บัตรเป็นรอย! บัตรเป็นคราบดำ.. ทำไงดี? : มาดูวิธีเก็บรักษาดูแลบัตรพลาสติกกันเถอะ!
เคยมั้ย?? ใช้บัตรพลาสติกไปนานๆ แล้วเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น
บัตรเป็นรอยบ้าง
เป็นคราบบ้าง หรือ
บัตรลอก - บัตรดำ ฯลฯ ส่งผลให้อายุการใช้งานของบัตรเหล่านั้นลดลงได้ค่ะ หรือในกรณีที่ไปจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต แต่เครื่องรูดบัตรอ่านข้อมูลนานเกินไป! ซึ่งถ้าบัตรเกิดการเสื่อมสภาพ ก็ต้องทำ
การเปลี่ยนบัตรใหม่ และต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายบาทในการเปลี่ยนตามประเภทของบัตรอีกด้วย วันนี้เราก็เลยนำวิธีการเก็บรักษาและการทำความสะอาดบัตรพลาสติกจำพวก
บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มต่างๆ มาฝากเพื่อนๆ ค่ะ ^^
วิธีการเก็บรักษาบัตรพลาสติกที่ทำได้ง่ายๆ มีอะไรบ้าง?
มาดูวิธีการเก็บบัตร (บัตรเครดิต / บัตรเดบิต / บัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ) กันว่าควรเก็บยังไง? ให้ใช้งานได้นานๆ ดังนี้
1. เก็บใส่กระเป๋าสตางค์แบบแยกชั้น แยกช่อง ไม่ควรใส่บัตรหลายใบในช่องเดียวกัน
เพราะถ้าเราใส่บัตรในช่องเดียวกัน อาจจะทำให้เกิดการเสียดสีตรงส่วนของแถบแม่เหล็ก หรือชิปการ์ด เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆ ก็จะทำให้การอ่านข้อมูลบัตรเวลาที่เรานำไปใช้งานนั้นทำได้ยาก เพราะฉะนั้นควรแยกช่องดีกว่า หรือถ้าใครจำเป็นต้องใส่ในช่องเดียวกัน ก็ควรหันด้านแถบแม่เหล็กออกจากกัน เพื่อป้องกันการเสียดสี
สิ่งสำคัญคือ อย่าเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์นานเกินไป และหมั่นทำความสะอาดกระเป๋าไม่ให้เกิดฝุ่นหรือคราบ เพราะจะทำให้บัตรเครดิตหรือบัตรอื่นๆ ของเราพลอยเกิดคราบสกปรกตามไปด้วย
2. เก็บใส่ซองพลาสติก หรือกระเป๋าสำหรับเก็บบัตร
เพื่อจะได้แยกบัตรออกเป็นส่วนๆ และบัตรจะได้ไม่อัดแน่นจนเกินไปในกระเป๋าสตางค์ และทำให้เราสะดวกเวลาจะหยิบใช้งานอีกด้วย
3. เก็บบัตรให้ห่างจากวัตถุที่มีแม่เหล็ก หรือวัตถุที่มีความร้อน
เช่น ตู้เย็น หรือไมโครเวฟ เพราะอาจจะทำให้แถบแม่เหล็กเสื่อม ซึ่งก็จะทำให้อ่านข้อมูลไม่ได้อีกเช่นกัน หรือถ้าอยู่ใกล้ความร้อน บัตรก็อาจจะละลายได้
4. เก็บบัตรไว้ในที่แห้งและเย็น
ไม่ควรให้บัตรถูกสารละลายทุกชนิด เช่น พวกทินเนอร์ แอลกอฮอลล์ หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อน เพราะมันอาจจะไปทำลายแถบแม่เหล็ก หรือชิปการ์ด ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดของบัตรเครดิตนั่นเอง
5. ระวังอย่าให้บัตรบิดหรืองอ
ถ้าหากบัตรเครดิตเกิดการบิดหรืองอ ทำให้ส่วนของแถบแม่เหล็กเกิดการชำรุดและโค้งงอไปด้วย จะส่งผลเสียต่อการใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้
6. สามารถซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วยการแปะสก๊อตเทปใส
หากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ที่เกิดการชำรุดเล็กๆ น้อยๆ เช่น แถบพลาสติกบริเวณข้างๆ บัตรลอก ขาด หรือแม้กระทั่งแถบแม่เหล็กเกิดการหลุดลอก (เพียงเล็กน้อย) เราสามารถซ่อมแซมได้ด้วยการนำสก๊อตเทปใสๆ มาแปะทับไว้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและแปะทับเข้าไปที่ตรงจุดเดิม เพื่อประโยชน์ในการอ่านข้อมูลของบัตรยังคงทำได้เหมือนเดิม แต่ถ้าแก้แล้วยังใช้งานไม่ได้ ก็อาจจะต้องทำการติดต่อเพื่อของเปลี่ยนบัตรใบใหม่กับธนาคารค่ะ
ทำไมต้องทำความสะอาดบัตรเครดิต เมื่อทำแล้วจะส่งผลดียังไง?
บัตรเครดิต, บัตรเดบิต (หรือบัตรพลาสติกอื่นๆ) ที่มีส่วนของชิปการ์ดไว้เก็บข้อมูล เป็นบริเวณที่อาจเกิดคราบสะสม ฝุ่น หรือเชื้อโรคต่างๆ ติดมาจากการเสียบเข้าไปยังเครื่องรับชำระเงินที่ร้านค้า ตลอดจนการใช้งานกับเครื่อง ATM เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหมั่นทำความสะอาดบัตรเครดิตอยู่เสมอ เพื่อให้การอ่านข้อมูลจากชิปการ์ดหรือแถบแม่เหล็กง่ายและไวขึ้น ไม่ต้องยืนรอนานๆ ตอนชำระเงินที่ร้านค้า หรือตอนไปกดเงินที่ตู้ ATM ค่ะ
วิธีการทำความสะอาดบัตรเครดิต (รวมถึงบัตรพลาสติกอื่นๆ) สามารถทำวิธีไหนได้บ้าง?
ลองมาดูว่า.. เราจะทำความสะอาดบัตรเครดิต (รวมถึงบัตรพลาสติกอื่นๆ) ยังไงได้บ้าง ให้แลดูใหม่อยู่เสมอ ไม่เป็นคราบเลอะเทอะจนเกินไป ด้วยวิธีการดังนี้
1. ใช้ยาสีฟันทำความสะอาดตรงบริเวณชิปการ์ด
อาจจะใช้เป็นก้านสำลีป้ายยาสีฟัน (ยี่ห้อใดก็ได้ ที่ไม่มีลักษณะเป็นน้ำเหลว) จากนั้นนำมาถูทำความสะอาดอย่างเบามือตรงบริเวณชิปการ์ด จนคราบสกปรกนั้นหมดไปค่ะ
ข้อควรระวัง : หลีกเลี่ยงการใช้น้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาดบริเวณชิปการ์ด เพราะถ้าหากชิปการ์ดโดนความเปียกชื้น หรือขึ้นรา ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลบัตรเครดิตเสียหายได้ค่ะ |
2. ใช้ยางลบลบดินสอถูบริเวณบัตรที่มีคราบสกปรก
การใช้ยางลบลบดินสอถูบริเวณบัตรที่สกปรกนี้ก็เช่นกัน ให้ทำด้วยความระมัดระวัง และให้ดูประเภทพลาสติกที่ใช้ทำบัตรด้วยว่า สามารถใช้ยางลบทำความสะอาดได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็ไม่ควรฝืนทำ เพราะอาจจะทำให้ข้อมูลหน้าบัตร-หลังบัตรหายไปได้ค่ะ
นี่เป็นเพียงวิธีการดูแลรักษา และทำความสะอาดบัตรพลาสติกต่างๆ ที่เรานำมาฝากกัน ซึ่งการเก็บรักษาที่กล่าวมานั้น อาจจะทำได้ง่ายกว่าการทำความสะอาดถ้าเก็บดีๆ ตั้งแต่ตอนได้รับบัตรมาใหม่ๆ สำหรับวิธีการป้องกันบัตรเป็นรอยหรือเป็นคราบอีกวิธีหนึ่งคือ พยายามหาร้านค้าที่สามารถรับชำระเงินได้ด้วยบริการ Visa payWave หรือ MasterCard PayPass ซึ่งเป็นการชำระเงินด้วยการแตะบัตรไปที่เครื่องรับชำระเท่านั้น โดยไม่ต้องยื่นบัตรให้พนักงานเอาไปรูดหรือเสียบเข้ากับเครื่องรูดบัตร (EDC) ค่ะ และยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยจากการโจรกรรมข้อมูลบัตรอีกด้วยนะคะ ^^
หมายเหตุ : บทความนี้ เป็นการรวบรวมเอาทริคเล็กๆ น้อยๆ ในการเก็บดูแลรักษาบัตรพลาสติกให้ดูใหม่อยู่เสมอ และมีความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนประกอบอยู่บ้าง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลนะคะ