ไขข้อข้องใจ นายจ้างมีสิทธิแค่ไหน? ลด ไม่จ่าย เลิกจ้าง ปัญหาโลกแตกของพนักงานเงินเดือน ในช่วงวิกฤต โควิด - 19

icon 24 ก.ค. 63 icon 24,960
ไขข้อข้องใจ นายจ้างมีสิทธิแค่ไหน? ลด ไม่จ่าย เลิกจ้าง ปัญหาโลกแตกของพนักงานเงินเดือน ในช่วงวิกฤต โควิด - 19

ไขข้อข้องใจ นายจ้างมีสิทธิแค่ไหน? ลด ไม่จ่าย เลิกจ้าง ปัญหาโลกแตกของพนักงานเงินเดือน ในช่วงวิกฤต โควิด-19

ในวันที่วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้แผลงฤทธิ์แค่เพียงอาการเจ็บป่วยทางกาย แต่ส่งผลกระทบไปถึงสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงหากทางหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจดำเนินการในภาวะฉุกเฉินสั่งให้ธุรกิจบางรายต้องปิดตัวลง ผลกระทบต่างๆ ก็ต้องตกมาถึงพนักงานเงินเดือนอย่างแน่นอนค่ะ 
และวันนี้! เราจะมาพูดถึงปัญหาโลกแตกของพนักงานเงินเดือนในช่วงโควิด-19 กัน ว่าเมื่อหลายบริษัทก็สั่งให้พนักงานหยุดงาน บริษัทยังคงต้องจ่ายหรือไม่จ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่หยุดงาน หรือถ้าบริษัทสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือที่เรียกกันว่า Work From Home (WFH) จะต้องจ่ายค่าจ้างหรือเปล่า หรือถ้าบริษัทจะขอลดเงินเดือนลงจะทำได้ไหม เรามาไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
บริษัทขอปรับลดเงินเดือนพนักงาน จะทำได้ในกรณีใดบ้าง?
1. บริษัทประกาศให้พนักงานหยุดอยู่ที่บ้าน เนื่องจากไม่มีลูกค้ามาติดต่อ หรือถึงผลิตสินค้าไปก็ยังขายไม่ได้ ฯลฯ โดยต้องระบุว่าให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ถึงวันที่เท่าไหร่ กรณีอย่างนี้บริษัทก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานระหว่างที่หยุดไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ในวันทำงานที่พนักงานต้องได้รับ ซึ่งบริษัทจะต้องแจ้งให้พนักงาน และพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
2. บริษัทสั่งให้พนักงานหยุด และทำงานอยู่ที่บ้านแบบที่เรียกว่า Work From Home (WFH) บริษัทยังต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานตามปกติ เพราะวิธีนี้พนักงานก็ยังทำงานให้บริษัทอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนที่ทำงานเป็นที่บ้านของพนักงานเท่านั้น เว้นแต่หากมีการ WFH และลดจำนวนวันทำงานลงโดยถือเป็น Leave Without Pay คือขอให้เป็นวันหยุดของพนักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เงินเดือนที่ได้รับก็จะลดลงตามจำนวนวันที่หยุดไป ซึ่งการใช้วิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง และการควบคุมติดตามงานของบริษัทว่าจะทำยังไงถึงจะวัดผลงานได้ก็ต้องไปตกลงกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง
3. บริษัทกับพนักงานตกลงกันเอง วิธีนี้ไม่ได้เป็นวิธีการทางกฎหมายเหมือนข้อ 1 และข้อ 2 แต่หากบริษัทที่เราทำงานอยู่เป็นบริษัทที่เป็น SME หรือบริษัทเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะจ่ายให้กับพนักงานได้ตามกฎหมาย ก็ต้องมีการตกลงกันว่าถ้าบริษัทจะให้พนักงานหยุดงานตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ถึงวันที่เท่าไหร่ และระหว่างที่หยุดพนักงานไม่ได้รับค่าจ้างพนักงานจะรับได้ไหม เช่น บริษัทแจ้งให้พนักงานหยุดเดือนหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 โดยบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้ 20 วัน ส่วนอีก 10 วันถือเป็น Leave Without Pay คือขอให้เป็นวันหยุดของพนักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างพนักงานจะตกลงไหม
และก็ทำหนังสือขึ้นมาให้พนักงานเซ็นยินยอมกันเป็นรายบุคคล ซึ่งถ้าพนักงานคนไหนเซ็นก็จะมีผลกับพนักงานคนนั้น ถ้าพนักงานคนไหนไม่ยินยอมก็จะไม่มีผลกับพนักงานที่ไม่เซ็นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ก็ต้องอาศัยการพูดคุยกันอย่างพี่อย่างน้องและด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน
4. ให้พนักงานใช้สิทธิลาพักร้อน โดยให้ใช้สิทธิลาพักร้อนให้หมดโดยจ่ายให้เต็มในวันที่ใช้สิทธิพักร้อนที่เหลือก็จะเป็น Leave Without Pay วิธีนี้ก็จะทำให้เราได้รับเงินเดือนลดลงตามจำนวนวันที่หยุดไป
5. บริษัทขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือนลง ตามหลักแล้วการลดค่าจ้างทำไม่ได้เพราะเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่เป็นคุณของลูกจ้างให้กลายเป็นโทษ แต่ถ้าลูกจ้างให้ความยินยอมก็ทำได้ โดยพนักงานก็ต้องประชุมพูดจากับพนักงานทุกระดับว่าตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง และเพื่อช่วยกันให้บริษัทอยู่รอดฝ่าวิกฤติไปได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานในการลดเงินเดือนลง โดยอาจแจกแจงว่าตำแหน่งไหนจะลดลงไปกี่เปอร์เซ็นต์กี่บาท (แต่ต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ)
แล้วก็ทำหนังสือแจ้งเหตุผลความจำเป็น อัตราการลดเงินเดือนลงเท่าไหร่ มีผลตั้งแต่เมื่อไหร่ ให้พนักงานเซ็นยินยอมเป็นรายบุคคล ถ้าพนักงานคนไหนเซ็นยินยอมก็จะมีผลกับพนักงานคนนั้น แต่ถ้าพนักงานคนไหนไม่เซ็นก็ไม่มีผลกับพนักงานคนนั้น ถ้าใครไม่ยินยอมเซ็นบริษัทจะไปลดเงินเดือนพนักงานคนนั้นลงไม่ได้
บริษัทไม่จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน จะทำได้ในกรณีใด?
ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราวจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะต้องมีประกาศว่าให้ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ แบบนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 ของกฎหมายแรงงาน บริษัทก็ต้องให้พนักงานหยุดอยู่กับบ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างเวลาที่รัฐมีคำสั่ง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 "ในกรณีที่นายจ้างมีความจําเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สําคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทําให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทําการ"
ซึ่งอาจสรุปได้ว่า
  1. หากนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวนายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้าง และพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้า ก่อนหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
  2. หากเป็นกรณีที่หยุดกิจการชั่วคราวอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในช่วงหยุดกิจการชั่วคราวนั้น
  3. หากเป็นกรณีที่หยุดกิจการเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างยังคงต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในช่วงที่หยุดกิจการนั้น
บริษัทเลิกจ้างพนักงาน จะทำได้ในกรณีใด?
หากบริษัทต้องเลิกจ้างพนักงาน อาจเกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงต้องแจ้งเลิกจ้างพนักงานหรือปิดกิจการ โดยในกรณีที่พนักงานไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานโดยใช้ "ค่าจ้างอัตราสุดท้าย" เป็นฐานในการคำนวณ 
แต่...หากเป็นกรณีที่พนักงานเซ็นชื่อยอมลดเงินเดือนลงแล้ว สมมติว่าอีก 6 เดือนต่อมาบริษัทแจ้งเลิกจ้าง หรือปิดกิจการนั่นแปลว่าพนักงานจะเสียประโยชน์เพราะจะได้รับค่าชดเชยจากฐานค่าจ้างตัวใหม่ที่ลดลงทำให้ได้ค่าชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
  1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย  
  3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
  5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

จากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือพนักงานก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ถ้อยที ถ้อยอาศัย เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เชื่อแน่ว่าเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอนค่ะ :)
ขอบคุณข้อมูลจาก tamrongsakk.blogspot.com
แท็กที่เกี่ยวข้อง ถูกเลิกจ้าง วิกฤตโควิด-19 ลดเงินเดือน ไม่จ่ายเงินเดือน
Money Guru
เขียนโดย ชนานาถ จินตกสิกรรม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)