มีอะไรใหม่ และดีอย่างไร? กับบริการรับ-โอนเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" (Any ID)

icon 12 ต.ค. 59 icon 25,975
มีอะไรใหม่ และดีอย่างไร? กับบริการรับ-โอนเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" (Any ID)

มีอะไรใหม่ และดีอย่างไร? กับบริการรับ-โอนเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" (Any ID)

เดือนนี้แล้วนะคะ ที่บรรดาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะเปิดให้ประชาชนอย่างเราๆ เริ่มลงทะเบียนใช้บริการระบบการเงินที่มีชื่อว่า "พร้อมเพย์" หรือ "PromptPay" แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า เจ้าระบบพร้อมเพย์ที่พูดๆ กันอยู่นี้คืออะไร วิธีใช้งานจะซับซ้อนหรือไม่ และมีข้อดีอะไรบ้างที่เราควรสมัครใช้บริการ วันนี้ CheckRaka.com มีรายละเอียดในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
"พร้อมเพย์ - PromptPay" คืออะไร?
"พร้อมเพย์ - PromptPay" คือ บริการโอนเงินและรับเงินรูปแบบใหม่ ที่ใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และ/หรือ เลขประจำตัวประชาชน แทนการโอนเงินแบบเดิมที่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน (ซึ่งมีหลายหลักและยากต่อการจดจำ) ช่วยให้เรา (รวมถึงภาคธุรกิจ) สามารถโอนเงินให้แก่กันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินให้เลือกหลากหลาย ทั้งตู้ ATM, Internet Banking, Mobile Banking หรือสาขาของธนาคาร ทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้นค่ะ
"พร้อมเพย์ - PromptPay" มีที่มาอย่างไร?
ที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างกับชื่อโครงการการชำระเงินแบบนานานาม หรือ "Any ID" ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย และบริษัท National ITMX ผู้พัฒนาระบบ ต่อมา ธปท. ขอเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "พร้อมเพย์" ในภาษาไทย และ "PromptPay" ในภาษาอังกฤษ เพื่อให้สื่อความหมายถึงเรื่องการโอนและการชำระเงินที่สะดวก พร้อมทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลานั่นเองค่ะ

"พร้อมเพย์ - PromptPay" มีข้อดีอะไรบ้าง

1. ค่าธรรมเนียมการโอนเงินถูกลง

เรื่องค่าธรรมเนียมคงเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลายคนเลือกว่าจะโอนเงินผ่านธนาคารไหน? ช่องทางอะไร? ซึ่งขอบอกไว้ตรงนี้เลยค่ะว่า หากไม่อยากต้องมาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมกันให้ปวดหัวอีกต่อไป ก็ควรหันมาใช้ระบบการโอนเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" นะคะ เพราะค่าธรรมเนียมการโอนจะ "ถูกลงกว่าเดิม" เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบนี้กันมากขึ้น โดยโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมจะแตกต่างจากการโอนเงินในปัจจุบัน ดังนี้ 
  ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมแยกรายการแบบในเขต/ข้ามเขต 
  ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมรายการโอนในธนาคารเดียวกัน/ต่างธนาคาร
  แต่จะคิดค่าธรรมเนียมการโอนจากวงเงินที่เราโอนไปแทน 
  ไม่กำหนดจำนวนครั้งในการโอนต่อวัน
  วงเงินสูงสุดในการโอนต่อรายการ ต่อวันนั้นจะขึ้นอยู่กับธนาคารที่เราผูกบัญชีเป็นผู้กำหนด

2. ไม่ต้องจำเลขที่บัญชีเงินฝาก

เพียงแค่บอกตัวเลขง่ายๆ ที่เราจดจำกันได้ดีอยู่แล้วอย่าง เบอร์โทรศัพท์มือถือ 10 หลัก หรือ เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ได้ลงทะเบียนในระบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" และผูกกับเลขที่บัญชีธนาคารไว้ ผู้โอนก็จะสามารถโอนเงินให้แก่เราได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาจำหรือหาเลขที่บัญชี และผู้โอนก็ไม่จำเป็นต้องสอบถามเลขที่บัญชี หรือสาขาของบัญชีที่ต้องการโอนเงินให้เราอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การรับและโอนเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น ต่างจากระบบการโอนเงินแบบเดิม ที่ผู้โอนจะต้องสอบถามเลขที่บัญชี (รวมถึงธนาคารและสาขาของธนาคาร) ให้แน่ชัดเสียก่อน จึงจะสามารถโอนเงินให้แก่เราได้ค่ะ

3. รับ - โอนเงินได้สะดวก รวดเร็วขึ้น

"พร้อมเพย์ - PromptPay" ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากขึ้นค่ะ เพราะเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ATM, Internet Banking, Mobile Banking หรือสาขาของธนาคาร ทำให้การรับ-โอนเงินให้คนในครอบครัว โอนเงินซื้อของ/จ่ายค่าเดินทาง โอนเงินค่าอาหารมื้อค่ำที่แชร์กันกับเพื่อนๆ เป็นไปอย่างง่ายดา
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องสมัครใช้ "พร้อมเพย์" หรือ "Any ID" แต่โดยส่วนตัวแล้ว ขอแนะนำให้ทยอยไปลงทะเบียนไว้จะดีกว่านะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จำเป็นต้องรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ, เบี้ยยังชีพคนชรา, เงินชดเชยรายได้เกษตรกร, มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย, โครงการผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ฯลฯ รวมถึงมนุษย์เงินเดือนหรือผู้มีเงินได้ทั้งหลายที่ต้องรับเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร ซึ่งเมื่อเราลงทะเบียนสมัครใช้ "พร้อมเพย์ - PromptPay" แล้ว ก็สามารถรับเงินตรงเข้าบัญชีได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปรับเงินด้วยตัวเอง และไม่ต้องกังวลว่าเอกสารหรือเช็คคืนภาษีที่จะส่งมาให้นั้นจะมาถึงหรือไม่ เมื่อใด ช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่เราได้มากขึ้นค่ะ

4. ปลอดภัย หายห่วง

ระบบการโอนและชำระเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับการโอนเงินประเภทต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้บริการอย่างเราๆ มั่นใจได้ค่ะว่า เงินที่เราโอนไปนั้นจะส่งตรงถึงมือผู้รับอย่างครบถ้วนและถูกต้องแน่นอน โดยเรายังสามารถตรวจสอบรายการโอนเงินย้อนหลังได้อีกด้วยนะคะ และในอีกแง่หนึ่งนั้น...ระบบพร้อมเพย์ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสด ที่หากหากเราระมัดระวังไม่มากพอก็อาจเผลอทำเงินตกหล่น สูญหาย หรือหากโชคร้ายก็อาจถูกขโมยไประหว่างการเดินทางได้ด้วยค่ะ

5. สอดคล้องกับเทคโนโลยี มุ่งสู่ e-Payment

ในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นรูปแบบการชำระเงินที่ใช้เงินสดน้อยลง แต่จะเปลี่ยนเป็นการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คล้ายกับต่างประเทศที่ใช้ e-Payment กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลก็กำลังผลักดันนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ทั้ง 5 โครงการ ได้แก่
  • โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID หรือที่รู้จักกันในชื่อใหม่ว่า "พร้อมเพย์ - PromptPay" ซึ่งรัฐบาลร่วมกับธนาคารต่างๆ ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนกันแล้วในขณะนี้
  • โครงการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต (Debit card) และบัตรเครดิต (Credit Card) กันมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ก็ได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บัตรเดบิตแบบที่มีชิปการ์ด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้บัตรฯ มากขึ้นด้วย
  • โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบให้เป็นแบบ e-Tax Invioce และ e-Receipt ช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นภาษีและเอกสารการทำธุรกรรมมากขึ้น
  • โครงการ e-Payment ภาครัฐ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐรับ-จ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะเริ่มโอนเงินสวัสดิการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนกันยายน 2559 ที่จะถึงนี้
  • โครงการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกระจายข่าวสารและให้ความรู้แก่ประชาชนในทุกด้าน ทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้
ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ ส่งเสริมการแข่งขันตามกลไกตลาด ให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าสอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยลดต้นทุนของระบบการชำระเงินโดยรวม เช่น การดูแลรักษาเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ซึ่งต้องมีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเก่าที่ชำรุด และยังต้องคอยพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ให้ทันสมัย ยากต่อการปลอมแปลงอีกด้วยล่ะค่ะ

การเริ่มต้นใช้งาน "พร้อมเพย์ - PromptPay"

1. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

การเริ่มต้นใช้งานระบบการชำระเงินแบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" นั้นไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เตรียมเอกสารเพื่อลงทะเบียน 3 อย่าง ดังนี้
  1. สมุดบัญชีหรือเลขที่บัญชีเงินฝาก
    เราสามารถเลือกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารของรัฐ และบัญชีนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องมีบัตรเดบิต (Debit Card) หรือบัตร ATM นะคะ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ใช่บัญชีออมทรัพย์พิเศษ เช่น ME By TMB และต้องไม่เป็นบัญชีร่วม/และ/หรือ นะคะ
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
    สามารถใช้ได้ทั้งเบอร์โทรศัพท์มือถือแบบรายเดือน และเติมเงิน โดยเบอร์นั้นต้องลงทะเบียนผู้ใช้งานซิมไว้แล้ว ส่วนหมายเลขโทรศัพท์บ้านนั้นไม่สามารถใช้ลงทะเบียนได้ค่ะ เพราะในการใช้งานจริงจะมีการส่ง SMS รหัส OTP (One Time Password) มาให้เรายืนยันด้วย และหากใครไปลงทะเบียนที่สาขาธนาคารก็อาจพกหลักฐานที่แสดงว่าเราเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบแจ้งหนี้โทรศัพท์มือถือ ไปด้วยก็ดีนะคะ
เมื่อเราลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลของเราก็จะเข้าสู่ "ระบบกลาง" ซึ่งเปรียบเสมือนฐานข้อมูลหลัก ที่ทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลเลขที่บัญชีเงินฝาก, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเลขประจำตัวประชาชน ที่แต่ละคนได้ลงทะเบียนไว้เข้าด้วยกัน เมื่อเราบอกหมายเลขโทรศัพท์ หรือเลขบัตรประชาชนให้แก่ผู้โอน ก็จะสามารถโอนเงินให้แก่เราได้ทันที และแม้ว่าจะผูกบัญชีพร้อมเพย์ไปแล้ว แต่หากใครต้องการโอนเงินที่ใช้เลขที่บัญชีเงินฝากก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิมอยู่นะคะ

2. ติดต่อลงทะเบียนได้ที่ไหน?

เราสามารถลงทะเบียนใช้งานระบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" ได้ถึง 4 ช่องทาง คือ
  • เครื่อง ATM
  • Internet Banking
  • Mobile Banking
  • สาขาธนาคาร
จากข่าวสารที่ออกมา เราจะเริ่มเห็นสถาบันการเงินทั้งหลายทยอยเปิดตัวบริการ "พร้อมเพย์ - PromptPay" หรือ "Any ID" เพื่อให้เราได้ลงทะเบียนล่วงหน้ากันหลายแห่งแล้วใช่ไหมล่ะคะ ใครใช้บริการของธนาคารไหนอยู่ หรือเล็งไว้ว่าจะผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารไหน ก็ลองคลิกดูรายละเอียดและขั้นตอนกันได้จาก Link ของธนาคารต่างๆ ด้านล่างได้เลยนะคะ

3. รูปแบบการผูกบัญชีเป็นอย่างไร?

รูปแบบการผูกบัญชีนั้นสามารถทำได้หลายลักษณะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของบัญชี และเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถืออย่างเราๆ จะกำหนดไว้เป็นอย่างไรนะคะ โดยหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดไว้ มีดังนี้
  • เลขบัตรประจำตัวประชาชน ผูกได้กับ บัญชีเงินฝาก 1 บัญชีเท่านั้น
  • เบอร์โทรศัพท์มือถือ 1 เบอร์ ผูกได้กับ บัญชีเงินฝาก 1 บัญชีเท่านั้น
  • บัญชีเงินฝาก 1 บัญชี สามารถผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือได้สูงสุดตามที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนด
  • บัญชีเงินฝากธนาคาร 1 บัญชี ผูกได้กับ ทั้งเลขประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
พูดง่ายๆ ก็คือ "เบอร์โทรศัพท์มือถือ 1 เบอร์ ผูกกับหลายบัญชีไม่ได้... แต่หลายเบอร์สามารถผูกกับ 1 บัญชีได้" ดังนั้น หากใครใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เลขหมาย ก็สามารถเลือกได้ว่า จะใช้เบอร์ใดผูกกับบัญชีไหน หรือ จะเอาเบอร์ทั้งหมดมาผูกรวมกันไว้กับบัญชีเพียงบัญชีเดียวก็สามารถทำได้ค่ะ (ธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดให้สามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์ได้สูงสุด 3 เลขหมาย ต่อ 1 บัญชี)

4. เริ่มลงทะเบียน และเริ่มใช้งานได้เมื่อใด?

สำหรับผู้ที่สนใจ สามาถลงทะเบียนและผูกบัญชีเพื่อใช้งานระบบการชำระเงินแบบ "พร้อมเพย์" ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดการลงทะเบียนกำหนดไว้ ใครพร้อมก่อนก็ทยอยลงทะเบียนกันได้เลยนะคะ
การลงทะเบียน
  • ลงทะเบียนล่วงหน้า
    ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 59 นี้ ธนาคารที่มีความพร้อมจะเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อใช้งานระบบพร้อมเพย์ โดยจะแจ้งผลการลงทะเบียนให้เราทราบผ่าน SMS, E-mail ตามที่เราระบุไว้ หลังวันที่ 15 กรกฎาคม 2559
  • ลงทะเบียนปกติ
    วันที่ 15 ก.ค. 59 เป็นต้นไป ระบบกลางพร้อมให้บริการลงทะเบียน ซึ่งเราสามารถไปลงทะเบียนได้ตามช่องทางต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง และจะทราบผลการลงทะเบียนทันทีค่ะ
การเริ่มใช้งาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเลื่อนการให้บริการพร้อมเพย์ สำหรับธุรกรรมระหว่างบุคคลธรรมดา (บริการโอนเงินรายย่อย ระหว่างประชาชนด้วยกัน) ออกไปเป็นไตรมาสแรกของปี 2560 เพื่อเตรียมความพร้่อมของระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภาในเดือนตุลาคม 2559) แต่สำหรับการโอนเงินสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชน จะพร้อมให้บริการภายในปี 2559 นี้ค่ะ

5. คำถามยอดฮิตของการใช้งาน "พร้อมเพย์ - PromptPay"

เพื่อให้กระจ่างมากขึ้น CheckRaka.com ก็ได้รวบรวมคำถามที่หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับการใช้งานในระบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" มาฝากกันด้วยนะคะ
  ถาม : ควรเลือกบัญชีไหน ธนาคารอะไร เพื่อลงทะเบียน "พร้อมเพย์ - PromptPay"
ตอบ : การตัดสินใจเลือกบัญชีเงินฝากเพื่อลงทะเบียนนั้น ควรขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสะดวกในการใช้งานของแต่ละคนเป็นหลักค่ะ เพราะเมื่อลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลของเราจะเข้าสู่ "ระบบกลาง" ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมจะใช้มาตรฐานเดียวกันค่ะ
   ถาม : หากไม่ละทะเบียน จะสามารถใช้งาน "พร้อมเพย์ - PromptPay" ได้หรือไม่
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นผู้โอนหรือผู้รับโอนเงิน โดยหากเป็น...
  • ผู้โอนเงิน ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน
    ผู้โอนเงินสามารถโอนเงินผ่านระบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" ได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตู้ ATM, Internet Banking, Mobile Banking หรือสาขาของธนาคาร โดยระบุเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินตามที่ได้มีการลงทะเบียนไว้
  • ผู้รับเงินโอน ต้องลงทะเบียนเท่านั้น
    หากต้องการรับเงินโอน โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ก็จำเป็นจำต้องลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารไว้ในระบบ "พร้อมเพย์ - PromptPay" ค่ะ ไม่เช่นนั้นผู้โอนจะไม่สามารถโอนเงินผ่านเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือได้ ทำได้เพียงการโอนโดยใช้เลขที่บัญชีแบบเดิมเท่านั้น
   ถาม : หากทำรายการโอนเงินผ่าน "พร้อมเพย์ - PromptPay" แต่เกิดผิดพลาดจะทำอย่างไร
ตอบ : หากเกิดกรณีทำรายการโอนผิดพลาด เช่น เงินไม่เข้าปลายทางแต่ถูกตัดจากบัญชีต้นทางไปแล้ว หรือโอนเงินผิด ก็ควรเก็บรายละเอียดหรือหลักฐานในการโอนเงินต่างๆ และรีบแจ้งให้ธนาคารต้นทางของผู้โอนเงินทราบเพื่อตรวจสอบ ซึ่งธนาคารต่างๆ ก็ได้มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว
   ถาม : มีบัญชีและเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้บริการ Mobile Banking อยู่แล้ว จำเป็นต้องลงทะเบียน "พร้อมเพย์" ด้วยหรือไม่
ตอบ : "พร้อมเพย์ - PromptPay" กับ "Mobile Banking" เป็นคนละระบบ ไม่เกี่ยวกันค่ะ หากต้องการนำบัญชีและเบอร์โทรศัพท์ในระบบ Mobile Banking มาใช้บริการ พร้อมเพย์ - PromptPay ด้วยก็สามารถลงทะเบียนใช้งานได้
   ถาม : หากเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินโอนถูกระงับสัญญาณ หรือถูกยกเลิกไปแล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อการโอนเงิน
ตอบ : 
  • กรณีเบอร์โทรศัพท์มือถือถูกระงับการใช้งานชั่วคราว
    ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะรายการโอนเงินผ่าน "พร้อมเพย์ - PromptPay" จะยังคงสำเร็จ แม้ว่าเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนจะถูกระงับการใช้งานก็ตาม
  • กรณีเบอร์โทรศัพท์มือถือถูกยกเลิกการใช้งาน
    หากผู้รับโอนได้ยกเลิกการใช้งานผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว ข้อมูลการยกเลิกนั้นจะถูกนำมายกเลิกการลงทะเบียนที่ระบบกลางของ "พร้อมเพย์ - PromptPay" ด้วย ทำให้ผู้โอนไม่สามารถโอนเงินผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือนั้นได้
   ถาม : ข้อมูลการใช้งาน "พร้อมเพย์ - PromptPay" ถูกเก็บไว้ในบัตรประชาชน, บัตรเดบิต, บัตร ATM หรือไม่
ตอบ : ข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บไว้ในระบบกลางที่มีความปลอดภัยสูง และมีระบบสำรองที่มั่นคง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในบัตรประชาชน, บัตรเดบิต หรือบัตร ATM แต่อย่างใดค่ะ หากกรณีเรามีการเปลี่ยนบัตรต่างๆ ก็ยังสามารถใข้งานรับ-โอน เงินในระบบพร้อมเพย์ได้ตามปกติค่ะ
   ถาม : ลงทะเบียน "พร้อมเพย์ - PromptPay" ไปแล้ว แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์มือถือ ต้องทำอย่างไร
ตอบ :
  • กรณีย้ายเครือข่าย แต่ยังใช้เบอร์เดิม จะไม่ต้องติดต่ออะไรเพิ่มเติมกับธนาคาร เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อ การผูกบัญชี หรือการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์
  • กรณีเลิกใช้/เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน ต้องแจ้งให้ทางธนาคารทราบ เพื่อยกเลิกการผูกบัญชีโดยเร็ว และหากต้องการผูกบัญชีพร้อมเพย์ โดยใช้เบอร์โทรศัพท์เบอร์ใหม่ ก็ต้องลงทะเบียนเพื่อผูกเบอร์โทรศัพท์กับบัญชีที่ต้องการอีกครั้ง
   ถาม : ใช้ "พร้อมเพย์ - PromptPay" โอนเงินไปต่างประเทศได้หรือไม่
ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจาก "พร้อมเพย์ - PromptPay" เป็นบริการโอนเงินเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น 
   บุคคลต่างด้าวสามารถใช้ "พร้อมเพย์ - PromptPay" ได้หรือไม่
ตอบ : หากบุคคลต่างด้าวมีบัญชีเงินฝากธนาคาร ก็สามารถใช้ผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนผู้ใช้งานซิมไว้แล้วได้
เชื่อว่า "พร้อมเพย์ - PromptPay" จะเป็นอีกหนึ่งบริการดีๆ ที่ทำให้เราโอนเงินไปมาหากันได้สะดวกมากขึ้น โดยบริการนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อประชาชนหันมาใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย หากใครต้องการความ "ง่าย สะดวก และรวดเร็ว" ในการทำธุรกรรมก็อย่าลืมไปลงทะเบียนกันไว้นะคะ แล้วตุลาคมนี้รับรองว่าการรับและโอนเงินของเราจะกลายเป็นง่ายขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว :)
แท็กที่เกี่ยวข้อง any id promptpay รับโอนเงิน บริการโอนเงิน
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)