3 อันดับธนาคาร ผลประกอบการดี กำไรสูง (ไตรมาส 3 ประจำปี 2560)
แล้วไตรมาส 3 ประจำปี 2560 ก็ผ่านไป เราลองมาดูผลประกอบการของธนาคารกันดีกว่าว่า 3 อันดับแรกที่โดดเด่น กำไรสู๊ง ... สูง! จะเป็นธนาคารใดกันบ้าง และจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ของผู้ลงทุน และผู้ใช้บริการ หรือเปล่า
อันดับ 1 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2560 จำนวน 10,130 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2560 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ที่จำนวน 10,130 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และเตรียมการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะใช้ในปี 2562 นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 13.8% สืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารในการปรับองค์กรและเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล สำหรับผลประกอบการของธนาคารในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 33,953 ล้านบาท ลดลง 2.7% จากปีก่อน
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 23,272 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน ส่วนใหญ่จากการขยายตัวของสินเชื่อ 4.3%
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 11,419 ล้านบาทลดลง 4.6% จากปีก่อน จากการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น
อัตราส่วน NPL ในไตรมาส 3/2560 อยู่ที่ 2.75% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 ที่ 2.65% ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 7,554 ล้านบาท หรือ 1.52% ของสินเชื่อรวมในไตรมาสนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นเป็น 136.4% ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 จาก 133.5% ณ สิ้นไตรมาส 2/2560
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ธนาคารยังดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบต่อไป ด้วยเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และระดับสำรองหนี้สูญที่สูงเพิ่มขึ้น และในช่วงไตรมาส 3 นี้ ธนาคารได้เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย SCB Easy Application ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งธนาคารจะทยอยนำเสนอรูปแบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้ลูกค้าสะดวกใช้และมีความมั่นใจในการใช้บริการ ธนาคารเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธนาคาร"
อันดับ 2 คือ ธนาคารกสิกรไทย ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2560 จำนวน 9,473 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 487 ล้านบาท หรือ 5.42% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 367 ล้านบาท หรือ 1.57% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.47% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 468 ล้านบาท หรือ 2.93% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 487 ล้านบาท หรือ 3.07% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 40.70%
ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,863,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 จำนวน 20,036 ล้านบาท หรือ 0.70% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 3.30% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 140.66% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 อยู่ที่ 18.23% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.91%
อันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2560 จำนวน 8,161 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2559 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.30 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจากบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 11,939 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 41.9 ส่งผลให้กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) สำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 มีจำนวน 8,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,938,619 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2559 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของเงินให้สินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและรักษาระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 135,840 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.0 ของเงินให้สินเชื่อ
ด้านเงินกองทุน ในเดือนกันยายน 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) โดยกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher loss absorbency) โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ในวันที่ 1 มกราคม 2563
สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 รวมเข้าเป็นเงินกองทุนแล้ว อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 19.1 ร้อยละ 17.3 และร้อยละ 17.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีจำนวน 393,019 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 205.89 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 7.34 บาท จากสิ้นปี 2559
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 3 อันดับธนาคารผลประกอบการสูงในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 คงตรงใจใครหลายๆ คนกันนะคะ สำหรับผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ท่านๆ ก็หวังว่าจากผลประกอบการที่สูงขึ้นของแต่ละธนาคารจะส่งผลมาถึงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเชื่อแน่ว่าแต่ละธนาคารก็กำลังพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับสังคมยุค 4.0 กันอย่างทั่วหน้า และหากใครสนใจรายละเอียดในส่วนอื่นๆเพิ่มเติม ลองหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารที่คุณๆ สนใจได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ