เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หลายคนนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพราะว่าสะดวก และค่อนข้างปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสดเยอะๆ แถมยังมีโปรโมชันพิเศษเพิ่มเติมจากบริษัทบัตรเครดิตต่างๆ โดยปกติเวลาเราใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศ จะมีการชาร์จค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า "ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน" ด้วยซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ.. ชาร์จแบบนี้รวมไปรวมมาจะซื้อของได้ราคาถูกหรือแพงกว่าที่เมืองไทยกันแน่? วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลมาให้เพื่อนๆ ดูกันว่า แต่ละธนาคารชาร์จ "ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน" กันเท่าไหร่บ้าง? พร้อมกับวิธีการคำนวณง่ายๆ ซึ่งจะทำให้เราคำนวณได้เองคร่าวๆ ว่า ตกลงที่เราใช้บัตรเครดิตซื้อของที่เมืองนอกนั้น จริงๆ แล้วจะออกมาถูกหรือแพงแค่ไหน ถ้าหากต้องบวกค่าธรรมเนียมพวกนี้เข้าไปด้วยค่ะ
สูตรการคำนวณเป็นเงินบาทเวลารูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศ พร้อมตัวอย่าง
เวลาเราใช้บัตรเครดิตไปรูดซื้อของที่ต่างประเทศ เราจะไม่ได้เสียแค่เงินค่าซื้อของเท่านั้น เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินด้วย ซึ่งทุกธนาคารจะชาร์จค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เพราะถือว่าธนาคารก็ต้องลดความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นๆ ลงๆ ทุกวันด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าเราจะรูดบัตรฯ เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้รูดเป็น USD จะต้องนำไปแปลงเป็น USD ก่อนเสมอ และจะต้องแปลงจากหน่วยเงินสกุล USD มาเป็น THB อีกครั้งก่อนที่จะนำไปคำนวณรวมกับค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ซึ่งเราสามารถคำนวณได้ง่ายๆ ดังนี้
สูตรคำนวณค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน : A = { (C/B) x D} + 2%* 🔹A = ยอดเงินที่จะถูกเรียกเก็บ รวมค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการแปลงสกุลเงิน (สกุลเงินบาท) 🔹B = อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ต่อจำนวนหน่วยสกุลเงินตราต่างประเทศที่ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ (สามารถตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนได้จากเว็บไซต์บริษัทบัตรนั้นๆ ) 🔹C = อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ต่อจำนวนหน่วยสกุลเงินบาท (สามารถตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนได้จากเว็บไซต์บริษัทบัตรนั้นๆ ) 🔹D = ยอดเงินตราต่างประเทศที่ใช้จ่ายผ่านบัตรฯ (ตามที่ปรากฎในเซลล์สลิป) *2% คือตัวอย่างอัตราค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ในที่นี้ยกตัวอย่างของบัตรเครดิตเคทีซี |
ขอบคุณข้อมูลจาก www.ktc.co.th
ตัวอย่างวิธีการคำนวณ : นาย A ใช้บัตรเครดิต KTC JCB เพื่อรูดซื้อของที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเงินจำนวน 25,000 เยน ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นาย A จะต้องชำระเงินให้กับบริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เป็นเงินไทยบาทเท่าไร ณ วันที่บริษัทฯ เรียกเก็บ?
A : ยอดเงินที่จะถูกเรียกเก็บ รวมค่าความเสี่ยงที่เกิดจากการแปลงสกุลเงิน = ?
B : USD 1 = JPY 156.7585
C : USD 1 = THB 36.72
D : ยอดเงินที่ใช้ไป 25,000 JPY
*ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน บัตรเครดิต KTC = 2%
สามารถแทนค่าตามสูตรการคำนวณได้ดังนี้ :
▶️ สูตรการคำนวณ A = { (C/B) x D} + 2%*
▶️ แทนค่า {(36.72/156.7585) x 25,000} + 2% = 5,973.265 บาท โดยประมาณ
ดังนั้น ณ วันที่บริษัทบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินตามรอบบิล นาย A จะต้องจ่ายเงินสำหรับการใช้จ่ายเป็นเงินสกุล JPY 25,000 เยน รวมค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินแล้วเป็นเงิน 5,973.265 บาท
ตารางแสดง "ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน" ของบัตรเครดิตแต่ละสถาบันการเงิน
"ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน" ของแต่ละธนาคาร หรือสถาบันการเงินในไทย จะเป็นไปตามตารางข้างล่างนี้ค่ะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 2.0% - 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย แต่บางช่วงเวลา บางธนาคารก็จะมีโปรโมชันส่วนลดค่าธรรมเนียมความเสี่ยงฯ ให้เราได้ช้อปปิ้งกันแบบชิลๆ ค่ะ ซึ่งก็ต้องคอยติดตามโปรโมชันของแต่ละธนาคารกันดู ส่วนค่าธรรมเนียมความเสี่ยงฯ หลักๆ จะเป็นดังตารางด้านล่างนี้
ธนาคาร/สถาบันการเงิน | ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (ปกติ) |
บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารทหารไทยธนชาต | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิต โลตัส | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตคาร์ด เอ็กซ์ | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตแบงค์ออฟไชน่า | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรกรุงไทย | ไม่เกิน 2.0% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรกรุงศรีอยุธยา | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารยูโอบี | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตอเมริกัน เอ็กซ์เพรส | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารออมสิน | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตอิออน | ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่าย |
บัตรเครดิตธนาคารไอซีบีซี (ไทย) | ไม่เกิน 2.0% ของยอดค่าใช้จ่าย |
ได้วิธีการคำนวณค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน และอัตราที่ธนาคารต่างๆ คิดกันไปแล้ว เวลาไปเที่ยวต่างประเทศเราก็จะสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายได้เองเบื้องต้น แต่ที่สำคัญกว่าคือ หากเราชื่นชอบการท่องเที่ยวในต่างประเทศ และใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่เป็นประจำ ก็ควรเลือกสมัครบัตรเครดิตให้เหมาะสมและตรงกับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของเราด้วยนะคะ หรืออาจจะใช้บัตรเครดิตที่มีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินน้อยๆ เข้าไว้ เพื่อความประหยัดและคุ้มค่าที่สุดของการใช้จ่ายค่ะ
หมายเหตุ : - ค่าความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน คิดจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ผ่านบัตรเครดิต รวมไปถึงการถอนเงินสด (Cash Advance) ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดยจะถูกเรียกเก็บเป็นสกุลเงินบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่สถาบันการเงินนั้นๆ ถูกเรียกเก็บจากบริษัทบัตรเครดิตที่สถาบันการเงินนั้นเป็นสมาชิกอยู่ ณ วันที่มีการเรียกเก็บยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับสถาบันการเงิน
- ในกรณีที่สกุลเงินต่างประเทศที่ทำรายการผ่านบัตรเครดิตไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก่อนที่จะทำการแปลงเป็นสกุลเงินบาทเพื่อเรียกเก็บ
- *การยกเว้นค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินจากบัตรเครดิตยูเนียนเพย์ธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัดสิทธิพิเศษเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ภายในประเทศจีนเท่านั้น (Mainland)
- บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลค่าความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเภทบัตรอ้างอิงตามบริษัทบัตร VISA, MASTER, UNION PAY, JCB และ AMEX หากมีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ธนาคารเจ้าของบัตรเรียกเก็บเพิ่มเติม โปรดสอบถามโดยตรงจากสถาบันการเงินผู้ออกบัตรฯ นั้นๆ