เคยต้องซื้อ "แคชเชียร์เช็ค" เพื่อจ่ายค่ารถหรือค่าบ้านไหม? : 10 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อ หรือรับ "แคชเชียร์เช็ค"

icon 4 ก.ย. 66 icon 357,677
เคยต้องซื้อ "แคชเชียร์เช็ค" เพื่อจ่ายค่ารถหรือค่าบ้านไหม? : 10 ข้อต้องรู้ก่อนซื้อ หรือรับ "แคชเชียร์เช็ค"
ทุกวันนี้ ถึงแม้โลกเราจะเป็นสังคม Cashless Society มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีตราสารทางการเงินที่ยังใช้กันในรูปของกระดาษอยู่บ้าง ที่เห็นบ่อยๆ ก็คือ แคชเชียร์เช็ค (Cashier's Cheque) ซึ่งมีใช้อยู่เรื่อยๆ เวลาเราต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมให้กรมที่ดิน รับหรือชำระเงินกู้บ้าน หรือจ่ายค่าซื้อรถ เป็นต้น วันนี้เรามาดูกันว่า ก่อนที่เราจะซื้อ หรือใช้แคชเชียร์เช็ค เราควรต้องรู้อะไรบ้างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับเงินในบัญชีของเรา
1. แคชเชียร์เช็ค (Cashier's Cheque) คืออะไร?
 
ถ้าอธิบายง่ายๆ ตามชื่อของมัน Cashier's Cheque ก็คือเช็คแบบหนึ่งที่ออกโดยธนาคาร มีเงินสดอยู่ข้างในเช็คตามจำนวนเท่ากับที่ระบุในเช็ค และเขียนชื่อผู้รับเงินไว้อย่างชัดเจน โดยกระบวนการของแคชเชียร์เช็คจะเกี่ยวข้องกับ 3 ฝ่ายคือ (1) คนซื้อแคชเชียร์เช็คกับธนาคาร (2) คนขายแคชเชียร์เช็คซึ่งจะเป็นธนาคารเสมอ และ (3) ผู้รับเงินที่มีชื่อเป็นผู้รับเงินในเช็คนั้น (จะเป็นใครก็ได้ที่คนซื้อต้องการชำระหนี้หรือชำระเงินให้) โดยในการซื้อนั้น คนซื้อจะต้องจ่ายเงินสด หรือหักบัญชีเงินฝากเท่ากับจำนวนที่จะระบุในเช็คให้ธนาคารเลย พร้อมกับค่าธรรมเนียมอีกนิดหน่อย (ส่วนใหญ่คือ 20 บาท)
 
2. ต่างจากเช็คทั่วไปยังไง?
 
สามารถมองได้จาก 4 มุมมอง ดังนี้
 
ภาพรวม
  • แคชเชียร์เช็ค เทียบได้กับบัตรเดบิต (มีเงินในเช็คแล้ว และจะไม่มีทางเด้ง)
  • เช็คทั่วไป เทียบได้กับบัตรเครดิต (อาจมีหรืออาจไม่มีเงินในเช็คก็ได้ ดังนั้น จึงมีโอกาสเช็คเด้งได้)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • แคชเชียร์เช็ค ธนาคารเป็นทั้งผู้สั่งจ่าย และผู้จ่ายในเวลาเดียวกัน    
  • เช็คทั่วไป ผู้สั่งจ่าย และผู้จ่ายเป็นคนละคนกัน ผู้สั่งจ่ายอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท แต่ผู้จ่ายจะเป็นธนาคารเสมอ
ต้องเปิดบัญชีหรือไม่    
  • แคชเชียร์เช็ค ผู้ขอออกเช็คไม่ต้องมีบัญชีเงินฝากใดๆ กับธนาคารที่จะออกเช็ค    
  • เช็คทั่วไป ผู้ขอออกเช็คต้องมีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารที่จะออกเช็ค
โอกาสเช็คเด้ง    
  • แคชเชียร์เช็ค ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็ค คือธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คนั้นๆ จึงมีความน่าเชื่อถือสูงมาก ถ้าธนาคารนั้นไม่ล้มละลายไปก่อน ก็ไม่มีโอกาสเช็คเด้ง    
  • เช็คทั่วไป ถ้าคนออกเช็คมีเงินในบัญชีกระแสรายวันไม่พอจ่าย เช็คอาจเด้งได้
3. แคชเชียร์เช็คใช้เพื่ออะไรบ่อยๆ
 
โดยทั่วไป ธุรกรรมทางธุรกิจที่ใช้แคชเชียร์เช็คบ่อยๆ คือธุรกรรมที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ๆ เช่น หลักแสนบาทขึ้นไป  อย่างการซื้อรถ การชำระค่าจดทะเบียนที่ดิน การจ่ายหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น เพราะจุดเด่นของแคชเชียร์เช็ค คือ ไม่ต้องพกเงินสดก้อนใหญ่ติดตัว และผู้รับเงินก็มั่นใจว่าจะได้เงินแน่นอน ดังนั้น แคชเชียร์เช็คจะป้องกันปัญหาการถือเงินสดที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ได้
 
  • สูญหาย หรือโดนปล้นระหว่างทาง
  • เจ้าหน้าที่โชว์รูมรถทุจริต คือไม่ได้เอาเงินสดเข้าบัญชีบริษัทผู้รับเงิน
  • แคชเชียร์หรือพนักงานของบริษัทผู้รับเงิน ไม่ต้องเสียเวลานับเงินสด ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้
4. ซื้อยังไง? และเสียค่าธรรมเนียมอะไรหรือไม่?
 
การซื้อ Cahsier's Cheque จะซื้อได้กับธนาคารเท่านั้น โดยเราต้องถือเงินสด (หรือมีเงินในบัญชีกับธนาคารนั้นๆ เพื่อให้ตัดเงินได้) ไป 2 จำนวน คือ
 
  • เงินสดตามจำนวนที่จะระบุในเช็คที่เราต้องการให้ออก และ
  • เงินสดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมแคชเชียร์เช็ค ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 20 บาท ต่อแคชเชียร์เช็ค 1 ฉบับ
5. แคชเชียร์เช็คมีอายุกี่วัน
 
แคชเชียร์เช็ค เป็นเช็คที่ธนาคารเป็นผู้ออก และจะไม่มีวันหมดอายุ เพราะธนาคารได้รับเงินจากผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คไปแล้ว ดังนั้น แม้เวลาผ่านไปหลายปี ก็ยังสามารถขึ้นเงินได้ แต่มักจะส่งเรียกเก็บข้ามธนาคารไม่ได้ถ้าแคชเชียร์เช็คนั้นออกมานานแล้ว ในทางปฏิบัติ อาจต้องไปติดต่อธนาคารที่ออกเช็คก่อน
 
6. หน้าตาเป็นอย่างไร?
 
แคชเชียร์เช็คของจริงจะมีหน้าตาตามตัวอย่างข้างล่างนี้
 
 
7. ควรต้องระบุ A/C Payee Only หรือไม่?
 
โดยหลักต้องระบุแคชเชียร์เช็คให้เป็น Account Payee Only (A/C Payee Only) ความแตกต่างระหว่างการระบุ A/C Payee Only (เข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น) กับการไม่ระบุ A/C Payee Only คือว่า ถ้าระบุ A/C Payee ให้เป็น เช่น บริษัท ก ผลคือบริษัท ก ต้องเอาเช็คเข้าบัญชีในชื่อตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถสลักหลังโอนเช็คต่อให้คนอื่นได้ แต่ถ้าไม่ระบุว่าเป็น A/C Payee ผลคือบริษัท ก สามารถเอาเช็คเข้าบัญชีตัวเอง หรือจะสลักหลังโอนเช็คนี้ต่อไปให้คนอื่นได้
 
8. แคชเชียร์เช็คปลอมมีไหม?
 
ในอดีตที่ผ่านมามีเคสการปลอมแคชเชียร์เช็คเกิดขึ้น ดังนั้น แคชเชียร์เช็คจึงมีโอกาสปลอมได้ ดังนั้น ถ้าเราไม่แน่ใจ หรือเห็นแคชเชียร์เช็คที่ดูแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นสีจาง หรือโลโก้ธนาคารไม่คมชัด ให้ระวังไว้ก่อน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ให้คนจ่ายเงินเราถ่ายรูปแคชเชียร์เช็คมาล่วงหน้าให้เราดูสัก 1-2 วัน แล้วเราก็โทรไปที่สาขาของธนาคารที่ออก เพื่อตรวจสอบหมายเลขแคชเชียร์เช็คกับธนาคารว่าเป็นแคชเชียร์เช็คที่ออกโดยธนาคารมาจริง และในวันที่นัดรับเช็ค พอได้เช็คฉบับจริงก็เช็คอีกทีว่าตรงกับที่เราได้สำเนารูปเช็คนั้นมาหรือเปล่า
 
9. ถ้าหาย ต้องทำยังไง?
 
ถ้าแคชเชียร์เช็คหาย สิ่งที่ควรทำ คือแจ้งสาขาธนาคารที่ออกเช็คนั้นโดยเร็ว พร้อมทั้งขอให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตาม เช็คนั้น หลังจากนั้น ให้แจ้งความตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ เพื่อลงบันทึกประจำวัน และมอบสำเนาแจ้งความให้ธนาคารเพื่อประกอบการอายัด และออกเช็คฉบับใหม่ให้ต่อไป (ถ้าต้องการ)
 
10. ยกเลิกได้ไหม?
 
สามารถยกเลิกได้โดยผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คเท่านั้น โดยผู้ซื้อจะต้องติดต่อสาขาธนาคารผู้ออกเช็คโดยตรงด้วยตัวเอง พร้อมเอกสารประกอบ หลักๆ ก็คือ  บัตรประชาชนตัวจริง แคชเชียร์เช็ค และใบเสร็จชำระเงิน การยกเลิกแคชเชียร์เช็คที่ซื้อไปจะไม่มีค่าธรรมเนียม เพียงแต่ธนาคารจะไม่คืนค่าธรรมเนียมที่ชำระไปในตอนซื้อคืนให้ (ส่วนใหญ่จะ 20 บาท)
 
อยากสอบถามข้อมูลความรู้เรื่องการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม ทักมาพูดคุยกับ GURU ได้ที่นี่!! https://page.line.me/uht3147t
แท็กที่เกี่ยวข้อง ซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อขายรถ ซื้อขายบ้าน แคชเชียร์เช็ค cashier s cheque ตราสารทางการเงิน cashless society สังคมไร้เงินสด
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่





เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)