บำเหน็จ & บำนาญ จากกองทุนประกันสังคม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
เงินจากกองทุนประกันสังคมที่เราจะได้รับหลังจากที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย เรียกว่าเป็นเงิน "บำเหน็จ" และ "บำนาญ" เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ยว่า ในฐานะผู้ประกันตนอย่างเรานั้นควรจะเลือกเงินที่เป็นแบบ "บำเหน็จ" หรือ "บำนาญ" ดีกว่า และแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุด วันนี้ CheckRaka.com จับประเด็นนี้มาขยายให้เพื่อนๆ ได้รู้ถึงความเหมือน และความแตกต่างกันค่ะ
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ - จ่ายเงินสมบทไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ - จ่ายเงินสมบทมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ - กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- กรณีผู้รับเงิน บำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ - กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
บำเหน็จ & บำนาญ จากกองทุนประกันสังคม แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ