รู้ทัน! 9 รูปแบบมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน และขโมยข้อมูลการเงินที่เราต้องระวัง ... ก่อนหมดตัว!

icon 29 พ.ค. 63 icon 18,370
รู้ทัน! 9 รูปแบบมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน และขโมยข้อมูลการเงินที่เราต้องระวัง ... ก่อนหมดตัว!

การหลอกลวง ทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัว ถึงแม้ว่าเราจะระมัดระวังตัวดีแล้วก็ตาม แต่ยังมีหลายคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้อยู่ดี โดยกลุ่มคนพวกนี้จะพยายามค้นหาวิธีต่างๆ มาหลอกเพื่อให้คนหลงเชื่อแบบง่ายๆ ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวสารทางทีวี สื่อออนไลน์ หรือในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น วันนี้ทางทีมงาน Checkraka จึงขอรวบรวมมุกยอดฮิต และตัวอย่างการหลอกลวงในช่วงนี้ที่ทางเหล่ามิจฉาชีพทำให้เราหลงเชื่อแล้วต้องสูญเสียเงินจนบางคนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว รวมถึงวิธีป้องกันตัว มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนได้ใช้เป็นอุทาหรณ์ก่อนถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพเหล่านี้ค่ะ

จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการรวบรวมข่าวสารคดีความภัยการเงินที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหล่ามิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงแล้วมีผลเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ มีดังนี้

อันดับ 1 คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ "เงินฝาก / เงินโอน และเช็ค" โดยจะมาในรูปแบบของการหลอกลวงให้โอนเงิน
อันดับ 2 คือ ผลิตภัณฑ์ "บัตรเครดิต" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปลอมแปลงบัตรเครดิต แล้วนำไปใช้จ่าย
อันดับ 3 คือ ผลิตภัณฑ์ "สินเชื่อ" โดยใช้จุดอ่อนจากความเดือดร้อน และต้องการใช้เงินด่วนของเหยื่อ ด้วยการหลอกให้โอนเงินเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
ทั้ง 3 อันดับนี้ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินยอดฮิตที่มิจฉาชีพทั้งหลายนำมาใช้ในการแอบอ้างเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ จนทำให้มีผู้เสียหายจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากที่สุดนั่นเอง ต่อไปมาดูกันค่ะว่าเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้ใช้มุกอะไรมาหลอกล่อ หรือหลอกลวงเพื่อให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อยอมทำตามกันค่ะ


1. หลอกให้รักแล้วให้โอนเงิน

มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นๆ ด้วยการใช้รูปโปรไฟล์คนหน้าตาดี หรือน่าเชื่อถือ ผ่านการติดต่อจาก Social media ต่างๆ เช่น Facebook, Instragram หรือ Twitter เป็นต้น คุยติดต่อให้เหยื่อไว้ใจแล้วหลอกให้โอนเงิน หรือส่งของให้
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... เป็นชาวต่างชาติที่ต้องการหารักแท้ โดยอ้างพร้อมที่จะย้ายมาอยู่กับเหยื่อเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน จะโอนเงินค่าบ้าน ค่ารถ หรือเงินทั้งหมดที่มีมาให้เหยื่อ หรือหลอกส่งของมาให้ทางไปรษณีย์ หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะแจ้งเหยื่อ หรือปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่และแจ้งเหยื่อว่าไม่สามารถโอนเงินหรือส่งของให้ได้เพราะติดเงื่อนไขว่าทางองค์กรต่างๆ เช่น ธปท. ธนาคารประเทศต้นทาง หรือกรมศุลกากร ระงับการโอนเงิน/ส่งของ เพื่อขอตรวจสอบและมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าทนาย ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน/รับเงิน ซึ่งเหยื่อก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริง รวมถึงเห็นว่าการจ่ายเพิ่มอีกนิดก็เพื่อที่จะได้รับเงินก้อนใหญ่กว่า โดยกว่าที่เหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจทำให้หมดเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว และโอกาสในการที่จะติดตามรับเงินคืนก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะอยู่ในต่างประเทศ ที่สำคัญคือมิจฉาชีพเหล่านี้จะเลือกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่ผู้รับไม่ต้องมีเอกสารแสดงตัวตน เพื่อป้องกันการติดตามนั่นเอง
ตั้งสติ และป้องกันตัว... จำไว้เสมอว่าการหลอกลวงจากเหล่ามิจฉาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่ผู้รับสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตัวตนใดๆ เพราะจะได้ยากต่อการติดตาม และในส่วนของการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการใดๆ ก็ตามนั้น ให้สังเกตว่าส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง แต่หากมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่จริงๆ ก็จะดำเนินการโดยมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และเราควรมีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรงก่อนที่จะดำเนินการโอนเงินกลับ

2. อ้างเป็นคนรู้จัก

มิจฉาชีพจะใช้ความสัมพันธ์ในการเป็นครอบครัวใหญ่ของคนไทย ด้วยการเป็นญาติ พี่น้อง หรือเพื่อน มาหลอกลวงให้โอนเงินให้ โดยการใช้ Social Network
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... หลอกให้โอนเงินช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดีย มิจฉาชีพจำพวกนี้จะใช้วิธีปลอมตัวเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนรู้จักของเราเพื่อขอยืมเงินด้วยการเอารูปภาพแล้วสร้างบัญชีขึ้นโดยเฉพาะ หรือทำการแฮ็กบัญชีโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instargram หรือ LINE เป็นต้น เพื่อสวมรอยแอบอ้างเป็นคนๆ นั้น โดยที่ญาติหรือคนรู้จักเราไม่รู้ว่าโดนหลอกลวงอยู่ ด้วยการหลอกว่าเดือดร้อน ต้องการใช้เงินด่วน แล้วหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้
ตั้งสติ และป้องกันตัว... เมื่อได้รับข้อความจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ต่างๆ ในลักษณะการขอยืมเงิน หรือขอให้โอนเงิน ทางที่ดีเราควรโทรฯ เช็กเพื่อยืนยันตัวตนให้ชัดเจนก่อน และควรเข้าไปดูหน้า feed เพื่อพิจารณาลักษณะการโพสต์ และหากยิ่งเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้วอยู่ๆ ทักมา ยิ่งต้องระวังไว้ให้ดี

3. หลอกให้ลงทุน

มิจฉาชีพจะหลอกลวงมาในรูปแบบ "แชร์ลูกโซ่" เป็นส่วนใหญ่ ด้วยการเชิญชวนให้หารายได้เสริมที่มีรายได้ดี แต่ไม่ต้องทำงานหนัก จูงใจด้วยการใช้จิตวิทยาโน้มน้าวให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิก และหาสมาชิกรายอื่นๆ เพิ่ม
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... มีการชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ ด้วยการบอกว่ามีการทำธุรกิจหนึ่งขึ้น เช่น ธุรกิจจำหน่ายวิตามินที่มีประโยชน์มากที่สุดในโลก แต่ผู้ร่วมลงทุนไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ซื้อผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่ง และเหยื่อจะได้ทั้งผลิตภัณฑ์ไปใช้ พร้อมกับผลตอบแทนอีก 20% ของเงินลงทุน ถ้ายิ่งลงทุนมากก็จะยิ่งได้เงินคืนมากเช่นกัน หรือถ้าอยากได้เงินเพิ่มอีกก็แค่ชักชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องมาร่วมลงทุน เราก็จะได้ในส่วนของค่านายหน้าเพิ่ม ซึ่งในช่วงแรกๆ ของการลงทุน ทางมิจฉาชีพจะมีการจ่ายผลตอบแทนตามที่แจ้งไว้และตรงตามกำหนด แต่หลังจากนั้นอีกไม่นานผลตอบแทนที่เคยได้ก็จะไม่ได้ นานเข้าก็ติดต่อมิจฉาชีพพวกนี้ไม่ได้อีกเลย จึงส่งผลทำให้เหยื่อสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
ตั้งสติ และป้องกันตัว... เมื่อมีการชักชวนในลักษณะนี้เกิดขึ้น ให้เราศึกษาที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ให้ดีก่อน และดูว่าธุรกิจที่จะลงทุนนี้มีใบขออนุญาตทำธุรกิจจริงหรือไม่ ที่สำคัญคือเราไม่ควรไว้ใจหรือเกรงใจใครจนไม่กล้าปฏิเสธ แม้ว่าคนที่ชวนนั้นจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวก็ตาม และควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับกลุ่มธุรกิจที่ไม่แน่ใจ เพราะคนกลุ่มนี้จะใช้จิตวิทยาหว่านล้อมจนทำให้เรายากที่จะทำการปฏิเสธ

4. อ้างช่วยเรื่องสินเชื่อได้

มิจฉาชีพจะอ้างกับเหยื่อว่าสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีประวัติทางการเงินไม่ดีได้ แต่ขอให้เหยื่อจ่ายค่าจ้างในการเจรจาก่อนจึงจะไปเจรจาให้
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... การอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน หรือเป็นคนที่สามารถเข้านอกออกในและคุยกับเจ้าหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ สามารถช่วยเหลือคนที่มีประวัติทางการเงินไม่ผ่านเกณฑ์เงินกู้ธนาคารได้ แต่จะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการดำเนินการก่อน
ตั้งสติ และป้องกันตัว... ส่วนใหญ่พวกที่เป็นมิจฉาชีพนี้จะร้องขอค่านายหน้าก่อนที่จะช่วยเหลือเหยื่อ เพราะจริงๆ แล้วมิจฉาชีพไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีเงื่อนไขและเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่จะขอกู้ได้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด

5. ขโมย หรือปลอมแปลงบัตรเครดิต / เดบิต / ATM

มิจฉาชีพต้องการข้อมูลจากบัตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นเลขที่บัตร รหัส และข้อมูลในส่วนต่างบนบัตร หรือแม้แต่การเอาบัตรนั้นๆ มาเอาเงินจากบัญชีเราออกไป ซึ่งอาจจะด้วยการขโมยบัตร หรือใช้การขโมยข้อมูลในแถบแม่เหล็ก ที่เรียกว่า "Skimmer"
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... มิจฉาชีพจะเอาบัตรที่ขโมยมาได้ มารูดกับอุปกรณ์คัดลอกข้อมูล พร้อมบันทึกรหัสปลอดภัย 3 ตัวด้านหลังบัตรไว้ (ดูรายละเอียดความสำคัญของ : เลข "CVV หลังบัตรเครดิต" ซื้อของออนไลน์ทำไมต้องใส่ แล้วมีอะไรต้องระวังบ้าง?) หลังจากนั้นก็จะนำบัตรนั้นไปใช้จ่ายในนามของเหยื่อ และในบางกรณีข้อมูลของบัตรนี้มิจฉาชีพก็เอามาจากการนำเครื่อง Skimmer ไปติดตั้งที่ตู้เอทีเอ็มที่คนไม่พลุกพล่าน เพื่อป้องกันการถูกจับระหว่างการติดตั้ง พร้อมกับติดตั้งแป้นครอบกดตัวเลข หรือติดตั้งกล้องจิ๋ว เพื่อแอบถ่ายข้อมูลรหัสบัตรระหว่างที่เจ้าของบัตรกำลังกดเงิน
ตั้งสติ และป้องกันตัว... หลีกเลี่ยงการใช้บัตรกับตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในสถานที่เปลี่ยว หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ให้สังเกตว่าตู้เอทีเอ็มมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ และถ้าใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าและบริการ ก็ให้เราไปอยู่ในบริเวณที่มองเห็นการทำรายการ เพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปรูดกับเครื่องคัดลอกข้อมูล และควรหลีกเลี่ยงการใช้บัตรกับร้านค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตได้ เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือสถานบันเทิง เป็นต้น เคล็ดลับเล็กๆ สำหรับการป้องกันการนำข้อมูลบนบัตรไปใช้ก็คือ ติดสติ๊กเกอร์ปิดเลขรหัส CVV ด้านหลังบัตรไว้เสมอ

6. ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัว

มิจฉาชีพที่มาลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวนี้ส่วนใหญ่จะทำงานกันเป็นทีมหรือเป็นขบวนการ ด้วยการเริ่มติดต่อเข้ามาโดยใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ แอบอ้างตัวเองเป็นหน่วนงานโน่นนี่นั่น แล้วสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อตกใจโดยอ้างถึงการกระทำที่ผิดกฎหมายของเหยื่อ หรือใช้จุดอ่อนจากความกลัวมาเป็นมุกในการหลอกลวง
เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง... มีสายโทรศัพท์เข้ามาแต่ไม่มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ แล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคาร แจ้งว่าข้อมูลของเราหายไป ขอให้แจ้งข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดอีกครั้ง เช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีทั้งหมดที่มีกับธนาคารเพื่อยืนยันการใช้บัญชี แต่ถ้าหากไม่ให้ข้อมูลบัญชีที่มีอยู่ก็จะถูกอายัดทั้งหมด จึงทำให้เหยื่อเกิดความกลัวแล้วรีบแจ้งข้อมูลส่วนตัวกับมิจฉาชีพในทันที
ตั้งสติ และป้องกันตัว... สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเลยคือ จะไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วนงานใดๆ แจ้งขอข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเจอกรณีแบบนี้ให้สงสัยได้ทันทีว่ากำลังถูกหลอกลวงแน่นอน เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นก็ทำการตรวจสอบโดยโทรกลับไปสอบถามหรือไปแจ้งที่ธนาคารโดยตรง

7. อ้างว่าแลกกับเงินก้อนโต

มิจฉาชีพจะใช้ความโลภที่ทุกคนมี มาใช้หลอกให้เหยื่อหลงเชื่อนำเงินจำนวนน้อยกว่ามาแลกกับเงินหรือรางวัลที่จะได้รับมากกว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง...ทำลอตเตอรี่ปลอมขึ้นมา แล้วอ้างว่าเป็นลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นคนต่างด้าวจึงไม่สามารถขึ้นเงินได้ จึงขอแลกเงินกับรางวัลใหญ่นี้ โดยส่วนใหญ่จะขอยอดเงินที่มีจำนวนน้อยกว่ารางวัลที่จะได้รับ จึงทำให้เหยื่อหลงเชื่อและยอมที่จะเอาเงินให้
วิธีสังเกต และป้องกัน... เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้อย่าเพิ่งหลงเชื่อและเอาเงินให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้ เราควรตรวจสอบหมายเลขที่กำกับอยู่ในลอตเตอรี่หรือเอกสารนั้นๆ ก่อนว่า เป็นของจริงหรือไม่ และควรคิดไว้เสมอว่าเรื่องแบบนี้เป็นไปได้ยากเพราะถ้ามีการถูกรางวัลจริงๆ คนเหล่านี้มักจะไม่มาบอกเราแน่นอน

8. ร้านค้าปลอม

แอบอ้างเป็นร้านค้า โฆษณาขายของราคาถูก จัดโปรโมชั่น Sale สินค้า แบบลด แลก แจก แถม เพื่อให้ขาช้อปทั้งหลายตาลุกวาว และหลงโอนเงินให้มิจฉาชีพ แต่เหยื่อกลับไม่ได้สินค้าตามต้องการ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง... มีการจัดทำเพจขายของที่กำลังเป็นที่ต้องการในสถานการณ์นั้นๆ เช่น หน้ากากอนามัย ด้วยการลงโปรโมทในเพจ ใช้รูปภาพปลอม และนำเสนอราคาที่ถูกกว่าปกติ มีการลดเพิ่มหรือแถมเมื่อมีการสั่งเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความต้องการหน้ากากอนามัยเป็นอย่างมาก จึงทำให้เหยื่อที่เห็นโฆษณานี้เกิดความต้องการและอยากได้ จึงสั่งซื้อและโอนเงินให้ก่อนที่จะเห็นสินค้า แต่หลังจากที่มีการโอนเงินเสร็จแล้ว กลับไม่มีสินค้าใดๆ ส่งมาเลย พร้อมกันนั้นเพจร้านค้าที่เคยโพสต์หรือโฆษณาไว้ก็หายและถูกลบไป จึงทำให้หลายคนสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
ตั้งสติ และป้องกันตัว... เมื่อเกิดความต้องการอยากได้สินค้าอะไรสักอย่างควรศึกษาและตรวจสอบร้านค้าที่จะสั่งซื้อให้ดีว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ส่วนการชำระเงินนั้นถ้าเป็นไปได้ควรขอชำระเงินปลายทาง คือต้องเห็นสินค้าก่อนแล้วจึงจ่ายตังค์

9. หลอกร้านว่าโอนเงินแล้ว

มิจฉาชีพในลักษณะนี้จะเป็นพวกที่หลอกลวงซื้อของ หรือสั่งของจากร้านค้า และขอเครดิตและจ่ายเงินหรือโอนเงินในภายหลัง ซึ่งเหยื่อที่เป็นร้านค้าพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการสั่งของเป็นจำนวนมาก และยอมส่งของให้ก่อนที่จะเก็บเงิน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง... กลุ่มมิจฉาชีพทำตัวแฝงเข้าไปเป็นลูกค้าในร้านวัสดุก่อสร้าง พูดจาดี น่าเชื่อถือ ด้วยการแอบอ้างเป็นผู้รับเหมาโครงการนั้น โครงการนี้ จนเจ้าของร้านเชื่อ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการสั่งซื้อของเป็นจำนวนมาก พร้อมต่อรองขอเครดิตในการชำระเงินเป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้จากที่มีการพูดคุยและสร้างสัมพันธ์ที่ดีของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จึงไว้ใจและยอมส่งของทั้งหมดพร้อมกับให้เครดิตการชำระเงินตามที่ขอ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน มิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็หายตัวไป ไม่สามารถติดต่อได้เลย จึงทำให้ร้านค้าได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
ตั้งสติ และป้องกันตัว... การทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม ในส่วนของร้านค้านั้นจะต้องมีการตรวจสอบลูกค้าที่เข้ามาโดยเฉพาะรายใหม่ที่สั่งของเป็นจำนวนมากๆ ดูให้ดีว่าลูกค้ารายนั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่ ส่วนเรื่องของเครดิตการชำระเงินก็ควรเช็กให้ดีก่อนจะดำเนินการในส่วนนี้


1. ตั้งสติ >> คิดทบทวนว่าข้อความหรือข้อมูลที่ได้รับเป็นจริงหรือไม่
2. ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว >> เช่น เลขที่บัตรประชาชน วัน/เดือน/ปีเกิด รวมไปถึงข้อมูลการเงิน เช่น เลขที่บัญชี รหัสกดเงิน หรือแม้แต่วงเงินบัตรเครดิต เพราะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารจริงจะต้องรู้รายละเอียดของผู้ที่ต้องการติดต่ออยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องถามชื่อ-นามสกุลเพิ่ม
3. ไม่ทำรายการตามคำบอกผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย >> แม้จะได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสถาบันการเงิน เพราะหน่วยงานของรัฐและธนาคารไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวลูกค้า หรือประชาชนผ่านทางโทรศัพท์และช่องทางโซเชียลมีเดีย
4. ไม่โลภอยากได้เงินรางวัลที่ไม่มีที่มา >> จำไว้ว่า "ของถูก ของดี ของฟรี ไม่มีในโลก" ซึ่งบางทีอาจพลาดจนทำให้เราต้องเข้าไปพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายการฟอกเงินโดยไม่รู้ตัว
5. สงสัยต้องตรวจสอบ >> โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินหรือหน่วยงานนั้น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง โดยตรวจสอบเบอร์โทรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น 1133 หรือเว็บไซต์ของธนาคาร หรือหน่วยงานนั้นๆ หรือจะสอบถามไปที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213


1. ทำ...การรวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง และตั้งสติให้ดี
2. ทำ...การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการโอนเงิน
3. ทำ...การแจ้งระงับการโอนเงินทันที โดยแจ้งไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารนั้นๆ เมื่อถูกหลอก หรือเพื่อขอความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
4. ทำ...การแจ้งเบาะแส ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
5. ทำ...ใจ เพราะส่วนใหญ่เงินที่ถูกโอนให้มิจฉาชีพแล้ว โอกาสที่จะได้คืนนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก ยกเว้นผู้เสียหายที่สามารถแจ้งระงับการโอนก่อนที่มิจฉาชีพจะถอนเงินออกไปได้
ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆ กลุ่มมิจฉาชีพก็จะมีมุกมาหลอกลวงเหยื่ออยู่เรื่อยๆ ทั้งมุกเก่า และมุกใหม่ โดยจะเห็นได้จากข่าวสารคดีถูกหลอกไม่เว้นในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นเราทุกคนที่ตกอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพพวกนี้ก็ต้องมีสติ และป้องกันระมัดระวังตัวให้ดี จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของคนพวกนี้ค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง มุกหลอกลวง ป้องกันการหลอกลวง มิจฉาชีพหลอกเงิน
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)