ขาดงาน ไม่ขาดรายได้ ป่วยนานเกิน 30 วัน ประกันสังคมจ่ายทดแทนให้
รู้หรือไม่! หากคุณเป็นพนักงานประจำ และต้องหยุดงานเกินกว่า 30 วันด้วยเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ถึงแม้จะเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาให้หยุดงานเพื่อรักษาตัวก็ตาม นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดที่เกินนั้นได้ แต่...สำหรับผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้าหน่วยงานประกันสังคมอยู่ตลอดจะสามารถรับ "เงินทดแทนการขาดรายได้" จากประกันสังคมได้นะคะ จะมีเงื่อนไขอย่างไร และต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ตามมาดูเลยค่ะ
ผู้ประกันตนมาตรา 33
หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข "การรับเงินทดแทนการขาดรายได้" จากประกันสังคม
ในกรณีที่ลูกจ้าง (ผู้ประกันตนมาตรา 33) เกิดการเจ็บป่วย และต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัวตามที่แพทย์สั่งทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วัน ใน 1 ปี โดยที่ยังได้รับค่าจ้างเช่นเดิม แต่หากเจ็บป่วย และต้องหยุดพักรักษาตัวนานกว่านั้น นายจ้างก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่เกิน 30 วันให้กับลูกจ้างได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ หน่วยงานประกันสังคมจะเข้ามารองรับโดยให้สิทธิ์ในการขอรับ "เงินทดแทนการขาดรายได้" ของวันลาป่วยส่วนที่เกินกว่า 30 วันนั้นตามเงื่อนไข ดังนี้
1. ต้องเป็นการหยุดงานเพื่อรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
2. ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
3. การขอรับสิทธิ์เงินทดแทนขาดรายได้ ต้องเป็นการหยุดครั้งละไม่เกิน 90 วันในรอบปี และจะจ่ายให้ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่ เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน ซึ่งได้มีการกำหนดโรคเรื้อรังไว้ 6 รายการ ดังนี้
- โรคมะเร็ง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเอดส์
- โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
- ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
- โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์
4. ถ้าผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน ตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินเรียกว่า "เงินทดแทนการขาดรายได้" ให้สำหรับระยะเวลาหยุดงานที่นานเกินกว่า 30 วัน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือมีสิทธิตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จนกว่าสิทธิที่ได้รับเงินค่าจ้างนั้นได้สิ้นสุดลง จึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ดังกล่าวเท่ากับระยะเวลาที่คงเหลือ
การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ "เงินทดแทนการขาดรายได้"
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการประกอบการยื่นคำขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01 )
2. ใบรับรองแพทย์
3. หนังสือรับรองจากนายจ้าง
4. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ
6. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ เลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) มี 9 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
โดยสามารถยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) นะคะ
หมายเหตุ : หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ผู้ประกันตนมาตรา 39
หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข "การรับเงินทดแทนการขาดรายได้" จากประกันสังคม
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่นำส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง และมีการนำส่งเงินสมทบรวมกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวจะได้รับสิทธิ "เงินทดแทนการขาดรายได้" ตามเงื่อนไข ดังนี้
1. ต้องเป็นการหยุดงานเพื่อรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
2. ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ
3. จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท)
4. สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี เว้นแต่เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ได้ไม่เกิน 365 วัน
การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ "เงินทดแทนการขาดรายได้"
ในส่วนของเอกสารในการรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 มีดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
2. บัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาบัตรประกันสังคม (เฉพาะต่างชาติ/ต่างด้าว)
4. สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ (เฉพาะต่างชาติ/ต่างด้าว)
5. หลักฐานการประกอบอาชีพ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าแผงขายของ,ใบสั่งสินค้า, ใบรับสินค้าเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
6. ใบรับรองแพทย์ตัวจริง ที่ระบุวันหยุดงาน
7. กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย
8. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี ใช้ได้ 9 ธนาคาร โดยไม่มีค่าธรรมเนียม คือ
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
โดยให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
ทราบเงื่อนไขแบบนี้แล้ว หากผู้ประกันตนมีเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยจนต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถติดต่อเพื่อรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากหน่วยงานประกันสังคมตามรายละเอียดข้างต้นได้เลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม