พีคสุดในชีวิต!! โควิด-19 เป็นเหตุให้เงินหาย รายได้หด ผ่อนรถต่อไม่ไหว ขายรถหนีไฟแนนซ์ได้มั้ย? หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

icon 1 ต.ค. 64 icon 8,468
พีคสุดในชีวิต!! โควิด-19 เป็นเหตุให้เงินหาย รายได้หด ผ่อนรถต่อไม่ไหว ขายรถหนีไฟแนนซ์ได้มั้ย? หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
 

พีคสุดในชีวิต!! โควิด-19 เป็นเหตุให้เงินหาย รายได้หด ผ่อนรถต่อไม่ไหว ขายรถหนีไฟแนนซ์ได้มั้ย? หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

พิษสงของโควิด-19 นี้ ไม่ใด้ทำลายแค่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลมาถึงภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย ทำให้ต้องเกิดการล็อกดาวน์ หลายกิจการต้องหยุดชะงักเกิดการเลิกจ้าง หยุดงาน พนักงานเงินเดือนต้องถูกลดเงินเดือน หรือที่หนักเลยก็คือตกงาน รายได้ที่เคยได้รับ ก็ขาดหาย แต่หนี้สินที่มีอยู่ยังต้องผ่อนต่อ จึงเกิดเป็นคำถามมากมายโดยเฉพาะคนที่กำลังผ่อนรถอยู่ว่า ถ้ากำลังตกอยู่ในภาวะที่ผ่อนต่อไม่ไหวแล้ว ต้องทำยังไง? ขายรถหนีไฟแนนซ์ได้มั้ย? หรือเลือกทางออกแบบไหนได้อีกที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดสัญญากับเจ้าหนี้ และไม่ทำให้เสียประวัติเครดิตบูโร วันนี้ GURU จะขอแนะนำ และหาทางออกจากปัญหานี้มาให้เพื่อนๆ ได้นำไปเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหากันค่ะ
 สินเชื่อ "เช่าซื้อรถ" คืออะไร?
สินเชื่อ "เช่าซื้อรถ" เป็นบริการที่สถาบันการเงินมีให้กับคนที่ต้องการซื้อรถ จัดทำเป็นสัญญาการซื้อ-ขาย ระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อรถกับบริษัทขายรถ โดยสถาบันการเงินจะทำการจ่ายค่ารถให้กับบริษัทขายรถ แทนผู้ที่ขอสินเชื่อไปก่อน หลังจากนั้นผู้ขอสินเชื่อก็จะต้องทำการชำระคืนให้ทางสถาบันการเงินเป็นงวดๆ ตามข้อตกลงในสัญญา จนกระทั่งผู้ขอสินเชื่อทำการชำระเงินครบถ้วน ทางสถาบันการเงินก็จะทำการโอนกรรมสิทธิ์ของรถให้กับผู้ขอสินเชื่อ
 ทางออกเมื่อเริ่มผ่อนรถไม่ไหว ต้องทำไง?
ในช่วงเดือน สองเดือนที่ผ่านมานี้ มีคำถามจากเพื่อนๆ หลายคนเข้ามาว่า "ช่วงโควิดทำให้ขาดรายได้ ผ่อนรถไม่ไหว จะทำไงดี?...ขายรถหนีไฟแนนซ์ได้มั้ย? หรือต้องปล่อยให้รถโดนยึด" อย่าเพิ่งหัวเสีย และหงุดหงิดกับปัญหานี้ เพราะทุกปัญหามีทางออก ดึงสติกลับมา แล้วค่อยๆ คิด แล้วทำตามคำแนะนำของ GURU ทีละข้อไปพร้อมกันเลยค่ะ รับรองได้ว่าเป็นทางออกที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดสัญญากับเจ้าหนี้ และไม่ทำให้เสียประวัติเครดิตบูโรแน่นอนค่ะ
สำรวจความสามารถทางการเงิน และเตรียมเอกสาร
เมื่อเราเริ่มรู้แล้วว่า การชำระค่ารถในงวดถัดไปและในอนาคตผ่อนต่อจำนวนตามยอดเดิมไม่ไหวแล้ว เนื่องจากรายรับที่ได้ ไม่พอกับรายจ่าย ให้เรากลับมาสำรวจความสามารถในการผ่อนของเราว่ามีมากน้อยแค่ไหน เช่น ตอนนี้เรามีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ และสามารถผ่อนต่อได้จำนวนเท่าไหร่? นานแค่ไหน? หลังจากนั้นให้เราทำการเตรียมข้อมูล หลักฐาน เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้ เช่น หลักฐานแสดงรายได้-ค่าใช้จ่าย ทั้งก่อนและหลังจากการได้รับผลกระทบ
รีบติดต่อไฟแนนซ์ (สถาบันการเงิน) ขอปรับโครงสร้างหนี้
หลังจากสำรวจความสามารถทางการเงิน และรวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้ว ให้รีบติดต่อไปที่ไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่เราเป็นหนี้อยู่ เจรจาขอผ่อนผันหรือขอพักชำระหนี้ ซึ่งหากเรามีประวัติดี เป็นลูกค้าชั้นดีจ่ายค่างวดรถตรงทุกงวดมาตลอดก็จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาที่ออกมาช่วยลูกหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อาจจะด้วยวิธีการผ่อนผันให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน โดยยังคงเงินต้นไว้ หรือช่วยยืดระยะเวลาในการผ่อนรถออกไป เป็นการปรับลดค่างวดรถลดลงจากเดิม แต่การดำเนินการในช่วงนี้ต้องรีบนะคะ เพราะหากปล่อยให้ค้างชำระแบบไม่จ่ายเลยเกินกว่า 3 งวดขึ้นไป อาจทำให้เราติดแบล็กลิสต์ จนมีประวัติการเงินที่ไม่ดีในเครดิตบูโรได้
คืนรถให้ไฟแนนซ์ ก่อนค้างชำระค่างวด
หากเราสำรวจความสามารถทางการเงินแล้วว่าไม่ไหวจริงๆ ไม่สามารถยื้อเอารถไว้แล้วผ่อนต่อได้ไม่ว่าค่างวดจะลดลงแล้วก็ตาม พร้อมตัดสินใจขอคืนรถให้กับไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงิน ในทางเลือกนี้เราจะต้องตัดสินใจก่อนที่จะมีการค้างชำระค่างวดเกิดขึ้นนะคะ เพราะไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระจะเกิดขึ้นทันที แถมยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นมากมายอีกด้วย ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จแล้วยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย ถ้าเลือกวิธีนี้ (ในส่วนของการคืนรถนี้จะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้รับผลกระทบหนัก และเคยคุยปรึกษาเจรจากับเจ้าหนี้มาหลายครั้งแล้ว รวมถึงผ่านการพักชำระหนี้มาแล้ว จึงจะใช้วิธีขอคืนรถให้ไฟแนนซ์ได้)
ขอรีไฟแนนซ์รถใหม่
การรีไฟแนนซ์รถก็คือ การนำรถยนต์ของเราที่ยังผ่อนชำระอยู่มาทำการขอสินเชื่อเงินกู้จากไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่ใหม่หรือที่เดิม โดยสถาบันการเงินจะโปะปิดยอดเดิม ปรับการผ่อนชำระค่างวดใหม่ ทางเลือกนี้จะช่วยให้ค่างวดลดลง และขยายระยะเวลาผ่อนให้นานขึ้น ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับคนกำลังมีปัญหาทางการเงิน เจอกับสถานการณ์ฉุกเฉินต้องใช้เงิน หรือเหตุการณ์จำเป็นต้องใช้เงินก้อน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในครั้งนี้ แต่การเลือกรีไฟแนนซ์รถก็มีเรื่องที่ต้องระวังด้วยนะคะ นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ เราจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย และที่สำคัญคือดอกเบี้ยจากการรีไฟแนนซ์จะต้องถูกกว่าดอกเบี้ยผ่อนชำระค่างวดเดิมด้วยนะคะ
ขายดาวน์แบบเปลี่ยนสัญญา (ห้ามขายโอนลอยเด็ดขาด)
มาถึงอีกหนึ่งวิธีหากเราต้องการเป็นอิสระจากหนี้ และปลดปัญหาหนี้นี้ออกจากชีวิต นั่นก็คือ การขายดาวน์แบบเปลี่ยนสัญญา ด้วยการหาผู้ซื้อที่ไว้ใจได้มาเป็นผู้ซื้อรถต่อจากเรา โดยผู้ซื้อคนใหม่นี้จะรับผิดชอบในการชำระค่างวดรถต่อจนครบตามจำนวน ซึ่งผู้ซื้อจะจ่ายเงินดาวน์ให้ตามราคาที่ตกลงกันไว้ ทางเลือกนี้จะเป็นการตัดปัญหาไม่ต้องกลัวไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินจะมายึดรถจากการค้างชำระค่างวด แต่วิธีนี้อาจจะทำให้เราต้องยอมขายขาดทุนบ้าง สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการใช้ทางเลือกขายดาวน์นี้คือ "ห้ามขายโอนลอย หรือขายแบบไม่ได้เปลี่ยนสัญญาเด็ดขาด" เพราะการขายแบบโอนลอยแบบไม่เปลี่ยนสัญญา ผู้เช่าซื้อยังเป็นคนเดิมอยู่ จะทำให้เกิดความเสี่ยงตามมาอีกมากมาย เช่น ถ้าคนซื้อรถไปแล้วเอาไปขายให้คนอื่นต่อ หรือรถหาย ผู้เช่าซื้อก็จะต้องรับผิดชอบเต็มๆ นั่นเอง
 ไฟแนนซ์จะมายึดรถ เราไม่คืนได้มั้ย?
กรณีการถูกยึดรถจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการค้างชำระค่างวดครบ 3 งวด ซึ่งไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินจะดำเนินการยกเลิกสัญญา และมีจดหมายแจ้งเตือนล่วงหน้าอีก 30 วัน (รวมระยะเวลา 4 เดือน) จึงจะสามารถยึดรถได้ แต่ทั้งนี้การที่ไฟแนนซ์จะมายึดรถจะต้องแสดงหนังสือการมอบอำนาจทุกครั้ง หากลูกหนี้ไม่ยินยอมส่งมอบรถยนต์ ไฟแนนซ์จะมาใช้สิทธิ์บังคับด้วยกำลังหรือการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงในการยึดทรัพย์สินไม่ได้ (พรบ.ทวงถามหนี้มาตรา 11 อนุที่ 1) ดังนั้นผู้เช่าซื้ออย่าเพิ่งยอมให้ไฟแนนซ์ยึดรถไปนะคะ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นเราควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาเป็นพยานถ้าเราไม่ยินยอมที่จะให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอมให้ไฟแนนซ์ยึดรถไปแล้วเราก็จะหมดอำนาจต่อรองทันที และหลังจากยึดรถไปแล้วไฟแนนซ์จะนำรถของเราไปขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่พอจ่ายหนี้ที่เราเป็นอยู่ หลังจากนั้นไฟแนนซ์ก็จะดำเนินการเรียกค่าเสียหายด้วยหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือจากเรา นั่นจะทำให้เราต้องจ่ายหนี้ทั้งๆ ที่ไม่มีรถอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า "รถไม่มีแต่หนี้ยังอยู่" สิ่งที่เราจะทำได้หลังจากนี้ก็คือการหาทนายมาสู้คดี เนื่องจากค่าเสียหายที่ถูกแจ้งให้ชำระจากไฟแนนซ์จะมีมูลค่าสูงมาก (เกินจริง) ซึ่งถ้าตกลงกันได้ส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษาให้จ่าย 30% หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนยอดทั้งหมดที่ไฟแนนซ์เรียกมา ในกรณีนี้หากเราไม่มีเงินจ่าย เราไม่ต้องติดคุกนะคะ เพราะมันเป็นเพียงคดีแพ่งเท่านั้น และหากเราแพ้คดี ทางไฟแนนซ์จะยึดทรัพย์ได้เฉพาะที่เราถือครองเท่านั้นเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าเราไม่มี ไฟแนนซ์จะไม่สามารถเรียกร้องจากญาติ พี่น้องเราได้ จึงจะไม่มีใครต้องเดือดร้อนเพราะเราแน่นอน
 สรุป...ปัญหาผ่อนชำระค่างวดรถต่อไม่ไหว ทางเลือกไหนคือทางออกที่ดีที่สุด?
สำหรับปัญหาการผ่อนชำระค่างวดรถต่อไม่ไหวนี้ ทางเลือกที่เป็นทางออกของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกันค่ะ ทั้งนี้ ต้องดูปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันว่าลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหานี้ควรเลือกทางออกด้วยวิธีใดจึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเราเอง ซึ่งสามารถดูได้จาก 5 วิธีทางออก...เมื่อผ่อนรถต่อไม่ไหว! ที่ทาง GURU แนะนำข้างต้นนี้ เพื่อนๆ สามารถลงรายละเอียดได้ทีละข้อเลยค่ะ โดยเริ่มจากการสำรวจความสามารถทางการเงินก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าปัญหาการเงินของเรานั้นเดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มดำเนินการเตรียมเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ทั้งหมด เพื่อเอาไปแจ้งดำเนินการเป็นหลักฐานในการขอปรับโครงสร้างหนี้กับทางเจ้าหนี้ (ไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงิน) ปรึกษาพูกคุยเจรจาต่อรองในการชำระหนี้ก้อนนี้ตามความสามารถทางการเงินของเราที่คิดว่าไหว และหากดูความเป็นไปได้ในอนาคตแล้ว ไปต่อไม่ไหวจริงๆ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ยังมีทางเลือกให้เพื่อนๆ ได้นำมาแก้ปัญหานี้อีก 3 ทางเลือก นั่นก็คือ การขอรีไฟแนนซ์รถใหม่ หรือขอคืนรถให้ไฟแนนซ์ หรือจะขายดาวน์แบบเปลี่ยนสัญญา (ดูรายละเอียดของแต่ละวิธีตามข้อมูลข้างต้น) ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราว่าจะไปทางไหนดี ถึงจะเหมาะกับเราที่สุด
สุดท้ายนี้...GURU เชื่อแน่ว่าเพื่อนๆ หลายคนที่มีปัญหาการผ่อนชำระค่างวดรถอยู่ ก็คงพอจะได้คำตอบกันบ้างแล้วนะคะ ว่าเราจะเลือกทางออกวิธีไหนดี หากใครกำลังเจอปัญหานี้อยู่อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยผ่านเวลาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมายนะคะ ดังนั้น GURU อยากจะเตือนเพื่อนๆ ว่าสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการตอนนี้เลยก็คือการติดต่อขอเจรจากับเจ้าหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่เช่นนั้นจากปัญหาที่มีทางออกอาจจะกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้นะคะ อ้อ!! แล้วหากใครที่ได้ดำเนินการติดต่อขอเจรจากับเจ้าหนี้แล้วแต่ไม่เป็นผลที่น่าพอใจ เราสามารถขอความช่วยเหลือ และปรึกษาหาทางออกได้ที่ ศคง. (ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน) โทร. 1213 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง โควิด-19 รายได้หด ผ่อนรถต่อไม่ไหว ยึดรถ หนีไฟแนนซ์
Money Guru
เขียนโดย สินีนาฏ มากทองหลาง Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่





เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)