จริงหรือไม่-ใช่หรือมั่ว : เมื่อถูกลดเงินเดือนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เราจะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม!!

icon 4 ส.ค. 63 icon 11,368
จริงหรือไม่-ใช่หรือมั่ว : เมื่อถูกลดเงินเดือนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เราจะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม!!

เดือดร้อนกันถ้วนหน้าจากผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ในเรื่องที่หลายคนเจอและพูดถึงกันมากที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน บริษัทปิดตัว ถูกเลิกจ้าง ให้หยุดงาน หรือถูกลดเงินเดือน ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ได้ออกมาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ตกงาน หรือถูกเลิกจ้างเท่านั้น แล้วสำหรับพนักงานที่ไม่ถูกเลิกจ้างแต่ถูกลดเงินเดือนล่ะ... ประกันสังคมจะมีเงินชดเชยหรือช่วยเหลือในส่วนนี้ให้ผู้ประกันตนอย่างเราๆ ได้บ้างหรือไม่? วันนี้ทีมงาน CheckRaka หาคำตอบจากหลายๆ กรณีในช่วงวิกฤต COVID-19 มาไขข้อข้องใจให้เพื่อนๆ ได้หายสงสัยกันค่ะ
 คำถามที่ 1
นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดกักตัว 14 วัน เพราะมีความเสี่ยง...สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลืออะไรบ้าง? (ลูกจ้างไม่ได้ป่วยแต่โดนกักตัว เพราะมีความเสี่ยง และนายจ้างให้หยุดงาน)
ตอบ : นายจ้างไม่ให้ทำงาน ให้กักตัว 14 วัน เพราะมีเหตุสงสัยหรือควรสงสัยว่าลูกจ้างอาจเป็นโรคไวรัส COVID-19 และไม่จ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ตามที่นายจ้างรับรองการหยุดงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคมีคำสั่งให้กักตัว แต่ไม่เกิน 90 วัน (อยู่ระหว่างแก้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ม.79/1)
ทั้งนี้ แนะนำให้นายจ้างและลูกจ้างลงทะเบียนผ่าน e-form กรณีว่างงานทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ได้ดังนี้
  • สำหรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (e-form for unemployment benefit) กรณีหยุดงานเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ/นายจ้างสั่งปิดกิจการชั่วคราว หรือท่านหยุดเนื่องจากต้องกักตัวเอง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคระบาด กรอกแบบที่ link นี้ https://www.sso.go.th/eform_news/sso-covid19-benefit1.html
  • สำหรับนายจ้าง แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 และรับรองช่วงเวลาการหยุดงานของลูกจ้าง กรอกแบบที่ link นี้ https://www.sso.go.th/eform_news/sso-covid19-benefit3.html
ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จะต้องมีสถานะความเป็นลูกจ้างและความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลง (ยังไม่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง) และส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนประสบเหตุ หากตรวจสอบข้อมูลแล้วครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
 คำถามที่ 2
ลูกจ้างหยุดงานเพื่อกักตัว 14 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จะได้รับสิทธิอะไรบ้าง?
ตอบ : ได้รับเงินว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 90 วัน (อยู่ระหว่างแก้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ม.79/1) เมื่อลูกจ้างมีการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนกักตัว และนายจ้างออกหนังสือรับรองให้หยุดงาน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณา
 คำถามที่ 3
บริษัทให้หยุดงานเนื่องจากโรคไวรัส COVID-19 เป็นเวลา 14 วัน ตามที่รัฐบาลสั่งฯ ลูกจ้างเสียวันลาหรือไม่?
ตอบ : กรณีที่บริษัทหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของรัฐ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ จึงมิใช่การลาหยุดงานปกติ จึงไม่ถือเป็นวันลา
 คำถามที่ 4
สถานประกอบการถูกสั่งปิด 18 - 31 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 นายจ้างจะได้รับการยกเว้นการนำส่งเงินสมทบในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่?
ตอบ : ถ้าในเดือนมีนาคม 2563 มีการจ่ายค่าจ้างมาแล้วก่อนรัฐมีคำสั่งปิด นายจ้างต้องนำส่งเงินสมทบของเดือนมีนาคม 2563 ตามกฎหมาย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบออกไปอีก 3 เดือน
 คำถามที่ 5
ผู้ประกันตนมาตรา 38 ได้รับความคุ้มครอง 6 เดือน จากประกันสังคม และหยุดงาน 14 วัน จะได้รับสิทธิว่างงานจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และหากชำระเงินสมทบเพียง 3 เดือน ใน 15 เดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานหรือไม่?
ตอบ : กรณีผู้ประกันตนมาตรา 38 ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ได้รับความคุ้มครองต่อ 6 เดือน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ไม่มีสิทธิได้รับกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย กรณีว่างงานจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนใน 15 เดือน หากส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ไม่ได้รับสิทธิว่างงานเช่นกัน แต่ระหว่างได้รับความคุ้มครอง 6 เดือน หากลูกจ้างติดเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยได้ โดยได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากแพทย์ให้พักรักษาตัว จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 ครั้งหนึ่งไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน
 คำถามที่ 6
ผู้ประกันตนไม่ถูกเลิกจ้างหรือหยุดงาน แต่ถูกลดเงินเดือน จะได้รับสิทธิใดจากสำนักงานประกันสังคม?
ตอบ : ผู้ประกันตนมีสถานะเป็นลูกจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
 คำถามที่ 7
ผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ได้มีอาชีพและไม่ทำงาน สามารถยื่นขอรับสิทธิการเยียวยา เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากโรคไวรัส COVID-19 ได้หรือไม่?
ตอบ : สำหรับกรณี...
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ไม่คุ้มครองกรณีว่างงาน จะไม่ได้รับสิทธิว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่มีอาชีพ ไม่ทำงาน ทั้ง 3 ทางเลือก ไม่มีการประกันการว่างงานเช่นกัน จึงไม่มีสิทธิได้รับกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิเยียวยาของกระทรวงการคลัง ได้ที่ เว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com หากมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จะได้รับสิทธิดังกล่าว
 คำถามที่ 8
นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินเดือน/ค่าจ้าง ให้พนักงานครึ่งหนึ่ง พนักงานสามารถไปกรอกแบบฟอร์มกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่? และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมหรือไม่?
ตอบ : ผู้ประกันตนยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กรณีว่างงานตามกฎกระทรวง
 คำถามที่ 9
ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สามารถยื่นขอรับสิทธิการเยียวยาเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ ภายในระยะเวลากี่ปี?
ตอบ : ผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ
 คำถามที่ 10
กรณีเป็นผู้ประกันมาตรา 33 นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานและจ่ายเงินค่าจ้างให้ 75% เพราะเหตุสุดวิสัย สำนักงานประกันสังคมจะเยียวยาให้อย่างไร?
ตอบ : กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างถือว่าผู้ประกันตนมีรายได้ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย และนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างเพื่อนำส่งเงินสมทบให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
 คำถามที่ 11
หากนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือนให้ และไม่ออกใบรับรองให้ลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร?
ตอบ : กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ใกล้บ้าน แต่หากลูกจ้างประสบเหตุสุดวิสัยจริง ควรแจ้งให้พนักงานควบคุมโรคทราบ และแจ้งสำนักงานประกันสังคมให้ประสานนายจ้างเพื่อชี้แจงในการออกหนังสือรับรอง
 คำถามที่ 12
นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างและไม่มีการแจ้งออกจากงาน ลูกจ้างควรทำอย่างไร และจะได้รับสิทธิอะไร จากสำนักงานประกันสังคมบ้าง?
ตอบ : ลูกจ้างยังคงทำงานแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด
  • กรณีไม่มีการจ้างงาน และนายจ้างไม่แจ้งออกจากระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ติดตามนายจ้างให้ดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์
 คำถามที่ 13
กรณีรัฐสั่งให้กักตัว นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคม ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันหรือไม่?
ตอบ : สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 90 วัน เมื่อลูกจ้างมีการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนรัฐสั่งให้กักตัว และนายจ้างออกหนังสือรับรองให้หยุดงานตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณา
 คำถามที่ 14
กรณีจ่ายเงินสมทบไม่ครบหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการรับสิทธิว่างงาน มีสิทธิได้รับเงินว่างงานหรือไม่?
ตอบ : ไม่มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ ซึ่งประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
 คำถามที่ 15
กรณีลูกจ้างเข้าทำงานได้ 2 เดือน ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในนามของบริษัทฯ แต่แผนกที่ทำถูกสั่งปิด ลูกจ้างต้องหยุดงาน 21 วัน และยังเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งหรือไม่ และสามารถยื่นเบิกสิทธิการเยียวยาด้วยสาเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่?
ตอบ : ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน การจ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่งหรือไม่นั้น อยู่ในอำนาจของนายจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเยียวยาในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้
 คำถามที่ 16
นายจ้างให้ลูกจ้างลาป่วยจากผลกระทบของโรคไวรัส COVID-19 โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไร?
ตอบ : นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างกรณีลาป่วย 30 วัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานครบ จะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหากลาป่วยเกิน 30 วัน สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยตามที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน หากเจ็บป่วยเรื้อรังได้รับไม่เกิน 365 วัน ตามที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว
สรุป...จากที่หลายคนสงสัย โดยเฉพาะพนักงานประจำที่มีงานทำประจำอยู่ แล้วถูกลดเงินเดือนเพราะสถานการณ์วิกฤตจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะมีสิทธิได้รับการชดเชยรายได้หรือเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมมั้ย?.... ตอบได้เลยค่ะว่า "ต้องทำใจ" เพราะผู้ประกันตนยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง และได้รับค่าจ้างจากนายจ้างอยู่ ถึงจะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน แต่ก็ยังได้รับค่าจ้างอยู่ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ดังนั้น จึง "ไม่ได้" รับสิทธิใดๆ จากสำนักงานประกันสังคมค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง เงินชดเชย วิกฤตโควิด-19 ถูกลดเงินเดือน เงินชดเชยประกันสังคม
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)