ตอนนี้ใครๆ ก็หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การทำประกันชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนหันมาทำกันมากขึ้นค่ะ อาจจะเนื่องด้วยต้องการสร้างหลักประกัน ความมั่นคง หรือความอุ่นใจ หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่การจะทำประกันชีวิตสัก 1 กรมธรรม์ อาจจะต้องจ่ายเงิน หลักพัน หลักหมื่น ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเราก็ควรทำความเข้าใจคำศัพท์เกี่ยวกับประกันชีวิตกันก่อน เพราะบางคำก็ดูจะเข้าใจยากไปสักหน่อย...วันนี้! เรามาเปลี่ยนคำศัพท์เหล่านี้ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ประกันชีวิต
เป็นการเฉลี่ยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากคนหนึ่งไปยังอีกหลาย ๆ คน ด้วยการให้ผู้เอาประกันจ่ายเงินจำนวนหนึ่งในรูปของ "เบี้ยประกัน" ให้แก่ผู้รับประกันไว้เป็นเงินกองกลาง เมื่อผู้เอาประกันได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เอาประกัน ผู้รับประกันก็จะนำเงินกองกลางนั้นไปชดใช้ตามจำนวนที่ได้ตกลงกัน เป็นการชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือชราภาพ โดยบริษัทจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต
ผู้เอาประกันภัย (Assured/Insured)
คือ บุคคลที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกัน และตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งให้ผู้รับประกันภัย เมื่อเกิดมีภัยขึ้นผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยยึดหลักในการมีชีวิต หรือการตายเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินประกันชีวิต
ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary)
คือ บุคคลภายนอกสัญญาประกันภัยที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับเงินประกันชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งผู้รับผลประโยชน์อาจจะเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็ได้
ทุนประกันชีวิต (Sum Assured)
คือ จำนวนเงินที่จะได้รับจากบริษัทประกันชีวิตตามเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะเป็นจำนวนเงินที่ตกลงกันว่า ผู้รับประกันภัย หรือบริษัทประกันชีวิตจะต้องจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อเกิดภัยหรือความเสียหายแก่ผู้เอาประกันตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาหรือกรมธรรม์ เช่น จะได้รับเงินเมื่อครบกำหนดสัญญา หรือได้รับเงินเมื่อเสียชีวิต ซึ่งจะต้องเป็นไปตามข้อตกลง และเงื่อนไขทีระบุในกรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ
เบี้ยประกันภัย (Premium)
คือ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายให้กับบริษัทฯ ประกันภัย เพื่อซื้อความคุ้มครอง ส่วนใหญ่จะแบ่งจ่ายเป็นรายงวด เช่น รายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน รายเดือน ตามกำหนดสัญญาชำระเบี้ยประกันที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย
Direct Claim
คือ วิธีการเคลมที่ผู้เอาประกันต้องยื่นเรื่อง เพื่อขอรับค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล กับทางบริษัทประกันชีวิตโดยตรง โดยใช้ใบเสร็จ และใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารยืนยันการเข้ารับการรักษาพยาบาล
Fax Claim
เป็นการเคลมเงินประกันอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้การพิจารณาอนุมัติทางแฟกซ์ ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล (ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์) โดยเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญา ผู้เอาประกันภัยเพียงแสดงบัตรประกันภัยพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะเป็นผู้ติดต่อกับบริษัทประกันภัยให้เอง
เคลมต่อเนื่อง
เป็นการเคลมค่ารักษาพยาบาลที่เป็นการรักษาโรคเดียวกัน หรือมีอาการสืบเนื่องจากโรคเดียวกัน ภายในระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกจากโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย ซึ่งจะถือเป็นการรักษาครั้งเดียวกัน โดยวงเงินค่ารักษาพยาบาลจะนับต่อเนื่องจากครั้งแรกที่มีการเข้าไปรักษาพยาบาล
ผู้ป่วยใน (In Patient department - IPD)
หมายถึง คนไข้ในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป
ผู้ป่วยนอก (Out Patient Department - OPD)
หมายถึง ผู้ป่วยที่มารับการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อได้รับการรักษาเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย
ปีกรมธรรม์ (Policy Year)
ระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่สัญญาเริ่มมีผลบังคับคุ้มครอง จนถึงวันครบรอบปีกรมธรรม์ปีถัดไป
ระยะเวลาเอาประกันภัย (Period of Insurance)
เป็นระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครอง ซึ่งจะระบุในกรมธรรม์ประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยตกลงกันในสัญญาประกันภัย
ครบกำหนด (Maturity)
คือ กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาประกันชีวิต ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกันภัย
การปกปิดข้อความจริง (Concealment)
การปกปิดข้อความจริง คือ การไม่บอกกล่าวให้ผู้รับประกันภัยรับทราบความจริง ซึ่งหากข้อความจริงนั้นเป็นสาระสำคัญ อาจส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยทำให้กลายเป็นโมฆียะหรือถูกบอกล้างยกเลิกได้
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำลังศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณาซื้อประกันชีวิตไม่มากก็น้อยนะคะ ส่วนรายละเอียดความคุ้มครองของแผนประกันแบบต่างๆ หากเราสนใจก็ควรเลือกเปรียบเทียบจากหลายๆ บริษัทฯ เพื่อให้ได้กรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ ตรงตามที่ต้องการมากที่สุดนะคะ