลขแบบนี้แล้วยอมหักออมเยอะแต่เนิ่นๆ เพื่อผลตอบแทนที่มากกว่าในบั้นปลาย น่าจะช่วยให้ได้เงินก้อนโตยามเกษียณนะคะ
เมื่อลาออกจากบริษัท จะจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างไรบ้าง
ในกรณีที่เราลาอกจากบริษัทที่ทำงานอยู่ เราจะสามารถจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อเนื่อง หรือเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ
- สามารถฝากไว้กับกองทุนเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิมได้ ซึ่งวิธีนี้เราจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนเหมือนเดิม แต่จะไม่มีในส่วนของเงินสมทบจากนายจ้าง (บริษัทเดิมที่เราลาออก) โดยเมื่อเราได้งานใหม่ เราก็สามารถโอนย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ได้ (*วิธีนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการคงสถานะเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่ 500 บาทต่อปี
- ย้ายไปลงทุนต่อกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และไม่ต้องเสียภาษี
- สามารถย้ายไปลงทุนต่อกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) กรณีนี้อาจเกิดจากบริษัทใหม่ที่เราเข้าทำงานไม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็สามารถโอนย้ายเงินก้อนนี้เข้ากองทุนรวม RMF for PVD ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนย้าย แต่เราจะต้องหาข้อมูลว่ามี บลจ.ไหนที่เปิดรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบ้างนะคะ
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน RMF for PVD มีเงื่อนไขเหมือนกับการลงทุนใน PVD เลยค่ะ คือต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี โดยจะนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิก PVD ที่โอนไป และจะสามารถถอนการลงทุนเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป แต่หากเราย้าย PVD ของเราไปเป็น RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมาเป็น PVD ได้อีก แต่ยังสามารถปรับเปลี่ยนนโยบาย และกองทุน รวมถึงสามารถย้าย บลจ.ได้ค่ะ
และเงินที่โอนจาก PVD มา RMF for PVD จะไม่นำมารวมคำนวณกับยอดเงินลงทุนใน RMF ทั่วไป และไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก - นำเงินออกมาจากกองทุน เพื่อใช้จ่าย หรือนำไปลงทุนต่อ สำหรับวิธีนี้เราต้องมาคำนวณดูว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้มาจะต้องยื่นภาษีอย่างไร ตามเงื่อนไขดังนี้
4.1 กรณีที่อายุงานน้อยกว่า 5 ปี หรือลาออกจากกองทุน แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยจะต้องนำเงินในส่วนของเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ รวมกับรายได้ของเราในปีนั้นๆ เพื่อคำนวณภาษี
4.2 กรณีที่อายุงาน 5 ปีขึ้นไป แต่อายุไม่เกิน 55 ปี เราสามารถเลือกได้ว่าจะนำไปคำนวณรวมกับเงินได้ทั้งปี หรือแยกคำนวณภาษีต่างหาก โดยไม่ต้องไปรวมกับเงินได้ประจำปี ก็ได้ ในกรณีที่แยกคำนวณภาษี จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน คือ
- สามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษได้ 7,000 บาทต่ออายุงาน 1 ปี (7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน)
- ส่วนที่เหลือสามารถหักค่าใช้จ่ายออกได้อีกครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปรวมเป็นรายได้สุทธิ
4.3 กรณีที่อายุสมาชิกกองทุน 5 ปีขึ้นไป และอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องเสียภาษีทั้งก้อน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะเลือกจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร เราควรศึกษาข้อมูล วางแผนการลงทุน และคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของแต่ละวิธีการจัดการนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ของเราได้อย่างสูงที่สุดนะคะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.set.or.th, www.setinvestnow.com และ www.krungsri.com